×

กูรูห่วงมาตรการกึ่งล็อกดาวน์สร้างรอยแผลเป็นถาวรให้เศรษฐกิจไทย แนะรัฐเร่งทำสามเรื่อง-หยุดสร้างความไม่แน่นอนทางนโยบาย

28.06.2021
  • LOADING...
มาตรการกึ่งล็อกดาวน์

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยกับการ THE STANDARD WEALTH ว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องเร่งทำในสามเรื่องเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ซึ่งกำลังก่อให้เกิดต้นทุนมหาศาลทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน การก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ

 

เรื่องแรก คือ การเร่งเพิ่มศักยภาพและแก้ไขนโยบายที่เป็นข้อจำกัดในการตรวจหาเชื้อ และเร่งเพิ่มความสามารถในการสอบสวนโรคและแยกคนติดเชื้อออกจากสังคมโดยเร็ว (โดยไม่ต้องปิดเมืองทั้งเมือง) เนื่องจากปัจจุบันไทยมีอัตราการตรวจโรคน้อยกว่าที่ควรไปมาก (Positive Rate ในกรุงเทพฯ เกือบ 9%) ในขณะที่จำนวน Test ต่อวันดูเหมือนจะมีข้อจำกัดอยู่ที่ 60,000 ตัวอย่างต่อวันเท่านั้น

 

“วันนี้เราจำเป็นต้องรู้ว่าใครติดเชื้อบ้าง ไม่เช่นนั้นปิดเมืองไป 30 วัน แต่ยังมีการติดเชื้อแบบไม่มีอาการวนๆ ไป เปิดเมืองกลับมาก็ระบาดกันอีก เราควรต้องแยกการตรวจและการรักษาพยาบาล และสร้างแรงจูงใจให้มีการตรวจเชิงรุกมากขึ้น”

 

พิพัฒน์ระบุว่า ไทยควรนำโมเดลการตรวจหาเชื้อของประเทศอังกฤษที่สามารถตรวจเชื้อได้วันละกว่าล้านตัวอย่างมาใช้ โดยอังกฤษมีการใช้การตรวจแบบ Rapid Lateral Flow Tests ที่มีราคาถูกแต่ความถูกต้องพอใช้ได้ มาใช้ร่วมกับการตรวจแบบ PCR ซึ่งประชาชนสามารถสั่งและรายงานผลการตรวจได้จากอินเทอร์เน็ตหรือร้านขายยาได้เองเลย 

 

ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องเร่งเพิ่มศักยภาพในการรักษา ไม่ใช่แค่เตียงสนามอย่างเดียว แม้ว่าข้อจำกัดบางอย่าง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และห้อง ICU อาจจะเพิ่มได้ไม่เร็วนัก แต่การปรับนโยบายน่าจะช่วยลดภาระต่อระบบได้บางส่วน

 

เรื่องที่สอง คือ ภาครัฐต้องหาวิธีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เพราะการสั่งปิดเมืองสร้างผลกระทบมหาศาล ยิ่งมาตรการมีผลบังคับใช้เวลานานจะสร้างผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะทนไม่ไหว ส่งผลต่อความร่วมมือของประชาชนและธุรกิจต่างๆ รัฐต้องเร่งหาวิธีสำรวจผู้ได้รับผลกระทบ และให้ความช่วยเหลือและชดเชยตามความจำเป็น เพื่อให้มาตรการต่างๆ ประสบความสำเร็จ และไม่ทำให้ปัญหาชั่วคราวกลายเป็นแผลเป็นถาวรต่อเศรษฐกิจ แรงงาน และผู้ประกอบการ

 

“ตอนล็อกดาวน์รอบแรกกับรอบที่สองเราสามารถคุมสถานการณ์ได้เร็ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดไม่นานก็กลับมาเดินต่อ แต่รอบที่สามนี้สามเดือนแล้วยังไม่มีแนวโน้วว่าจะคุมได้ ผมกังวลว่าภาคธุรกิจจำนวนหนึ่งที่มีต้นทุน เช่น ค่าเช่า อาจทนไม่ไหวต้องปิดตัวลงถาวร ขณะที่การจ้างงานเช่นในการก่อสร้าง การให้เขากลับบ้านบางส่วนอาจไม่กลับมา ดังนั้นเมื่อเรากลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจไม่เหมือนเดิม แต่จะมีรอยแผลเป็นหรือ Permanent Scar” พิพัฒน์กล่าว

 

เมื่อถามว่ามาตรการเยียวยาไซต์งานก่อสร้างและร้านอาหารที่ออกมาล่าสุด ซึ่งภาครัฐจะจ่ายชดเชยเพิ่มเติมให้ลูกจ้าง หัวละ 2,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 200 คน นอกเหนือจากการชดเชยจากประกันสังคมเพียงพอหรือไม่ พิพัฒน์ระบุว่า คงไม่เพียงพอ แต่เชื่อว่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง

 

“จุดที่สำคัญกว่า คือ รัฐควรจะมีฐานข้อมูลที่เพียงพอว่าใครได้รับผลกระทบจริงๆ และสามารถได้รับการเยียวยาเพื่อให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพและตรงจุด เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม”

 

พิพัฒน์กล่าวว่า เรื่องสุดท้ายที่รัฐต้องเร่งทำและเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ ต้องเร่งการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพโดยเร็ว แม้จะมีข้อจำกัดบ้าง แต่วัคซีนเป็นทางออกสำคัญที่จะหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ ทั้งนี้ มองว่าที่ผ่านมารัฐบาลประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในนโยบายวัคซีน จึงควรรีบเร่งแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว และหันมาเน้นเรื่องผลมากกว่าการอ้างข้อจำกัดต่างๆ 

 

“รัฐควรมีการสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และตัดสินใจโดยพิจารณาสภาพแวดล้อม เพื่อขอความร่วมมือ ลดความเสี่ยง และให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนสามารถวางแผนชีวิตและธุรกิจได้อย่างเหมาะสม เช่น แผนวัคซีนเป็นอย่างไร ทำไมจึงล่าช้า และจะแก้ไขอย่างไร หรือทำไมจึงตัดสินประกาศเปิดเมืองและผ่อนคลายข้อจำกัดในวันที่การติดเชื้อเพิ่มขึ้น การสร้างความหวังแบบลมๆ แล้งๆ การมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ วางแผนแบบไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และความล้มเหลวของนโยบายวัคซีน กำลังสร้างต้นทุนมหาศาลให้กับสังคมและเศรษฐกิจไทย” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังกล่าว

 

ด้านสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การกลับมาใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์อีกครั้งคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่า คือ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิดที่มีความไม่แน่นอนสูง กำลังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย

 

“ถ้าย้อนไปในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์มีทั้งบวกและลบตลอดเวลา หลายครั้งที่ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ก็กลับมาแย่ลงอีก ความไม่แน่นอนมีสูงมาก ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อเป็นแบบนี้บ่อยๆ ทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนเริ่มที่จะวางแผนไม่ถูก เชื่อว่าครั้งนี้จะทำให้เขาระวังตัวกันมากขึ้น แผนการลงทุนทุกอย่างอาจจะถูกเบรกเอาไว้ก่อน”

 

สมประวิณกล่าวด้วยว่า ความไม่แน่นอนซึ่งทำให้การวางแผนธุรกิจและการลงทุนไม่สามารถทำได้ สิ่งเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง

 

ส่วนมาตรการจากภาครัฐนั้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดมีค่อนข้างสูง สิ่งที่ภาครัฐจะช่วยดูแลได้ คือ การทำมาตรการที่ต้องไม่สร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะถ้านโยบายที่ออกมามีความไม่แน่นอน ก็แปลว่ารัฐกำลังจะสร้างความไม่แน่นอนบนความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X