วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงพัฒนาฟังก์ชันการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด (Self Assessment) บนระบบ ‘หมอพร้อม Chatbot’ เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยคัดกรองผู้ที่มีผลการตรวจโควิดเป็นบวก ให้ได้รับคำแนะนำในการเข้ารับการรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้ โดยการประเมินดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองภาวะวิกฤต และ 2. การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองความเร่งด่วน
ทั้งนี้ เมื่อผู้ติดเชื้อทำแบบประเมินความเสี่ยงบนหมอพร้อม Chatbot ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพพื้นฐานของผู้ติดเชื้อ อาการและความพร้อมในการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งอ้างอิงจากผลการศึกษาทางวิชาการของกรมการแพทย์ โดยสามารถประเมินให้ตนเองหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อได้ โดยเครื่องมือการประเมินมีค่าความแม่นยำร้อยละ 85
“ผลจากการประเมินเป็นการให้คำแนะนำในเบื้องต้นไม่ใช่การวินิจฉัยทางการแพทย์ หากประชาชนที่ติดเชื้อโควิดมีอาการรุนแรงขอให้เข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วน และหากมีอาการนอกเหนือจากที่แบบประเมินกำหนดหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ สำหรับช่องทางการประเมินความเสี่ยงบนหมอพร้อม Chatbot สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้ ทั้ง LINE Official Account, แอปพลิเคชัน และช่องทางแชตบน Facebook Page ของหมอพร้อม” นพ.โสภณกล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามระบบการรักษา หากติดเชื้อโควิด กลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย จะเน้นการดูแลรักษาที่บ้านและชุมชนเป็นลำดับแรก (HI/CI First) ซึ่งจะได้รับการติดตามอาการทุกวันจากบุคลากรทางการแพทย์ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจะได้รับการส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามระบบ ทั้งนี้ แบบประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อผ่านระบบหมอพร้อม Chatbot จะเป็นอีกช่องทางและเครื่องมือในการช่วยประเมินอาการตนเองเพื่อรับคำแนะนำการเข้ารับการดูแลรักษาเบื้องต้น โดยหมอพร้อม Chatbot จะมีเมนู ‘ติดโควิด คลิกที่นี่’ จากนั้นระบบจะถามคำถามเพื่อประเมินและคัดกรองภาวะวิกฤต ได้แก่ มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจไม่ทัน หายใจเหนื่อยจนซี่โครงบาน หายใจเร็วกว่า 20 ครั้งต่อนาที หายใจมีเสียงดัง, อาการซึมลง ไม่รู้สึกตัว, อาการตัวซีด เย็น และอาการเหงื่อท่วมตัว ซึ่งหากมีอาการจะแนะนำว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินให้ติดต่อ 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
แต่หากไม่มีอาการดังกล่าวจะแนะนำให้ทำแบบประเมินคัดกรองความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ซึ่งจะมีการสอบถามช่วงอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง โรคประจำตัว สอบถามอาการ เช่น ไอ เจ็บคอ ไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ หายใจลำบาก/ไม่อิ่ม จมูกไม่ได้กลิ่น ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน รวมถึงสอบถามว่าเป็นกลุ่มเปราะบางหรือไม่ เช่น ตั้งครรภ์ มีภาวะติดเตียง ประวัติโรคจิตเวช ซึ่งต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด มีความพิการและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จากนั้นระบบจะนำคำตอบทั้งหมดมาประเมินและให้คำแนะนำเบื้องต้น เช่น หากแนะนำการดูแลที่บ้าน จะระบุช่องทางติดต่อ 1330 รวมถึงให้คู่มือแนวทางการกักตัวที่บ้าน