×

ตำรวจยึดชุดตรวจ ATK ปลอม รวมมูลค่า 2 ล้านบาท มีนายทุนจีนนำเข้าอุปกรณ์และน้ำยา จำหน่ายผ่านเพจถึงมือประชาชนโดยตรง

โดย THE STANDARD TEAM
11.08.2022
  • LOADING...
ATK ปลอม

วันนี้ (11 สิงหาคม) พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการตรวจค้นและยึดชุดตรวจ ATK ปลอมหลายยี่ห้อ มูลค่าความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท

 

พล.ต.ท. จิรภพกล่าวว่า การตรวจค้นที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากมีประชาชนซึ่งติดโควิดและได้ซื้อชุดตรวจ ATK ยี่ห้อเดียวกันมา 4 กล่อง มาทำการตรวจ ปรากฏว่าผลที่ได้ออกมามีความแตกต่างกันคือ 3 ชุดแรก ตรวจแล้วผลตรวจเป็นลบ และอีก 1 ชุด ตรวจแล้วผลตรวจเป็นบวก จึงต้องไปหาซื้อชุดตรวจยี่ห้ออื่นมาตรวจซ้ำ ซึ่งพบว่าผลเป็นบวกทั้งสิ้น จึงตัดสินใจนำชุดตรวจ 4 ชุดแรกมาตรวจสอบด้วยตัวเองเพื่อตรวจความผิดปกติ ปรากฏว่าวันเดือนปีที่ผลิตกับวันหมดอายุของ ATK ยี่ห้อดังกล่าวมีลักษณะไม่ตรงกันและมีความผิดปกติ

 

เมื่อรักษาตัวจนพ้นระยะปลอดภัยแล้วจึงได้ตัดสินใจนำชุดตรวจทั้งหมดมาร้องเรียนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของตำรวจพบว่า ATK ดังกล่าวเป็นของปลอมจริง จึงทำการขยายผลแหล่งที่ซื้อและขยายผลต่อเนื่องไปยังแหล่งผลิตจนสามารถขอหมายศาลให้ตรวจค้นโรงงานที่ผลิตในจังหวัดนครปฐมและนนทบุรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา จนสามารถตรวจยึดชุดตรวจ ATK TESTSEALAB® GICA สุขสบาย จำนวน 7,800 กล่อง ชุดตรวจโควิด TESTSEALAB® NEX รวมถึงกล่อง ATK น้ำยาตรวจ ไม้แยงจมูก และหลอดเก็บตัวอย่าง อีกจำนวนมากกว่าแสนชิ้น

 

ด้าน พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 บก.ปคบ. ระบุว่า จากการสืบสวนพบว่าขบวนการปลอม ATK นี้มีผู้ร่วมขบวนการไม่ต่ำกว่า 4 คน โดยมีนายทุนเป็นคนจีน น้ำยาตรวจรวมถึงอุปกรณ์ส่วนใหญ่ก็ถูกนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งสิ้น และจากการตรวจสอบข้อมูลการผลิตและกระจายสินค้าของสองโรงงาน ทั้งในจังหวัดนครปฐมและนนทบุรี พบว่าเริ่มทำการผลิตในเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้นมีการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊กของเจ้าของโรงงาน รวมถึงขายผ่านช่องทางออนไลน์สู่มือประชาชนโดยตรง

 

ด้าน นพ.ไพศาลกล่าวว่า ATK ปลอมสามารถตรวจสอบได้โดยหาซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านเภสัชกรรมที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการตามกฎหมาย และเมื่อซื้อแล้วให้ทำการแกะกล่องเพื่อดูวันผลิตและหมดอายุจากกล่องกับซองบรรจุตลับตรวจโควิดว่าตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงกัน ให้อนุมานได้ว่าเป็นของปลอม อีกทั้งให้ตรวจสอบตัวผลิตภัณฑ์และยี่ห้อว่าใช่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ และสามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของ อย.

 

พร้อมฝากเตือนสำหรับคนที่คิดจะเอาเปรียบผู้บริโภคโดยการเห็นแก่ผลประโยชน์ที่จะได้รับ ระวังหากถูกจับได้จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 คือขายเครื่องมือแพทย์ปลอม มาตรา 46 (1) ประกอบมาตรา 47 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 46/1 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบจดแจ้ง มาตรา 46/1 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 17 (1) มีโทษตามมาตรา 91 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และขายงานผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ 58 (4) ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X