×

ตลาดฯ เร่งหารือ ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์คัดเลือกหุ้นเข้าคำนวณดัชนี ย้ำข้อกำหนด Free Float สอดคล้องสากล

02.03.2021
  • LOADING...
ตลาดฯ เร่งหารือ ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์คัดเลือกหุ้นเข้าคำนวณดัชนี ย้ำข้อกำหนด Free Float สอดคล้องสากล

ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวคิดในการปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคำนวณดัชนี เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนสภาพการณ์ตลาดได้ดีมากขึ้น และเป็นไปในแนวทางเดียวกับสากล ด้วยแนวทางการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนการกระจายหุ้นแก่นักลงทุนรายย่อย (Free Float Adjusted Market Capitalization: Free Float) 

 

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลายครั้ง และมีแนวทางในการแก้ไขออกมาหลายรูปแบบ เนื่องจากการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการคลายปมจุดเดียว 

 

โดยแนวทางแก้ไขที่กำลังหารือกันอยู่ เช่น จะเปิดเผยข้อมูลแก่นักลงทุนให้เร็วขึ้นได้อย่างไร รวมถึงตลาดจะดำเนินการตอบรับเคสที่เกิดขึ้นให้เร็วขึ้นได้อย่างไรบ้าง One Size Fits All จะทำอย่างไรให้มีข้อยกเว้น หรือสามารถเพิ่มข้อตัดสินพิเศษอะไรได้บ้าง

 

ดร.ภากร กล่าวว่า ในการแก้ปัญหานี้ หากเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์สามารถดำเนินการได้เลย ก็จะทำทันทีหลังจากที่ได้หารือและได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียอื่น (Stakeholder) ก็จะจัดทำการเปิดรับฟังความคิดเห็น (​Hearing) 

 

ส่วนการปรับตัวเลข Free Float นั้นยืนยันว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับ Free Float ในปัจจุบันที่สัดส่วน 20-25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดนั้นเป็นสัดส่วนที่เท่ากับสากล จึงไม่มีการปรับตัวเลขนี้ แต่จะเป็นการปรับนิยามของนักลงทุนแต่ละประเภทให้ชัดเจนขึ้นมากกว่า 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปแต่ละแนวทางจะมีผลในทางปฏิบัติในเวลาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการหารือ 

 

ดร.ภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระจายสัดส่วนหุ้นสู่กลุ่มนักลงทุนแต่ละประเภทก็สำคัญเช่นกัน อย่างเช่น กรณีการกระจายหุ้น IPO แก่กลุ่มนักลงทุนของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ซึ่งเน้นกระจายหุ้นสู่นักลงทุนทั่วไปหรือประชาชนให้มากที่สุด และได้รับการตอบรับที่ดี 

 

ความสำเร็จของการ IPO หุ้น OR น่าจะทำให้สัดส่วนการกระจายหุ้น IPO สู่นักลงทุนมีความทั่วถึงมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่จะมีการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรหุ้น IPO แก่นักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันที่ค่อนข้างตายตัว และในอนาคตการใช้ฐานรายย่อยจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทจดทะเบียนให้ความสนใจมากขึ้น 

 

“กรณีของ OR ทำให้เห็นว่าถ้าบริษัทมีสตอรี มีความน่าเชื่อถือ คนเข้าใจธุรกิจ นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นรายย่อย รายใหญ่ ก็อยากลงทุนระยะยาวและลงทุนไปเรื่อยๆ”

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising