Road To Challenges
ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบความอิสระและท้าทาย รวมถึงการได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ การทำงานในองค์กรแบบ Startup น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดูแล้วเหมาะสมที่สุด เพราะนี่คือเวทีที่เหมาะสำหรับการแสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และการได้เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ วันนี้เรามานั่งคุยกับสาวๆ จาก International Management Associate Program (iMAP) ของ ‘Sea’ Startup ที่มีมูลค่ามากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 3 คน อย่าง หมิว–ภวิษย์พร เจียรประเสริฐ, ตูน–ปวันรัตน์ พสวงศ์ และ พัด–พัทธมน พวงพ่วงรอด ว่าการทำงานในองค์กรแบบนี้มีความสนุกและท้าทายอย่างไรบ้าง
The Beginning
พัด–พัทธมน พวงพ่วงรอด เล่าที่มาของตัวเองว่า “ทราบมาว่า Sea iMAP เป็นโครงการเพื่อเฟ้นหา คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถโดดเด่น เข้ามาพัฒนาศักยภาพให้พร้อมเป็นหนึ่งในผู้นำที่ช่วยผลักดันองค์กรในอนาคต และบังเอิญเราก็รู้จักรุ่นพี่ที่อยู่ในโครงการนี้เหมือนกัน ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับเด็กจบใหม่อย่างเรา” นั่นคือจุดเริ่มต้นที่พัดเล่าให้ฟัง
ส่วนตูน–ปวันรัตน์ พสวงศ์ ก็มีจุดเริ่มต้นไม่ต่างกัน “สำหรับตูนจุดเริ่มต้นน่าจะคล้ายๆ กัน ก็คือรู้จักบริษัทจากเพื่อนๆ ที่คณะที่ทำงานด้านคอนซัลต์ มีการพูดถึง Sea ซึ่งตอนนั้นยังใช้ชื่อบริษัท Garena อยู่ และทราบมาว่าที่นี่มีเด็กจบใหม่เก่งๆ เยอะมาก งานก็หนักและท้าทาย เราก็เลยคิดว่าเราอยากที่จะเข้าไปทำงานในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมแบบนี้ เลยตัดสินใจสมัครเข้าโครงการ MA และหลังจากที่เราได้รับออฟเฟอร์แล้วก็ยังมีความลังเลในใจ เลยตัดสินใจส่งอีเมลตรงไปหา CEO เลย ก็ได้มีโอกาสไปทานข้าวกับ CEO ซึ่งมันเป็นการเปิดโอกาสทำให้ภาพมันชัดขึ้นมากว่า โครงการน่าสนใจมาก แล้วเรามาคิดอีกทีมันเป็นโอกาสที่หายากสำหรับเด็กจบใหม่ จึงได้ตัดสินใจเข้าทำงานที่นี่”
The Challenging Responsibility
ตูน: ตูนได้ทำหน้าที่ดูแล AirPay และความท้าทายที่สุดในการทำงานที่นี่คือ การได้รับหน้าที่ให้ดูแล AirPay Counter ทั้งหมดเหมือนกับเราเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จริงๆ ต้องวางแผนเอง ควบคุมดูแลงบประมาณก้อนใหญ่ อีกทั้งต้องดูแลทีมงานผู้ชายหลายร้อยคนที่ส่วนมากอายุมากกว่าเราอีก ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายมากสำหรับเด็กจบใหม่อย่างเรา
ด้วยหน้าที่ยิ่งใหญ่ประกอบกับการที่เรามีประสบการณ์น้อยและเป็นผู้หญิงด้วย ทำให้เราต้องเรียนรู้ที่จะจัดการสิ่งต่างๆ และสร้างแรงผลักดันในการทำงานด้วยตนเอง ท้ายที่สุดจากความเชื่อมั่นในตัวเองและความสามัคคีของคนในทีมทำ ให้ยอดติดตั้งเคาน์เตอร์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 50% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น
ตูน–ปวันรัตน์ พสวงศ์
หมิว: หน้าที่ของหมิวคือดูแลเกมของการีนา สำหรับหมิว การเปิดตัวเกมใหม่ Blade & Soul เกมฟอร์มยักษ์จากเกาหลีใต้เป็นโปรเจกต์ที่ท้าทายมาก เพราะเราเป็นคนที่ไม่เล่นเกมมาก่อนเลย ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเกมทั้งหมด ตั้งแต่ระบบของเกม วิธีการเล่นจนไปถึงการทำ Marketing และ PR ผ่านช่องทางต่างๆ แม้จะเจออุปสรรคที่คาดไม่ถึง แต่ยอดผู้เล่นในช่วง closed beta ก็มีมากถึง 300,000 ไอดีในช่วงเวลาเพียงแค่ 2 อาทิตย์ ด้วยความตั้งใจบวกกับทีมงานที่ทำงานกันเป็นทีมเวิร์กมากๆ ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งใน การทำงานที่นี่ ล่าสุดได้มีโอกาสมาทำในส่วนของ Marketing ให้กับเกมใหญ่อย่าง RoV นอกจากความท้าทายที่เราต้องปรับตัวให้ทันตามเทรนด์อยู่ตลอด อีกอย่างหนึ่งที่นับว่าเป็นความกดดันในการทำงานของเราคือ RoV เป็นเกมที่มีฐานผู้เล่นอยู่เกือบสิบล้านคนอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่เราทำออกไปจะตรงกับความคาดหวังของผู้เล่นของเราหรือเปล่า ก็ถือว่าเป็นความสนุกและกดดันในคราวเดียวกัน
หมิว–ภวิษย์พร เจียรประเสริฐ
พัด: พัดดูแล Shopee ที่เป็นแอปพลิเคชัน eCommerce ดูในส่วนของ B2C ร้านค้าต่างๆ บนแพลตฟอร์มและ Online Marketing ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับเรา เพราะเราจบ Finance มา แต่พอได้มาลองทำตรงนี้แล้วทำให้เราได้ประสบการณ์ทั้งในเรื่องกลยุทธ์การทำ Online Marketing และการจัดการงานอย่างเป็นระบบเพราะเราต้องทำอะไรเยอะมากในหนึ่งวัน ซึ่งหลักการในการทำงานของเราคือไม่ใช่แค่ทำให้ได้แต่ต้องทำให้ดีด้วย ทุกวันนี้ยอดดาวน์โหลดของเรายังคงอยู่อันดับ 1 ซึ่งเป็นอะไรที่เราภูมิใจมาก เหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมในความสำเร็จครั้งนี้
พัด–พัทธมน พวงพ่วงรอด
The Impression
ทั้งสามคนเล่าถึงความประทับใจที่แต่ละคนได้รับ
สำหรับหมิว หมิวบอกเราว่า “สิ่งสำคัญเลยคือหน้าที่ที่เราได้รับ พี่ๆ ทุกคนเชื่อในตัวเราแม้ว่าเราจะประสบการณ์เป็นศูนย์ เขาเชื่อใจให้เราลอง เชื่อว่าเราสามารถจะเรียนรู้ได้เร็วและดูแลโปรเจกต์ได้อย่างแน่นอน”
ตูนได้รับโอกาสที่มองข้ามเรื่องอายุและเพศไป “การให้โอกาสโดยที่ไม่ได้มองว่าเราอายุเท่าไหร่ เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย โอกาสที่ให้เราลองผิดลองถูก และความเชื่อมั่นในตัวน้องๆ คิดว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบนี้อาจหาได้ค่อนข้างยากในหลายๆ บริษัท”
ส่วนพัดก็มีความประทับใจไม่ต่างจากทั้งสองคน คือโอกาสที่ได้ทำงานในหน้าที่ที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา ทำให้เห็นว่าเขาเชื่อใจให้เราได้ลองทำงาน ได้เพิ่มความสามารถให้ตัวเองในหลายๆ ด้าน เหมือนข้ามขีดจำกัดตัวเองได้
The Attitude
หมิว: สำหรับหมิวการทำงานก็เหมือนการเล่นเกม การได้เรียนรู้งานใหม่ๆ ก็เหมือนเล่นฮีโร่ตัวใหม่ ทีแรกอาจติดขัดไม่ราบรื่น แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ ได้ฝึกฝนแล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่าเราควรเล่นอย่างไร และในระหว่างทางอาจมีปัญหาที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ซึ่งมันก็จะช่วยให้เราได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อทำให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้
ตูน: การทำงานก็เหมือนการวิ่งมาราธอนที่ยังไม่รู้จุดจบ โดยอีกสิ่งที่สำคัญคือ การรู้จักบริหารพลังงานที่เรามีให้เหมาะสมด้วย ถ้าเป็นสมัยก่อนเราหลับหูหลับตาพุ่งเต็มแรงอย่างเดียวเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็จบแล้ว แต่พอมาทำงานจริงก็ทำให้ได้รู้ว่าการวิ่งให้เร็วที่สุดก็ไม่ได้ดีเสมอไป ปัจจุบันเราเลยเลือกที่จะวิ่งช้าลงนิดหน่อย เพลิดเพลินกับข้างทางหรือสิ่งอื่นๆ ในชีวิตบ้างในขณะที่ก็ยังวิ่งไปข้างหน้าด้วย ผลลัพธ์ก็คือเราก็มีความสุขมากขึ้นมากๆ กับชีวิตการทำงาน
พัด: พัดมองว่าการทำงานเปรียบเสมือนการเล่นเกมให้ผ่านด่านในแต่ละด่าน ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าด่านต่อไปจะเจออะไรบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วการมีเพื่อนร่วมทางที่ดีและการวางแผนที่ดีจะทำให้เราสามารถผ่านทุกๆ ด่านในชีวิตไปได้ อย่างสวยงาม
เห็นได้ชัดว่าการทำงานในองค์กรแบบ Startup นั้น มีการเปิดโอกาสและมีความเชื่อมั่นในตัวพนักงานให้มีโอกาสแสดงความสามารถ ได้เจอโจทย์ในการทำงานที่ท้าทาย และได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่อาจหาไม่ได้ในบริษัททั่วไป ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับนั้นรับรองว่ามีความคุ้มค่าที่จะช่วยสร้างเสริมทักษะในการใช้ชีวิตให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จในอีกขั้นหนึ่ง…
iMAP คืออะไร?
International Management Associate Program (iMAP) เป็นโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการก้าวสู่การเป็นผู้นำในกลุ่มบริษัทฯ ของ Sea (Garena, AirPay, Shopee) ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการหมุนเวียนงานไปในแต่ละหน่วยงานต่างๆ และจะได้รับโอกาสในการรับผิดชอบงานที่มีความท้าทายต่างๆ เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยแต่ละคนจะมีพี่เลี้ยง (Mentor) ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทคอยแนะนำอีกด้วย