×

Self Made ซีรีส์ชีวิตจริงของมหาเศรษฐีหญิงผิวดำคนแรกของอเมริกา

27.01.2021
  • LOADING...
Self Made ซีรีส์ชีวิตจริงของมหาเศรษฐีหญิงผิวดำคนแรกของอเมริกา

HIGHLIGHTS

  • ความจริงชีวิตของซาราห์ก็น่าอัศจรรย์สุดๆ แล้ว ลองคิดดูว่าย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน การเริ่มทำธุรกิจของคนผิวดำในอเมริกาไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ต้องเรียกว่าเริ่มจากติดลบเลยด้วยซ้ำ
  • แถมเธอยังเป็นผู้หญิงด้วย เหมือนถูกสังคมกดทับสองต่อ การผงาดขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีได้นับว่าเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อยิ่งกว่าปาฏิหาริย์ของยูนิคอร์นตัวใดๆ ในธุรกิจสตาร์ทอัพยุคปัจจุบัน 
  • ใดๆ ก็ตาม ซีรีส์ก็คือซีรีส์ ผู้สร้างจึงใส่สีสัน รัก โลภ โกรธ หลงเข้าไปให้ได้อรรถรส และเลือกใช้คำว่า ‘Inspired by The Life of Madam C.J. Walker’ แทน 

 

ในขณะที่โลกกำลังตื่นเต้นกับ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอเมริกา แถมยังเป็นผู้หญิงผิวดำลูกครึ่งอินเดีย-จาเมกา อีกต่างหาก ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เศรษฐินีที่สร้างฐานะด้วยตัวเอง (Self Made Millionaire) คนแรกของอเมริกาก็เป็นผู้หญิงผิวดำเหมือนกัน เธอมีชื่อว่า ซาราห์ บรีดเลิฟ หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ มาดาม ซี.เจ. วอล์กเกอร์ ที่ชีวิตของเธอถ่ายทอดออกมาเป็นซีรีส์เรื่อง Self Made  

 

ใครคือ มาดาม ซี.เจ. วอล์กเกอร์

 

 

มาดาม ซี.เจ. วอล์กเกอร์ มีชื่อเดิมว่า ซาราห์ บรีดเลิฟ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1867 เธอเป็นลูกสาวคนที่ 5 ของครอบครัวทาสในไร่ฝ้าย ซึ่งเป็นลูกคนแรกของครอบครัวหลังจากที่ได้รับอิสรภาพ พออายุได้ 7 ขวบ พ่อกับแม่ก็เสียชีวิต จากนั้นก็ต้องย้ายไปอยู่กับพี่สาวและพี่เขย ทำงานเป็นคนรับใช้ทั่วไป จนกระทั่งอายุได้ 14 ปี ก็ตัดสินใจแต่งงานครั้งแรกเพื่อหนีจากพี่เขยที่ข่มขืนเธอ จนกระทั่งมีลูกสาวชื่อ อไลลา สามีก็มาเสียชีวิตไปอีกคน เธอแต่งงานใหม่อีกครั้ง แต่ก็มีอันต้องเลิกรากันไป 

 

ในปี 1888 ซาราห์และลูกสาวย้ายไปอยู่ที่เซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ทำงานรับจ้างซักผ้า อย่างที่รู้กันว่าคุณภาพชีวิตของคนผิวดำในยุคนั้นไม่ดีเอาเสียเลย ทำให้เธอประสบปัญหาด้านสุขอนามัยไม่ต่างจากผู้หญิงผิวดำคนอื่นๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะ ซึ่งทำให้เธอผมร่วงแทบหมดหัว กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอหันมาสนใจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม และได้เป็นพนักงานขายผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมให้กับคนผิวดำของ แอนนี มอนโร ซึ่งต่อมากลายเป็นคู่แข่งทางธุรกิจคนสำคัญของเธอ 

 

 

ในระหว่างที่ทำงานอยู่นั้น ซาราห์ก็เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมของเธอเอง จนกระทั่ง ค.ศ. 1906 เธอย้ายไปอยู่ที่เดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เปิดร้านทำผม เปิดสอนเสริมสวยให้กับผู้หญิงผิวดำ และขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองในชื่อ ‘Madam C.J. Walker’ ซึ่งได้มาจากชื่อและนามสกุลของสามีคนที่ 3 ชาร์ลส์ โจเซฟ วอล์กเกอร์ โดยเพิ่มคำว่ามาดามเข้าไปเพื่อให้ดูเป็นผลิตภัณฑ์ความงามจากฝรั่งเศส ซึ่งได้รับความนิยมในยุคนั้น นอกจากจะวางขายในร้านทำผมของเธอเอง ยังขายทางไปรษณีย์และเดินเคาะประตูขายตามบ้านอีกด้วย 

 

 

เมื่อเริ่มประสบความสำเร็จก็เปิดโรงงานที่อินเดียนาโปลิส และเดินสายโปรโมตผลิตภัณฑ์ไปตามชุมชนผิวดำทั่วอเมริกา จากนั้นก็เปิดออฟฟิศที่ย่านฮาเร็ม นิวยอร์ก ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมคนผิวดำในยุคนั้น ในยุคที่เฟืองฟูสุดๆ บริษัท Madam C. J. Walker Manufacturing มีพนักงานขายกว่า 20,000 คน นอกจากนี้สินค้าของเธอยังกระจายไปยังแถบอเมริกาใต้และทะเลแคริบเบียน ทั้งคิวบา, จาเมกา, เฮติ, ปานามา, คอสตาริกา เรียกได้ว่าธุรกิจของ มาดาม ซี.เจ. วอล์กเกอร์ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้หญิงผิวดำในอเมริกาได้มากทีเดียว 

 

 

ใน ค.ศ. 1912 เธอหย่าขาดกับ ชาร์ลส์ โจเซฟ วอล์กเกอร์ แต่ก็ยังใช้ชื่อ มาดาม ซี.เจ. วอล์กเกอร์ ต่อไป ธุรกิจเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูมีทรัพย์สินแตะระดับ 1 ล้านดอลลาห์ ซึ่งนับว่ามหาศาลในยุคนั้น สร้างคฤหาสน์ในย่านของคนขาว และกลายเป็นมหาเศรษฐีหญิงผิวดำคนแรกของอเมริกา โดยเงินจำนวนหนึ่งที่หามาได้ก็ยังบริจาคไปยังองค์กรการกุศลเพื่อคนผิวดำและสนับสนุนด้านศิลปะและวัฒนธรรมของคนผิวดำอีกด้วย 

 

มาดาม ซี.เจ. วอล์กเกอร์ เสียชีวิตด้วยอาการไตวายในวัย 51 ปี บริษัท Madam C. J. Walker Manufacturing ยังคงดำเนินต่อมาจนถึง ค.ศ. 1986 เธอได้รับการบันทึกใน Guinness Book of World Records ว่าเป็นมหาเศรษฐีหญิงที่สร้างฐานะด้วยตัวเองคนแรกของอเมริกา 

 

 

Self Made Inspired by The Life of Madam C.J. Walker

ความจริงชีวิตของซาราห์ก็น่าอัศจรรย์สุดๆ แล้ว ลองคิดดูว่าย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน การเริ่มทำธุรกิจของคนผิวดำในอเมริกาไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ต้องเรียกว่าเริ่มจากติดลบเลยด้วยซ้ำ แถมเธอยังเป็นผู้หญิงด้วย เหมือนถูกสังคมกดทับสองต่อ การผงาดขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีได้นับว่าเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อยิ่งกว่าปาฏิหาริย์ของยูนิคอร์นตัวใดๆ ในธุรกิจสตาร์ทอัพยุคปัจจุบัน ใดๆ ก็ตามซีรีส์ก็คือซีรีส์ ผู้สร้างจึงใส่สีสัน รัก โลภ โกรธ หลง เข้าไปให้ได้อรรถรส และเลือกใช้คำว่า ‘Inspired by The Life of Madam C.J. Walker’ แทน 

 

เดิมทีเดียว ฮัลลี เบอร์รี ถูกวางตัวให้มารับบท มาดาม ซี.เจ. วอล์กเกอร์ แต่เพราะสวยเกินไป ไม่ใกล้เคียงกับตัวจริงตามประวัติศาสตร์ บทนี้จึงตกเป็นของ ออกตาเวีย สเปนเซอร์ เจ้าของรางวัลออสการ์จากเรื่อง The Help แทน ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เชื่อได้ว่าเธอคือผู้หญิงผิวดำสู้ชีวิตที่ไม่มีต้นทุนชีวิตทั้งทรัพย์สินและรูปทรัพย์

 

ซีรีส์เริ่มเรื่องในช่วงที่ซาราห์กำลังจะเลิกรากับสามีคนที่ 2 เพราะมีปัญหาเรื่องรูปลักษณ์จากอาการผมร่วง และได้รับความช่วยเหลือจาก เอ็ดดี้ มอนโร สาวลูกครึ่งผิวดำหน้าตาสะสวย ให้กลับมามีผมสลวยอีกครั้ง แต่เมื่อซาราห์ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับเอ็ดดี้กลับโดนปฏิเสธ เพราะเธอไม่มีความงามแบบพิมพ์นิยมของคนในยุคนั้น ซึ่งเรื่องค่านิยมความงามนี้กลายเป็นปมสำคัญที่ถูกขยายความไปตลอดทั้งเรื่อง

 

 

อย่างที่บอกไปเมื่อตอนต้นว่า นี่ไม่ใช่ Base on True Story จึงทำให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างถูกปรับเปลี่ยนจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเรื่อง เอ็ดดี้ มอนโร ซึ่งก็เป็นเหมือนตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่แทน แอนนี มอนโร ว่าเป็นลูกครึ่งผิวดำ ทั้งที่ตัวจริงของ แอนนี มอนโร เป็นคนผิวดำ และไม่ได้ตกอับในตอนท้าย แถมยังเป็นมหาเศรษฐี เผลอๆ อาจจะรวยเท่าหรือรวยกว่า มาดาม ซี.เจ. วอล์กเกอร์ ด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ ในเรื่องยังวางคาแรกเตอร์ให้ตัวละครลูกสาวเป็นเลสเบียน ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น รวมถึงตอนท้ายเรื่องที่มีฉากที่มาดามเจอกับ ร็อกกี้ เฟลเลอร์ มหาเศรษฐีที่อยู่ร่วมสมัย ทั้งที่ความจริงทั้งคู่ไม่เคยได้เจอกัน สำหรับผู้เขียนเองเรื่องเหล่านี้ยังพอรับได้ เพราะทำให้เนื้อหาดูมีสีสันขึ้น แต่ที่ออกจะขัดหูขัดตาไปหน่อยก็คือฉากฟุ้งฝันแฟนตาซีต่างๆ อย่างฉากต่อยมวยที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์การต่อสู้ของมาดาม ดูแล้วไม่ค่อยลงตัวสักเท่าไร 

 

 

ความจริงซีรีส์เรื่องนี้ปล่อยออกมาตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดระลอกแรกพอดี แต่ผู้เขียนเพิ่งจะได้ดูก็ช่วงนี้เอง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ซีรีส์ที่ดีงามล้ำเลิศ แต่ยืนยันว่า Self Made เป็นซีรีส์ดูสนุกสำหรับคนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ และเชื่อว่าน่าจะมอบพลังงานดีๆ ในช่วงที่หลายคนต้องการกำลังใจสู้ชีวิตอย่างในตอนนี้  

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising