“อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง Netflix เองก็เช่นกัน เราทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของคุณ ซึ่งมันเปลี่ยนวิถีชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดการแบ่งปันไปทั่วโลก” รีด แฮสติงส์ ซีอีโอ Netflix กล่าวไว้บนเวที See What’s Next Asia เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับสิ่งที่ ท็อดด์ เยลลิน Vice President of Product พรีเซนต์บนเวทีว่า “เราเชื่อมต่อโลกใบนี้เข้าด้วยกันผ่านเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่”
Netflix เชื่อมโยงโลกใบนี้เข้าด้วยกันผ่านเรื่องราวได้อย่างไร, ทำไมถึงเดินทางมาจัดงานใหญ่ที่เอเชีย, ผลงานอะไรในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมบันเทิง, คิดอย่างไรกับการมาของ Disney Plus และหลายข้อมูลน่าสนใจ หลังจากใช้เวลาร่วมๆ 48 ชั่วโมงกับ See What’s Next Asia อีเวนต์ระดับโลกที่เพิ่งจัดเป็นครั้งแรกในเอเชีย ณ Marina Bay Sands ประเทศสิงคโปร์ เราเชื่อว่าคุณน่าจะได้คำตอบจากบทความชิ้นนี้
Why Asia?
“ทุกวันนี้เอเชียนับเป็นศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์การผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ที่สำคัญของโลก Netflix เราได้เปรียบตรงที่สามารถนำเรื่องราวจากเกาหลีใต้ ไทย ญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน หรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่เคยถูกนำเสนอที่ไหนมาก่อน เชื่อมโยงไปยังผู้ชมทั่วโลก โดยเฉพาะในปีนี้ ยอดการรับชมซีรีส์เอเชียมากกว่าครึ่งมาจากผู้ชมที่ไม่ได้อยู่ในเอเชีย เราจึงมั่นใจว่าภาพยนตร์และซีรีส์จากเอเชียต่อไปนี้จะได้รับความนิยมทั้งในเอเชียและทั่วโลก”
– เท็ด ซาแรนดอส, Chief Content Officer Netflix
Netflix เพิ่งจัดงานใหญ่ See What’s Next Asia เปิดตัวคอนเทนต์ในเอเชียเป็นครั้งแรก โดยเชิญสื่อทั่วภูมิภาคมาทำความรู้จักและรับฟังอนาคตที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 นำทีมโดย รีด แฮสติงส์ ซีอีโอ และ เท็ด ซาแรนดอส Chief Content Officer
สื่อมวลชนมากกว่า 200 คน จาก 11 ประเทศ ทีมงาน Netflix โปรดิวเซอร์ ผู้เขียนบท ผู้กำกับ รวมถึงเหล่านักแสดงที่มาร่วมงานจึงเป็นจำนวนรวมที่ทำให้อีเวนต์ครั้งนี้ยิ่งใหญ่ และเป็นอีกครั้งที่ทำให้เห็นว่า ‘เอเชีย’ ได้กลายเป็นกำลังซื้อที่แบรนด์ระดับโลกให้ความสำคัญ
Netflix มองว่า เอเชียเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่และมีศักยภาพในการสร้างคอนเทนต์ที่จะได้รับความนิยมไปทั่วโลกได้ไม่ยาก ในเอเชียตลาดที่เติบโตอย่างชัดเจนของ Netflix อย่างเช่น อินเดีย, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทย
แม้ว่าระบบข้อมูลของ Netflix จะบอกชัดเจนว่าสำหรับตลาดไทยแล้ว เรื่องผี เรื่องตลก โรแมนติกคอเมดี้ จะเป็นโทนเรื่องที่คนสนใจดูสูงสุด แต่ก็น่าสนใจว่า Netflix เลือกบาลานซ์ความชอบของคนดูกับคุณภาพในการสร้างซีรีส์ ด้วยการทำงานร่วมกับผู้กำกับฝีมือดีของไทยอย่าง โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ กับซีรีส์แนวสยองขวัญเรื่อง เคว้ง (The Stranded) และ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ร่วมกับ สิทธิศิริ มงคลศิริ กำกับซีรีส์ อุบัติกาฬ (Shimmers) ซึ่งจะเป็นออริจินัลคอนเทนต์ภาษาไทยเรื่องแรกของ Netflix และจะได้ชมกันในปี 2019
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ thestandard.co/netflix-original-content
“ผู้สมัครสมาชิก Netflix ทั่วโลกอยู่ที่ราว 137 ล้านบัญชี เราตั้งเป้าหมายว่า 100 ล้านบัญชีต่อไปจะมาจากสมาชิกในอินเดีย ประเทศที่มีสมาร์ทโฟนมากกว่า 300 ล้านเครื่องและผู้คนชอบดูโทรทัศน์”
– รีด แฮสติงส์ กล่าวที่งาน The Economic Times’ Global Business Summit ที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย
See What’s Next Asia ให้เวลาครึ่งวันกับการประกาศโปรเจกต์ของอินเดียรวม 13 เรื่อง แสดงให้เห็นความสำคัญของฐานผู้ชมและคุณภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศอินเดียได้อย่างน่าสนใจ ไฮไลต์ที่น่าติดตามอย่างเช่น Rajma Chawal ดราม่าครอบครัวในนิวเดลี, Selection Day ซีรีส์ดราม่า Coming of Age ที่สร้างจากหนังสือในชื่อเดียวกัน, Baahubali: Before the Beginning ซีรีส์ที่ได้นักแสดงสาวชื่อดัง Mrunal Thakur มาร่วมงาน และ Leila ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากนวนิยาย เล่าเรื่องราวของแม่ที่ออกตามหาลูกสาวที่พลัดพรากกันไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว
ประเทศเกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งฐานคนดู Netflix ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากจำนวนคนดูในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว คอนเทนต์จากเกาหลีใต้ยังสร้างฐานคนดูนอกประเทศได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ในงานวันแรกมีการประกาศซีรีส์จากเกาหลีเรื่องเด่นๆ ในปีหน้าถึง 4 เรื่อง เปิดด้วย Kingdom ซีรีส์ซอมบี้ผีดิบยุคโชซอนที่หลายคนรอคอย ซึ่งจะฉายซีซันแรกในเดือนมกราคม 2019 และประกาศสร้างซีซัน 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตามมาด้วย Busted! รายการวาไรตี้ที่ประสบความสำเร็จในซีซันแรก ผลงานโดยทีมผู้สร้าง Running Man โดยในซีซัน 2 จะมีนักแสดง อีซึงกิ มาร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิก, ส่วนซีรีส์ที่สร้างจากเว็บตูนอย่าง Love Alarm ก็ได้นางเอกสาว คิมโซฮยอน รับบทนำ ในขณะที่ซีรีส์ My First First Love ก็ได้ทีมนักแสดงที่ดูเคมีลงตัวอย่าง จีซู, จองแชยอน และ จินยอง ซึ่งทั้งหมดจะได้รับชมในปี 2019
ข้ามฟากมาที่ประเทศญี่ปุ่น Netflix ให้ความสำคัญกับการสร้างแอนิเมชันอย่างมาก เห็นได้จากไลน์อัพที่ประกาศออกมาทั้งหมดเป็นแอนิเมชัน ไม่ว่าจะเป็นการนำ Pacific Rim มาสร้างในแบบแอนิเมชันซีรีส์ โดยได้ทีมเขียนบท เคร็ก ไคล์ (Thor: Ragnarok) และ เกร็ก จอห์นสัน (X-Men: Evolution) มาร่วมงาน, Altered Carbon ที่จะกลายร่างมาเป็นแอนิเมชันซีรีส์ไซไฟ, Cagaster of an Insect Cage ที่ดัดแปลงมาจากมังงะญี่ปุ่นชื่อดัง, Yasuke เรื่องราวของซามูไรผู้กล้าแกร่งที่กลับมาต่อสู้อีกครั้ง และ Trese ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายภาพของฟิลิปปินส์ โดยมีฉากหลักในเมืองมะนิลา เมื่อสัตว์ในตำนานมาอาศัยปะปนกับมนุษย์
Easier, Faster, Better
สิ่งหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ร่วมของคนที่ได้ร่วมงานอีเวนต์ระดับโลกครั้งนี้ คือความเรียบง่าย สะดวกสบาย มีมาตรฐานสูง และเป็นกันเอง เราไม่รู้ว่าเบื้องหลังงานสร้างครั้งนี้จะซับซ้อนและใช้เวลาวางแผนเตรียมตัวกันอย่างไร แต่สิ่งที่ได้เห็นและได้สัมผัสตลอด 48 ชั่วโมง สะท้อนให้เห็นระบบการจัดการแบบมืออาชีพ ไม่ต่างอะไรกับการใช้งานแพลตฟอร์ม Netflix ที่เข้าใจง่าย และมีความเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน
เริ่มต้นด้วยการลงทะเบียนเข้างาน เจ้าหน้าที่กรอกชื่อในคอมพิวเตอร์ และเราจะได้รับป้ายคล้องคอและคำแนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน See What’s Next Asia ที่สร้างมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ คอยแจ้งเตือนและชี้แจงตารางเวลาต่างๆ พร้อมทั้งแฮชแท็กของงาน #SWNAsia ที่พิมพ์ใน IG Story จะมีสติกเกอร์ของงานให้ใช้ตกแต่งอีกด้วย
Press Lounge เป็นฮอลล์กลางสำหรับผู้เข้าร่วมงานมานั่งพักผ่อน หามุมเงียบๆ ทำงาน รับประทานอาหาร รวมถึงซุ้มกาแฟที่มีอยู่ทั่วไป ภายในบริเวณจะมีซุ้มโปรโมตซีรีส์และภาพยนตร์เรื่องที่จะประกาศในงานนี้ให้ไปร่วมสนุก ทั้งการจำลองงานถ่ายภาพโปรดักชันเดียวกับในหนัง Mowgli, ซุ้มอาหารเม็กซิกันที่ห่อแซนด์วิชคล้ายยาเสพติดให้เข้ากับซีรีส์ Narcos: Mexico, การเซตซอมบี้จากซีรีส์ Kingdom มาเขย่าขวัญผู้ร่วมงาน, ซุ้มถ่ายภาพกับซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่ The Umbrella Academy หรือซีรีส์ House of Cards ก็เป็นกิจกรรมที่เพลิดเพลินกับช่วงเวลาที่รอคิวสัมภาษณ์ หรือรอกิจกรรมบนเวทีรอบต่อไปจะเริ่มต้น
ความตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนงานบนเวทีเริ่ม จะมีประกาศเตือนเป็นระยะ และทันทีที่ถึงเวลา พิธีการบนเวทีจะเริ่มต้น ภายในห้องประชุมแม้ว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูป แต่เมื่อกิจกรรมบนเวทีช่วงนั้นๆ จบลง จะมีอีเมลส่งเข้าไปถึงผู้เข้าร่วมงาน พร้อมลิงก์ให้ดาวน์โหลดภาพนิ่งและคลิปวิดีโอได้ทันที
การจัดการผู้ร่วมงานมากกว่า 200 คนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำให้กว่า 200 คนอินอยู่กับงานตลอดทั้งวันเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่า ในงาน See What’s Next Asia วันแรกที่รันยาวตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มครึ่ง ถ้าวิเคราะห์สิ่งที่ Netflix นำเสนอแต่ละช่วงแต่ละตอน จะเห็นว่ามีการจัดวางคอนเทนต์ไว้อย่างดี เพื่อให้ทุกช่วงดึงความสนใจผู้ร่วมงานไว้ได้ และในทุกๆ ช่วงของงานจะมีการพักเบรกราว 1-2 ชั่วโมง ซึ่งความตื่นเต้นระหว่างพักเบรกคือ การที่ซีอีโอ, ซีซีโอ, ทีมงาน Netflix รวมทั้งนักแสดงระดับโลกเดินอยู่ในบริเวณงาน ทักทายกันและกัน มันแสดงให้เห็นมิตรภาพ ความเป็นกันเอง และเรียบง่าย ซึ่งไม่ต่างอะไรจากหัวใจหลักของแบรนด์
งานในช่วงหัวค่ำ Netflix พาเราย้ายจากศูนย์ประชุมที่ Marina Bay Sands ไปยัง Capitol Theatre เพื่อรับชม 2 ตอนแรกของซีรีส์ Kingdom บอกเลยว่าคุณภาพของซีรีส์เมื่อปรากฏบนจอใหญ่ ไม่ต่างกับคุณภาพของภาพยนตร์ระดับโลกเรื่องใดๆ ก็ตาม และการได้รับชมซีรีส์พร้อมผู้บริหาร ทีมงาน Netflix นักแสดง ผู้กำกับ คนเขียนบท ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับชมเป็นครั้งแรกพร้อมๆ กันในค่ำคืนนั้น นับเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ และเราเชื่อว่าภาพป๊อปคอร์นที่พิมพ์โลโก้ Netflix พร้อมชื่อซีรีส์ Kingdom ที่โรงภาพยนตร์คืนนั้นจะกลายเป็นไวรัลคู่ไปกับแฮชแท็กของงาน #SWNAsia ในแบบที่ทุกคนยินยอมโปรโมตให้ฟรีๆ
Connecting People
“เราเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่ละปีที่เราพัฒนา ทำงานร่วมกับวิศวกรเก่งๆ มากมายทั่วโลก จนสุดท้ายเราก็ทำได้ ตอนนี้คุณดูผ่านอุปกรณ์อะไรก็ได้ ตอนไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้”
– ท็อดด์ เยลลิน, Vice President of Product
ช่วงหนึ่งของ See What’s Next Asia ที่เรียกว่าเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์แบรนด์ได้อย่างน่าสนใจคือ การขึ้นพูดของ ท็อดด์ เยลลิน เกี่ยวกับการทำงานของ Netflix เพื่อเชื่อมโยงโลกใบนี้เข้าด้วยกัน
“เราเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ แต่ละปีที่เราพัฒนา ทำงานร่วมกับวิศวกรเก่งๆ มากมายทั่วโลก จนสุดท้ายเราก็ทำได้ ตอนนี้คุณดูผ่านอุปกรณ์อะไรก็ได้ ตอนไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ เราพยายามเชื่อมต่อโลกใบนี้เข้าด้วยกันผ่านเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่
“ถ้าย้อนไปในปี 2013 ที่ซีรีส์ House of Cards ซีซันแรกออนแอร์ ตอนนั้นเรายังไม่สามารถปล่อยคอนเทนต์ได้ทั่วโลก และยังมีเพียงแค่ 7 ภาษา แต่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราปล่อย Chilling Adventures of Sabrina ให้คนทั้งโลกได้ดูพร้อมกันใน 27 ภาษา รวมถึงภาษาบาฮาซา สำหรับคนอินโดนีเซีย”
ท็อดด์ เยลลิน ยังกล่าวอีกว่า Netflix ไม่ได้มองว่าคอนเทนต์แต่ละเรื่องมีความยาวเท่าไร ผลิตออกมาเป็นซีรีส์ หนัง หรือหนังสั้น สำหรับเขาแล้วทุกคอนเทนต์นับเป็น ‘Stories’ ที่ Netflix ต้องการกระจายเรื่องราวที่น่าสนใจเหล่านี้ไปทั่วโลก
เขายังยกตัวอย่างการทำงานซีรีส์ Narcos: Mexico ที่ถ่ายทำและใช้ทีมงานในประเทศเม็กซิโก ซึ่งแกนเรื่องสงครามยาเสพติดก็เป็นเนื้อหาที่ทั่วโลกเข้าใจได้ร่วมกัน หรือการกระจายกำลังการผลิตไปทั่วโลก เช่น คริส เฮมส์เวิร์ธ กำลังถ่ายหนังเรื่อง Dhaka ในประเทศอินเดีย และจะยกกองมาถ่ายทำที่ประเทศไทยด้วย, การทำงานของผู้กำกับอย่าง ไมเคิล เบย์, มาร์ติน สกอร์เซซี รวมถึงนักแสดงแถวหน้าอย่าง เบน แอฟเฟล็ก, เจค จิลเลนฮาล, ไรอัน เรย์โนลด์ส ที่มาร่วมงานกับ Netflix ก็เพื่อเปลี่ยนจากภาพยนตร์บนจอใหญ่ไปสู่หน้าจอที่คนทั่วโลกรับชมได้ไม่ต่างกัน
“เราไม่เพอร์เฟกต์ เราเรียนรู้จากทุกๆ ความผิดพลาด”
– ท็อดด์ เยลลิน, Vice President of Product
ท็อดด์กล่าวบนเวทีชัดเจนว่า Netflix ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ทุกๆ ความไม่สมบูรณ์นั้นกลับเป็นบทเรียนให้ได้รู้ว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ในช่วงหนึ่งของการพูดบนเวที จึงเป็นการบอกเล่าว่าเขาและทีมงานตั้งใจอย่างไรในการศึกษาข้อมูลที่ได้รับจากผู้ชมทั่วโลก ทั้งเรื่องสถิติการรับชมแบบพากย์เสียง การเลือกซับไตเติล หรือกระทั่งความชอบภาพหน้าปกของหนังหรือซีรีส์ที่ปรากฏบนหน้าจอของผู้ชมที่แตกต่างไป
“เราทำงานเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเพียงคนเดียว มันไม่จำเป็นเลยว่าคุณอายุเท่าไร เพศไหน อยู่ประเทศอะไร เราสนใจแค่ว่าคุณชอบเรื่องราวแบบไหน ชอบดูสารคดี ชอบหนังโรแมนติกคอเมดี้ หรือชอบหนังสยองขวัญ เราก็จะคัดเลือกให้ตรงกับความสนใจของคุณ
“อย่างที่เกาหลีดู Netflix ผ่านสตรีมมิงอินเทอร์เน็ตสูงสุดในโลก ซึ่งตรงกับความเป็นจริงที่ว่าประเทศเกาหลีระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแข็งแรง ในขณะที่อินเดียเป็นประเทศที่รับชมผ่านการดาวน์โหลดสูงสุดของโลก หรือที่ญี่ปุ่นก็แตกต่างจากที่อื่น ตรงที่เป็นประเทศที่ดู Netflix ในห้องน้ำสูงที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเองก็แปลกใจ ตอนที่ไปโตเกียวผมก็ลองดูซีรีส์จากในห้องน้ำเพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมนี้ด้วย ซึ่งทุกอย่างคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการไปพบผู้ชมของเราทั่วโลก”
What’s Next?
จากบริษัทขายและให้เช่าดีวีดีที่ก่อตั้งในปี 1997 ถึงวันนี้กลายเป็นสตรีมมิงแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลก ในปี 2017 Netflix ทำรายได้ 11,693 ล้านเหรียญสหรัฐ รายได้สุทธิ 559 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมพนักงานในองค์กร 5,500 คน
น่าสนใจว่าก้าวต่อไปต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร รวมถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ Netflix เริ่มชิมลางด้วยการฉายแบบจำกัดโรงก่อนปล่อยฉายในแพลตฟอร์ม อย่างเช่น The Ballad of Buster Scruggs ผลงานล่าสุดของสองผู้กำกับตระกูลโคเอน, Outlaw King ผลงานกำกับของ เดวิด แมคเคนซี, Roma หนังขาวดำที่ได้รับคำนิยมล้นหลามจากทุกเทศกาลภาพยนตร์, Bird Box ที่ได้ ซานดร้า บูลล็อก มาแสดงนำ รวมถึงภาพยนตร์ Mowgli ที่ผู้กำกับ แอนดี้ เซอร์คิส มาร่วมงานที่สิงคโปร์ในครั้งนี้ด้วย
สำหรับคำถามเกี่ยวกับ Disney Plus ผู้เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดสตรีมมิงรายใหม่ในปีหน้า ทาง รีด แฮสติงส์ ได้ให้คำตอบอย่างสบายใจว่า พวกเขายังคงเชื่อมั่นใน Netflix ทั้งยังมองว่าเป็นข้อดีสำหรับผู้ชมที่มีโอกาสเลือกที่หลากหลายขึ้น และเชื่อว่าผู้ชมจะรับเป็นสมาชิกให้กับทุกแพลตฟอร์มถ้าหากพวกเขาสนใจ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า