×

‘Self-Critical’ วิธีคิดที่ช่วยให้ มิเกล อาร์เตตา พาอาร์เซนอลกลับมาเป็นทีมที่ดีได้อีกครั้ง

20.09.2022
  • LOADING...
Mikel Arteta

มันชวนให้คิดอยู่เหมือนกันถึงเหตุผลที่ มิเกล อาร์เตตา ตัดสินใจส่ง อีธาน เอ็นวาเนรี  ไอ้หนูวันเดอร์คิดวัย 15 ปี ลงสนามในช่วงก่อนหมดเวลา เกมที่อาร์เซนอลบุกไปต้อนเบรนท์ฟอร์ดถึงถิ่น 3-0

 

เพราะหากจะมองในแง่ดี อาร์เตตาต้องการมอบโอกาสให้แก่เด็กคนหนึ่งที่จะกลายเป็นเจ้าของสถิตินักเตะอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกด้วยวัย 15 ปี 181 วัน (สถิติเดิมเป็นของ ฮาร์วีย์ เอลเลียตต์ กับลิเวอร์พูลในวัย 16 ปี 30 วัน)

 

แต่หากจะมองแบบคนคิดร้าย (ลึกๆ) การส่งเด็กขนาดนี้ลงไป – แม้ว่าจะมีคำอธิบายว่า เพราะทีมขาดผู้เล่นหลายรายจากอาการบาดเจ็บ – เป็นเหมือนการเย้ยเบรนท์ฟอร์ดอย่างเจ็บแสบแบบไม่ต้องพูด

 

คล้ายกับเป็นการย้อนเกล็ดของประโยค “Nice kick about with the boys” ข้อความทวีตที่ อิวาน โทนีย์ กองหน้าตัวเก่งของทีม ‘The Bees’ เคยโพสต์ไว้หลังจากที่เบรนท์ฟอร์ดซึ่งปีที่แล้วเป็นทีมน้องใหม่ สามารถเอาชนะทีมดังอย่างอาร์เซนอลได้อย่างง่ายดายในเกมเปิดสนามพรีเมียร์ลีก

 

เพราะปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ข้อความนี้มีผลต่อหัวใจของทั้งอาร์เตตาและนักเตะในทีมอาร์เซนอลอย่างมาก

 

กุนซือชาวสเปนเคยนำประโยคนี้ขึ้นจอเพื่อพูดในระหว่างก่อนเกมล้างตากับเบรนท์ฟอร์ดที่เอมิเรตส์ สเตเดียมในฤดูกาลที่แล้วเพื่อปลุกใจลูกทีม ขณะที่นักเตะหลายคนก็โพสต์เย้ยกลับเช่นกันหลังกันเนอร์สล้างแค้นได้

 

ผ่านมาถึงฤดูกาลนี้ ประโยคนี้ก็ยังตามหลอกหลอนโทนีย์อยู่หลังอาร์เซนอลเป็นฝ่ายชนะอย่างง่ายดายในเกมสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทวงตำแหน่งจ่าฝูงกลับคืนมาจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้สำเร็จด้วยผลงาน 7 นัดแรกชนะ 6 แพ้ 1 และเป็นการพิสูจน์ว่าพวกเขาเริ่มมีความสม่ำเสมอ และความเชื่อว่าจะกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

 

อย่างไรก็ดี เล่ามาทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่สีสันที่ชวนคิดเฉยๆ ครับ เพราะสิ่งที่ผมรู้สึกสนใจมากเป็นพิเศษคือ บทสัมภาษณ์ของอาร์เตตาในช่วงก่อนเกม

 

และแน่นอนว่าไม่มีเรื่องข้อความทวีตจอมปั่นนี้แต่อย่างใด

 

ในบทสัมภาษณ์ของผู้จัดการทีมชาวสเปน อาร์เตตาถูกถามถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากในตอนเริ่มต้นฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งนอกจากพ่ายเบรนท์ฟอร์ด พวกเขายังแพ้ติดต่อกันถึง 3 นัดในช่วงออกสตาร์ทฤดูกาล ซึ่งเป็นผลงานที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 67 ปี

 

ไม่นับการพลาดหวังทำอันดับไปแชมเปียนส์ลีกที่เจ็บปวดที่สุด เพราะมาเสียตำแหน่ง เพราะมาหลุดฟอร์มปล่อยให้สเปอร์สคว้าชิ้นปลามันไปครองในช่วงปลายฤดูกาล

 

อาร์เตตาและอาร์เซนอลกลับมาได้อย่างไร?

 

สิ่งที่นายใหญ่กันเนอร์สตอบน่าสนใจมาก และเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าเราสามารถนำมาใช้กับชีวิตของเราเองได้ ซึ่งสิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า Self-Critical หรือการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง การตั้งคำถามกับตัวเอง


เขาบอกแบบนี้ครับว่า

 

“ผมก็สงสัยในตัวเอง ผมตั้งคำถามกับตัวเอง” หรือพูดง่ายๆ คือการสารภาพบาปของอาร์เตตตาว่า ความล้มเหลวในสนามช่วงเวลานั้นทำให้ตัวเขาก็ชักเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า จะนำทีมประสบความสำเร็จอีกครั้งไ้ด้หรือไม่

 

มันเป็นสถานการณ์ที่หลายคนอาจจะเคยเจอ (ผมเองก็เช่นกัน) เพียงแต่มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตครับ

 

“มันเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางที่จะทำให้เราดีขึ้น เก่งขึ้น” ก่อนที่อาร์เตตาจะพูดถึงคีย์เวิร์ดว่า “เราจำเป็นที่จะต้องมี Self-Critical”

 

ต้องอธิบายให้เข้าใจเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า พวกนักกีฬาอาชีพไม่ว่าจะระดับใด Mentality ของพวกเขาต้องพร้อมสำหรับการแข่งขัน และนั่นหมายถึงต่อให้วันนี้ไม่ชนะ พ่ายแพ้ เละเทะอย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องกลับมายืนหยัดเพื่อจะเดินหน้าต่อไปให้ได้

 

และคนที่จะช่วยได้ดีที่สุดก็คือตัวเอง ซึ่งหากอ่านบทสัมภาษณ์ของนักกีฬาจำนวนมาก แล้วจะพบว่าทุกคน ต่อให้เป็นคนที่ดูภายนอกยิ้มแย้มแจ่มใสหรือเงียบขรึม พวกเขามีอีโก้ในตัวเองอย่างรุนแรง และคนที่รู้ตัวดีที่สุดว่าวันนี้ทำได้ไม่ดีหรือทำได้แย่แค่ไหน ก็คือตัวของพวกเขาเอง

 

ในทางทฤษฎีแล้วคนที่มีลักษณะ Self-Critical สามารถมีส่วนช่วยในการพัฒนาตัวเองได้จริงๆ โดยมีข้อดีถึง 7 อย่างด้วยกัน

 

อาร์เตตามีทีมงานที่ดี ที่พร้อมสนับสนุนและวิจารณ์เขาเสมอหากทำไม่ถูก 

 

  1. เราจะไม่มีวันเป็นคนที่แย่ลง

คนที่ชอบวิจารณ์ตัวเองนั้นจะมีการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ตลอดไม่ว่าดีหรือร้าย และจะหาหนทางทำให้ทุกอย่างดีขึ้นกว่าเดิม

 

  1. อบอุ่นความคิดจนพร้อมยิ่งกว่าพร้อม

คนที่มีลักษณะ Self-Critical จะเป็นคนที่คิดทบทวนเรื่องต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมาอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดการตกผลึกทางความคิด

 

ให้เปรียบในเชิงกีฬาก็คือการลงไปอบอุ่นร่างกายรอตลอดเวลาอยู่ข้างสนาม ซึ่งเมื่อได้รับคำสั่งให้ลงสนามร่างกายก็พร้อมที่จะทำงานทันที ต่างจากคนที่ไม่ได้อบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ ลงไปแล้วกำลังวังชายังไม่มา แข้งขายังไม่ดี ทำอะไรก็ลำบาก

 

  1. เสียงคนอื่นมีค่าไม่น้อยกว่าเสียงเรา

เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่อยากใช้ Self-Critical ในทางที่ดี เพราะบางครั้งการวิจารณ์ตัวเองอย่างเดียวอาจไม่พอ และอาจจะไม่ดีด้วย การเปิดทั้งหูเปิดทั้งใจเพื่อรับฟังผู้อื่นนั้น จะทำให้อะไรๆ มันดีขึ้น

 

เพราะในการกระทำบางอย่าง เรื่องบางจุด เราคิดว่าเราทำดีแล้วมันอาจจะไม่ดี หรือบางอย่างเราคิดว่าเราทำไม่ดีมันอาจจะดีแล้ว การเพิ่มความเห็นจากคนอื่นเข้ามาคือการเติม Input ที่จะทำให้เราสามารถประมวลผลออกมาเป็น Output ที่ดีขึ้น

 

อาร์เตตาเองก็ย้ำถึงเรื่องนี้ครับว่า “ต้องมีคนรอบตัวที่พูดความจริงกับเรา”

 

และที่สำคัญที่สุดคือต้องรู้จักน้อมรับฟังจากใจจริงด้วย ไม่ใช่แค่ได้ยิน ให้ความเห็นเหล่านั้นไหลผ่านจากหูซ้ายทะลุหูขวาไปเฉยๆ

 

  1. ตระหนักรู้ตลอดเวลา

Self-Critical จะช่วยให้เรากลายเป็นคนที่รู้จักตัวเองดี เพราะเราคิดถึงการกระทำของตัวเองตลอด และมันทำให้เรารู้ตัวดีว่าตอนนี้เราเป็นอย่างไร และมีสิ่งไหนที่ต้องทำให้ดีขึ้น

 

เพราะบางครั้งการทำงานมายาวนานโดยที่ไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเอง (หรือโดนคนอื่นตั้งคำถาม) ก็จะคิดว่าทำได้ดีอยู่แล้ว และนั่นหมายถึงการหยุดทุกอย่างอยู่กับที่ มีแต่คำว่าทรงกับคำว่าทรุด

 

  1. มีความสุขกับความล้มเหลวได้มากพอๆ กับความสำเร็จ

เรื่องนี้สำคัญเพราะหากเราเป็นคนที่ตั้งคำถามกับตัวเองแล้ว ต่อให้เราต้องเจอกับช่วงเวลาที่ผิดหวัง ความล้มเหลวจะไม่ทำให้เราแย่ ในทางตรงกันข้ามมันจะทำให้เรามีความสุขกับความล้มเหลวได้มากพอๆ กับความสำเร็จ

 

เพราะเราจะได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ทำแล้วไม่เวิร์ก ครั้งหน้าจะได้ไม่ทำหรือปรับใหม่ หรืออาจจะอยากลองดูอีกสักทีก็ได้ ไม่มีอะไรผิดทั้งนั้น

 

อาร์เซนอลยังรักษาจ่าฝูงได้หลังผ่านนัดที่ 7 และทำให้หลายคนเริ่มคิดว่าพวกเขาอาจจะเป็นทีมลุ้นแชมป์ในฤดูกาลนี้

 

ทั้งหมดคือแง่คิดเล็กๆ ที่ได้จากตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์สั้นๆ ความยาวไม่ถึง 30 วินาทีที่ มิเกล อาร์เตตา พูดถึงเรื่องนี้ก่อนเกมกับเบรนท์ฟอร์ด ที่อยากจะนำมาเล่าต่อให้คุณผู้อ่านทุกท่านอีกที

 

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ หรืออย่างน้อยก็ดีต่อหัวใจบ้างสักนิดนะครับ 🙂

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X