×

‘สี่แผ่นดิน’ ที่เปลี่ยนไป เพราะสูญเสียจึงเข้าใจ ‘แม่พลอย’

โดย สะเลเต
01.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปี 2560 บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ แห่ง ซีเนริโอ นำ ‘สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล’ ผลงานการประพันธ์ของ ‘หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช’ กลับมาจัดแสดงอีกครั้ง และละครเวทีเรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์มาแล้วว่ามีรอบการแสดงมากที่สุดในไทย
  • แม่พลอย ตัวละครหลักที่มีชีวิตอยู่ถึงสี่แผ่นดิน เธออาจเป็น ‘นางเอกในดวงใจ’ ของกลุ่มอนุรักษนิยม หรืออาจเป็นพวกโบราณคร่ำครึของกลุ่มคนรุ่นใหม่ หากสำหรับเราในวันนี้ ‘แม่พลอย’ ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไปที่เจ็บปวดกับความสูญเสีย กลัวกับความเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อไม่อาจต้านทานก็ต้องทำใจยอมรับและก้าวเดินต่อไปโดยมั่นคงในศรัทธาของตัวเอง

     ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นละครเวทีที่มีรอบการแสดงมากที่สุดในประเทศไทย สำหรับ ‘สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล’ หลังจากเมื่อปี 2554 ได้เปิดม่านสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมถึง 100 รอบ ก่อนจะเปิดการแสดงอีก 50 รอบในปี 2557 โดยมีการปรับเปลี่ยนตัวนักแสดงบางส่วน และล่าสุดในขณะนี้ ‘แม่พลอย’ ก็ได้กลับมาถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองอันผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านแผ่นดินแล้วแผ่นดินเล่าให้ได้ซาบซึ้งกันอีกครั้งในวันที่คนไทยจะเข้าถึงความรู้สึกของแม่พลอยได้ดียิ่งขึ้น

 

(Photo: Rachadalai/facebook )

 

ผู้หญิงคนนี้ชื่อ ‘แม่พลอย’

     ‘สี่แผ่นดิน’ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์จากปลายปากกาของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนเป็นตอนลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ แล้วจึงได้รวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2496 พร้อมกับถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ดีที่สุดของบ้านเรา

     โดยเรื่องราวเล่าถึงชีวิต ‘แม่พลอย’ ไล่เรียงตั้งแต่ครั้งยังเด็ก เมื่อถูกพาเข้าวังไปถวายตัวเป็นข้าหลวงของเสด็จ เรียนรู้วิถีชาววัง ก่อนจะค่อยๆ เติบโตเป็นสาวงามจนไปถูกตาต้องใจ คุณเปรม’ กระทั่งตกลงปลงใจแต่งงานไปตามความต้องการของผู้ใหญ่ หลังจากนั้นเธอก็ให้กำเนิดลูกชายและลูกสาว พร้อมๆ กับเลี้ยงดูลูกติดของสามีไปด้วย

     ชีวิตคนเป็นแม่เหมือนจะเรียบๆ แต่กลับไม่ง่าย เพราะช่วงเวลา 64 ปีที่มีลมหายใจ ความเปลี่ยนแปลงมากมายได้ถาโถมเข้ามา  

     จากการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย   

     จากลูกตัวน้อยๆ กลายเป็นศัตรูผู้เห็นต่างทางการเมือง

     จากแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ผลัดเปลี่ยนสู่รัชกาลที่ 8

     ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าจะต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงหนักหนาเพียงใด องค์พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของแม่พลอย

     ความรู้สึกเดียวกันที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้คนไทยมากมายยกให้ ‘สี่แผ่นดิน’ เป็นวรรณกรรมในดวงใจ ขณะที่ในแวดวงโทรทัศน์ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะมีการนำบทประพันธ์มาสร้างเป็นละครแล้วถึง 5 ครั้ง ได้แก่ พ.ศ. 2504 ทางช่อง 4 บางขุนพรหม, พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2523 ทางช่อง 5, พ.ศ. 2534 ทางช่อง 3 และ พ.ศ. 2546 ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งเวอร์ชันหลังสุดยังถูกนำมาออกอากาศอีกครั้งทางช่องพีพีทีวี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559

 

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

 

เมื่อ ‘แม่พลอย’ โลดแล่นบนเวที

     นอกจากรูปแบบละครโทรทัศน์ ‘สี่แผ่นดิน’ ยังเคยโลดแล่นบนเวทีมาก่อน โดยเมื่อปี 2516 หง่าว-ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หยิบบทประพันธ์มาดัดแปลงเป็นละครเวทีความยาว 4 ชั่วโมงเพื่อทำเป็นวิทยานิพนธ์

     โดยบทละครที่เน้นแนวคิดเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทย บวกกับประเด็นที่คมคายและนำเสนออย่างฉับไวด้วยศิลปะการละครสมัยใหม่ ทำให้วิทยานิพนธ์ที่ถูกอาจารย์ควบคุมคัดค้านในตอนแรก เพราะเห็นว่าใหญ่เกินไป ก็ได้สร้างปรากฏการณ์บัตรถูกจองเต็มล้นทั้ง 10 รอบในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ต้องจัดแสดงเป็นครั้งที่ 2 อีก 20 รอบ

 

ภาพจากหนังสือ ยุทธนา มุกดาสนิท ชีวิต และ ผลงาน

 

     ทั้งนี้มีระบุไว้ในหนังสือ ‘ยุทธนา มุกดาสนิท ชีวิต และ ผลงาน’ ว่า รอบปฐมทัศน์ของการแสดงครั้งที่ 2 ทางมหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการแสดงตามพระราชเสาวนีย์ที่โปรดการทอดพระเนตร ‘สี่แผ่นดิน’ และในวันจริง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์นอกหมายกำหนดการด้วย ยังความปลาบปลื้มและเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่ทีมงานผู้สร้างเป็นอย่างยิ่ง

 

     “ไม่ได้รับเชิญ จึงขอจ่ายค่าบัตรเข้าชมด้วย” ทรงตรัสด้วยพระอารมณ์ขัน พร้อมยื่นซองพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชทานให้แก่แผนกศิลปะการละคร คณะศิลปศาสตร์ โดยมีอาจารย์มัทนี รัตนิน หัวหน้าภาควิชานี้เป็นผู้รับสนอง

     ทรงทอดพระเนตรละครด้วยความสนพระทัย แล้วตรัสชมผู้ประพันธ์ ยุทธนา นักแสดง และทีมงานทุกคนเมื่อละครจบ โดยสรุปว่า ละครดี มีแง่คิดดี

(ความตอนหนึ่งจากหนังสือหนังสือ ยุทธนา มุกดาสนิท ชีวิต และ ผลงาน หน้า 25)

 

     38 ปีต่อมา บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ แห่ง ซีเนริโอ ก็ได้จัดแสดง ‘สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล’ ที่เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ โดยมีดาราดังนำแสดง ได้แก่ นก-สินจัย เปล่งพานิช, กัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ, รัดเกล้า อามระดิษ, อาร์-อาณัตพล ศิริชุมแสง, ตูมตาม-ยุทธนา เปื้องกลาง, สิงโต-สหรัฐต์ หิรัญญ์ธนภูวดล ฯลฯ ในการนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 100 ปี ชาตกาล หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และเป็นผลงานเทิดพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     ในช่วงเวลานั้น ไม่เพียงการตอบรับในแง่จำนวนผู้ชมที่มากเป็นประวัติการณ์จนต้องเปิดการแสดงถึง 100 รอบ ทว่าในแง่ของเสียงชื่นชมก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝีมือนักแสดง หรือบทละครที่ครบรส ทั้งสนุกสนานและซาบซึ้งตรึงใจ แต่ขณะเดียวกันก็มีมุกเสียดสีสังคมไทยได้แบบแสบๆ คันๆ รวมถึงบทเพลงอันไพเราะ โดยเฉพาะเพลง ‘ในหลวงของแผ่นดิน’ ที่ประทับใจหลายคนจวบจนทุกวันนี้

 

 

‘แม่พลอย’ นางเอกในดวงใจ หรือแค่มนุษย์คนหนึ่ง   

     สำหรับ ‘สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล’ ที่ซีเนริโอเปิดม่านการแสดงเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม ถึง 8 ตุลาคมนี้ แม้หลายอย่างจะยังคงเดิม ทั้งเรื่องราว ฉากสำคัญที่อยู่ครบถ้วน เพลงไพเราะกินใจ รวมถึงนักแสดงชุดเดิมทั้ง นก สินจัย, กัน นภัทร, รัดเกล้า, อาร์ อาณัตพล, ไอซ์ ศรัณยู ฯลฯ ที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี

     ส่วนน้องใหม่อย่าง นนท์-ธนนท์ จำเริญ ที่รับบท อ๊อด, ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ รับบท พลอย (วัยรุ่น) หรือ เฌอแตม-นารารัศมิ์ พุ่มสุโขรักษ์ และ อาย-กัลยวรรธน์ สินรัตนภักดีกุล กับบท พลอย (วัยเด็ก) ฯลฯ ก็ถือว่าสอบผ่านทั้งการร้องและการเล่น

     ถึงอย่างนั้น ในรายละเอียดปลีกย่อยกลับมีความเปลี่ยนแปลงและรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง

     เริ่มจากเรื่อง ‘การเมือง’ ที่ลดดีกรีการเสียดสีจิกกัดจากเวอร์ชันที่ผ่านๆ มา แต่ให้น้ำหนักกับความเห็นที่แตกต่างอย่างเท่าเทียม โดยเผยให้เห็นข้อดี-ข้อเสียของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม พร้อมกับเน้นย้ำว่าจะหัวเก่า-หัวใหม่ เสรีนิยม-อนุรักษนิยม ก็อยู่ร่วมกันได้ ถ้าหัดเรียนรู้ซึ่งกันและกัน   

     อย่างไรก็ตาม ที่กระทบใจหลายคนคงจะเป็นการสอดแทรกเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยเมื่อปี 2559 เข้าไปในเนื้อเรื่องได้อย่างฉลาดทั้งส่วนของฉากและตัวบท ครั้งนี้ ‘แม่พลอย’ จึงมีโอกาสรับรู้เรื่องราวของชาติบ้านเมืองยาวนานกว่า 4 แผ่นดิน ขณะเดียวกัน การขยี้เนื้อเรื่องเดิมในบางฉากบางตอนก็ยิ่งสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดู

     อย่างฉากการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ให้เวลาค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมา แม้เราจะรับรู้ความเสียใจของแม่พลอยและตัวละครในเรื่อง แต่ถึงอย่างนั้น ภาพความโศกเศร้าราวกับหัวใจแตกสลายของชาวบ้านที่ต่างมุ่งหน้าไปทาง ‘วังหลวง’ เพื่อรอรับขบวนอัญเชิญพระบรมศพก็ยังยากจะจินตนาการ

     กระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม 2559…

     ดังนั้นเมื่อผู้คนบนเวทีร่ำไห้จึงเกิดเสียงสะอื้นตามไปด้วยที่ด้านล่าง เพราะการสิ้นสุดแผ่นดิน ไม่ว่าจะในพุทธศักราช 2453 หรือ 2559 ‘คนไทย’ ล้วนทุกข์หนักไม่ต่างกัน

     และการยืนอยู่บนความรู้สึกเดียวกัน ทำให้มุมมองที่มีต่อ ‘แม่พลอย’ ต่างออกไปจากเดิม ก่อนหน้านี้ภาพ ‘แม่พลอย’ คือต้นแบบของหญิงไทยในอดีตที่ไม่มีปากมีเสียงใดๆ ใช้ชีวิตตามแต่พ่อแม่สามีจะชี้นำ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือสิ่งใด

     ดังนั้นเธอเลยอาจเป็น ‘นางเอกในดวงใจ’ ของกลุ่มอนุรักษนิยม

     หรืออาจเป็นพวกโบราณคร่ำครึของกลุ่มคนรุ่นใหม่  

     หากสำหรับเราในวันนี้ ‘แม่พลอย’ ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไปที่เจ็บปวดกับความสูญเสีย กลัวกับความเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายแล้วเมื่อไม่อาจต้านทานก็ต้องทำใจยอมรับและก้าวเดินต่อไปโดยมั่นคงในศรัทธาของตัวเอง

     ดังเช่นศรัทธาที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเธอเชื่อว่าจะบันดาลไทยให้ร่มเย็นตราบนานเท่านาน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising