วันนี้ (27 กันยายน) สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการยื่นเรื่องต่อ ร.ต.อ. ปิยะวัฒน์ ปรัญญา รอง สว. (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เพื่อขอให้ทำการตรวจสอบ 4 ศิลปินชื่อดัง ได้แก่ ว่าน-ธนกฤต พานิชวิทย์, อ๊อฟ-ปองศักดิ์ รัตนพงษ์, ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง และ โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน ที่ร่วมแสดงในคอนเสิร์ต ‘สี่แยกปากหวาน ตอน I will survive #สู้ตายเราต้องรอด’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา
เนื่องจากทั้ง 4 ศิลปินได้แสดงเพลงพิเศษจำนวน 2 เพลง ซึ่งมีเนื้อหาเชิงเสียดสี ด่าทอ ใส่ร้ายด้วยความเท็จ ต่อรัฐบาลและผู้บริหารประเทศ เป็นลำดับตลอดเวลา ทั้งส่วนที่ไม่จริงและนำความจริงมาไม่หมด บิดเบือน สร้างความเสียหายวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้ อีกทั้งการแสดงดังกล่าวยังถูกนำไปเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยทางสนธิญาได้หยิบยกเนื้อหาของเพลงขึ้นมาประกอบจำนวน 9 ประเด็น ได้แก่
- “ประเทศเรากำลังจะพัง แต่ลูกค้าการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องทั้ง 4 ท่านนี้ บัตรเต็ม มีผู้เข้าชมเต็ม และราคาสูงสุดของบัตรคือ 4,000 บาท”
- พวกนี้รวย เป็นที่สนใจในยุคประยุทธ์ทั้งนั้น
- รัฐบาลเผด็จการ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
- สร้างหนี้ก้อนโต
- งานไม่ทำ หมายถึงรัฐบาลไม่ทำงาน หากรัฐบาลไม่ทำงานแล้วพวกนักร้องจะมาแสดงคอนเสิร์ตเก็บค่าบัตรเข้าชมราคา 4,000 บาทได้อย่างไร
- นาฬิกายังไม่คืน
- ผู้นำไม่ตื่น
- เวลา 8 ปีไม่มีความหมาย
- ชอบแจกเงิน เหมือนกูเป็นขอทาน
นอกจากนี้ สนธิญากล่าวเสริมว่า การแสดงของนักร้องทั้ง 4 ท่านนั้น มีประชาชนเข้าไปชมการแสดง และนำการแสดงเหล่านี้มาลงในระบบคอมพิวเตอร์ ได้แก่ TikTok, YouTube, Facebook และอื่นๆ ในระบบสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้แบบไม่มีขอบเขตจำกัด และข้อความที่นำไปลงนั้นก็บิดเบือน นำไปลงไม่หมด เป็นความเท็จ ใส่ร้าย ด้วยความสนุกสนาน ไม่รับผิดชอบ ทั้งๆ ที่สามารถนำเรื่องอื่นๆ ไปทำการแสดงได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และทำให้ใครหรือประเทศ ผู้บริหารประเทศเสียหาย อันจะนำมาสู่ความวุ่นวาย จากการนำความเท็จมาเผยแพร่ครั้งนี้ได้ และนักร้องทั้ง 4 ท่านก็คงจะรับผิดชอบอะไรไปไม่มากกว่าการขอโทษและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ด้วยนักร้องบางท่านในกลุ่ม 4 ท่านนี้นำไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว แซะ ใส่ร้าย ด่า และนำความเท็จลงมาสู่คอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่เป็นระบบสาธารณะมาแล้วตลอดเวลา ตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา
ทางสนธิญาจึงได้ร้องขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นทั้งหมดว่า นักร้องทั้ง 4 ท่านได้มีการพูดและกระทำการดังกล่าวจริงๆ หรือไม่ รวมถึงให้ตรวจสอบทั้ง 9 ประเด็นว่า นักร้องทั้ง 4 ท่านได้นำเอาความเท็จหรือบางส่วนลงไปในระบบคอมพิวเตอร์แล้วทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ถ้าพบว่ามีความผิดให้เรียกนักร้องทั้ง 4 ท่านมาดำเนินคดีตามกฎหมายพระราชบัญญัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 และ 15 เบื้องต้นพนักงานสอบสวนรับเรื่องไว้เสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
ย้อนกลับไปในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 สนธิญา สวัสดี ที่ในเวลานั้นมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และอดีตผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้เคยเข้ายื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ กรณีการ Call Out ของดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียง เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด
โดยนายสนธิญาได้ยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมกับแนบรายชื่อดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียง จำนวนกว่า 20 รายชื่อ เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรม โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของแรปเปอร์สาวน้อย มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล อยู่ในจำนวน 20 รายชื่อ จนนำมาซึ่งกระแสร้อนทางโซเชียลมีเดียผ่านทางแฮชแท็ก #Saveมิลลิ ในเวลาต่อมา
ภาพ: CHANGEshowbiz / Facebook
อ้างอิง: