×

ซีเกมส์-ซีโกง ในวันที่กีฬากลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง?

24.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • มหกรรมซีเกมส์ครั้งที่ 29 ถูกครอบงำด้วยข่าวเจ้าภาพมาเลเซีย ไม่มีความพร้อมในการจัดการแข่งขัน และเริ่มมีรายงานของความไม่ยุติธรรมในการตัดสินกีฬาหลายชนิด
  • กีฬาเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือรวมชาติหลายครั้ง โดยเฉพาะรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 1995 ที่แอฟริกาใต้
  • มาเลเซีย กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ค่าเงินตกต่ำตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้เชื่อว่า นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย อาจต้องการเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวมาเลเซีย

     มหกรรมการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 29 ดูเหมือนว่าจะมีแต่เรื่องราวที่ไม่น่าจดจำสำหรับผู้ที่เข้าร่วมแข่งขัน เมื่อทางเจ้าภาพไม่มีความพร้อมในการต้อนรับนักกีฬาจาก 11 ชาติอาเซียนในการแข่งขันครั้งนี้ รวมถึงเริ่มมีรายงานการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมในการชิงเจ้าเหรียญทองแห่งชาติอาเซียนในครั้งนี้

 

Photo: Kuala Lumpur 2017 Official

 

     ซึ่งหลายคนอาจคุ้นเคยกับการที่เจ้าภาพมักมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ต่างกับฟุตบอลที่ทีมเหย้ามักได้เปรียบทีมเยือนด้วยเสียงเชียร์ หรือความคุ้นเคยของสนาม แต่เมื่อเจ้าภาพตัดสินใจใช้กลยุทธ์ต่างๆ ให้ทีมเยือนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพจิตใจหรือในการแข่งขัน คำถามที่ตามมาคือ เจ้าภาพ หรือ เจ้าบ้านต้องการ ‘โกง’ การแข่งขันหรือไม่

 

ประวัติศาสตร์ ‘การเมืองกับกีฬา’

     แน่นอนว่าในมหกรรมการแข่งขัน เจ้าภาพที่เป็นเหมือนเจ้าภาพในฟุตบอลก็ต้องเอาใจแฟนบอลตัวเองเป็นหลัก ด้วยการสร้างบรรยากาศให้ตัวเองได้เปรียบ โดยอุดมการณ์ของกีฬาคือการนำพาคนหมู่มากเข้ามาร่วมเชียร์หรือสนับสนุนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือความสำเร็จของทีมหรือชาตินั้นๆ

     ซึ่งผลของชัยชนะ แน่นอนว่าเป็นอะไรที่มากกว่าคะแนนหรือสถิติที่ช่วยให้ ชาติของตัวเองขึ้นไปอยู่เหนือชาติอื่นในตาราง เพราะนี่คือสัญลักษณ์ว่าตัวแทนของชาตินั้นสามารถทำผลงานได้ดีกว่าชาติอื่นๆ เหมือนที่หลายๆ คนเคยเปรียบเปรยไว้ว่า “กีฬาคือสงครามที่ไม่ต้องใช้ปืน” โดยชัยชนะที่ได้มา ก็ให้ความรู้สึกคล้ายกับความรู้สึกของการชนะสงครามมากที่สุด โดยไม่ต้องมีผู้ใดเสียสละชีวิตตนเองเพื่ออุดมการณ์นั้นเหมือนสมัยก่อน

 

 

     หนึ่งในเหตุการณ์ที่ชัยชนะของกีฬานำไปสู่ความภูมิใจ และการรวมชาติคือรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 1995 ซึ่งประเทศแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยผู้นำชาติในปีนั้นคือ เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศ ซึ่งเนลสัน มองเห็นโอกาสในการรวมชาติโดยใช้กีฬารักบี้ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความกดขี่คนผิวสี เนื่องจากรักบี้เป็นกีฬาของคนผิวขาว มาใช้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชากรผิวสีและผิวขาวในชาติ

     ขณะนั้นประเทศแอฟริกาใต้กำลังประสบปัญหาความรุนแรงระหว่างคนผิวสีและผิวขาวอย่างหนักก่อนเริ่มการแข่งขันรักบี้ แต่สุดท้ายด้วยการใช้ความสามารถทางการประชาสัมพันธ์กีฬารักบี้ และความเป็นผู้นำผิวสีที่พร้อมให้อภัยคนผิวขาวที่เคยกดขี่เขามาก่อน เนลสัน ก็รวมชาติแอฟริกาใต้ได้สำเร็จ ด้วยการสนับสนุนทีมรักบี้ แอฟริกาใต้คว้าแชมป์โลกเหนือ นิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์ ในปีนั้น

     แต่ชื่อเสียงเกียรติยศความยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น เคยถูกตั้งคำถามเมื่อปี 2016 โดย รอรี่ สไตน์ อดีตบอดี้การ์ดของ เนลสัน แมนเดลา ออกมาเปิดเผยว่าทีม นิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์ ถูกวางยาในปีนั้น จนทำให้แอฟริกาใต้ได้แชมป์โลก

     “ผมรู้ว่าผมเห็นอะไร ทั้งทีมออลแบล็กส์นอนอยู่บนพื้น และมีอาการป่วยอย่างหนัก ผมไม่คิดว่าเป็นเพราะอาหาร แต่ผมเชื่อว่าพวกเขาถูกวางยาในกาแฟ น้ำชา หรือแม้กระทั่งน้ำดื่ม” อดีตตำรวจแอฟริกาใต้ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ New Zealand Herald

     เขาเชื่อว่าทีมแอฟริกาใต้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะก่อนการแข่งขันออลแบล็กส์ดูมีโอกาสชนะมากกว่า แต่สุดท้ายข้อกล่าวหานี้ก็ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ เนื่องจาก คอลิน เมดส์ ผู้จัดการทีมออลแบล็กส์ในปีนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ในปี 1998 ว่า นักกีฬาของพวกเขามีอาการอาหารเป็นพิษจริง แต่เชื่อว่าเกิดจากการรับประทานนมบูด

     แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีข้อกล่าวหาเกิดขึ้น แต่เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการรักบี้โลก เมื่อ เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีผิวสี เดินเข้าสู่สนาม เอลลิส พาร์ก (Ellis Park Stadium) ในรอบชิงพร้อมกับเสื้อสีเขียว ขอบเหลือง ซึ่งยังคงเป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นการสร้างชาติแอฟริกาใต้ ที่ได้รับฉายาต่อจากนั้นว่า The Rainbow Nation ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์ของการรวมใจคนทั้งชาติ ไม่ว่าจะสีผิวไหนก็ตามเข้าด้วยกัน มาจนถึงทุกวันนี้  

 

มาเลเซียกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง

     สถานการณ์ของมาเลเซียแม้จะไม่มีปัญหาการเหยียดสีผิว แต่ปัญหาทางการเมืองของพวกเขาในขณะนี้ก็รุนแรงไม่แพ้กัน โดย นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ถูกกล่าวหาว่ามีปัญหาคอร์รัปชันกองทุนเพื่อการพัฒนามาเลเซีย (1MDB) มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชนชาวมาเลเซียนับพันคนร่วมเดินขบวนประท้วง ภายใต้ชื่อว่า ‘Tangkap Malaysian Official 1’  

     โดยความหมายคือคำว่า ‘Tangkap’ หมายถึง ‘จับกุม’ สะท้อนเป้าหมายหลักของการชุมนุมครั้งนี้ นั่นคือการกดดันเจ้าหน้าที่รัฐให้ดำเนินการจับกุม ‘เจ้าหน้าที่มาเลเซียหมายเลข 1’ นั่นก็คือ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียนั่นเอง นอกจากนี้ อดีตผู้นำมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด ยังได้ประกาศพร้อมลงเลือกตั้ง และมั่นใจว่าพรรคฝ่ายค้านจะสามารถโค่นล้มนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้สำเร็จ

     นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจของมาเลเซียก็ไม่มีความมั่นคงเช่นกัน โดยจากรายงานเมื่อปี 2016 มาเลเซียประสบปัญหาค่าเงินริงกิตตกต่ำสุดตั้งแต่ปี 1998  เนื่องจากสภาพเศรษฐิกิจที่ซบเซา  

 

 

     ทำให้มาเลเซียภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค มีปัญหาภายในประเทศอย่างหนักทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งดูแล้วทุกอย่างต่างก็เป็นปัญหาที่ซับซ้อน และต้องใช้ระยะเวลานานในการแก้ไข แต่ในขณะเดียวกัน การแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ ก็ถือเป็นโอกาสไม่ต่างกับรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 1995 ที่ แอฟริกาใต้สามารถเอาชนะ ออลแบล็กส์ ทีมที่ขึ้นชื่อว่าเก่งที่สุดในโลกได้ในขณะนั้น แต่ในครั้งนี้หากมาเลเซียสามารถล้มไทยหรือชาติอื่นๆ และก้าวขึ้นเป็นเจ้าอาเซียนได้ ความภูมิใจในความสำเร็จครั้งนี้ อาจกลายเป็นอีกหนึ่งผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจชั่วคราวให้กับชาวมาเลเซียได้

     ถึงแม้ว่าจะมีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และเจ้าภาพก็มีแรงจูงใจที่ชี้ไปที่ความต้องการเป็นเจ้าเหรียญทองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในประเทศ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ผู้คนชาติอื่นหรือแม้กระทั่งประชากรในประเทศ และนักกีฬาจะจดจำได้อาจไม่ใช่ชัยชนะของเจ้าภาพ แต่กลายเป็นความไม่ยุติธรรมในการแข่งขัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ในการแข่งขันกีฬาอะไรก็ตาม

 

กลโกงเจ้าภาพ ซีเกมส์ 2017  

     1. ไม่มีรถบัส บริการให้กับทัพนักกีฬาฟุตซอลหญิงไทย ทั้งที่นัดเวลาไว้ล่วงหน้าแล้ว

 

 

     2. Elena Goh Ling Yin สาวนักเดินทนจากประเทศเจ้าภาพ คว้าเหรียญทองด้วยการออกท่าทางเสมือนกับวิ่ง ในการแข่งขันกรีฑาประเภทเดินทน 10,000 เมตรหญิง รอบชิงชนะเลิศ.

 

 

     3. วาสนา คูทวีทรัพย์ หนึ่งในทีมยิงธนูทีมชาติไทย ซึ่งมีความผิดปกติเกี่ยวกับขา ต้องเดินไปเก็บลูกธนูด้วยตัวเอง ทั้งที่ตามหลักสากล จะอนุญาตให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก กรณีมีนักกีฬาพิการเข้าร่วม

     4. ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทย รอรถบัสถึง 4 ชั่วโมง หลังจากเดินทางถึงสนามบินมาเลเซีย

 

     5. เจ้าภาพไม่พร้อมถ่ายทอดสดกีฬาที่ตนเองไม่ได้แข่งขัน หรือถ้ากีฬาที่เจ้าภาพไม่มีโอกาสถึงเหรียญทอง ก็ไม่ต้องถ่ายทอด

     6. เกิดอุบัติเหตุรถนักกีฬาสคว๊อชทีมชาติไทยประสบอุบัติเหตุถูกรถนักกีฬาเมียนมา ชนเข้าอย่างจัง ส่งผลให้นักกีฬาทั้งสองชาติได้รับบาดเจ็บ นักกีฬาไทยบาดเจ็บเล็กน้อย จนทำให้ทัพนักกีฬาไทยต้องขอเลื่อนการแข่งขัน ขณะที่ทัพเมียนมา ต้องขอถอนตัวออกจาการแข่งขัน

     7. การแข่งขันยิมนาสติกอุปกรณ์ม้าหูชาย ชิง 1 เหรียญทอง ทางเจ้าภาพส่งนักกีฬาทำการแข่งขัน 2 คน ประกอบด้วย ตัน ฟู เจี่ย และ เจเรเมีย ลู แต่ผลการแข่งขันออกมา นักกีฬาเจ้าภาพได้คะแนนเท่ากันที่ 13.650 คะแนน และ คว้าเหรียญทองไป 2 เหรียญ ทั้งที่รายการนี้มีชิงแค่เหรียญเดียว

     8. “เจ้าปาร์ค” สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ นักทศกรีฑาทีมชาติไทย และทีมชาติอื่นๆ ทำการลงแข่งขันทศกรีฑา ประเภทกระโดดสูง แต่กลับต้องจดคะแนนที่ตัวเองทำได้ ลงบนสกอร์บอร์ดที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ให้ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดซีเกมส์ในครั้งนี้เป็นไปตามหลักสากลหรือไม่

     9. มาเลเซีย มีคำสั่งแบนห้าม เคน เอ็ดวิน ซินเบอร์น ลูกครึ่งไทย-สวีเดน นักฮอกกี้น้ำแข็งทีมชาติไทย ลงแข่งขันในรายการนี้ หลังเจ้าตัวถือพาสปอร์ต 2 เล่ม พาสปอร์ตไทย และ สวีเดน ทั้งที่ เคน เอ็ดวิน เคยลงแข่งขันในนามทีมชาติไทยที่ เอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาวที่ ซัปโปโร่มาแล้ว

     10. ขอตัดการแข่งขันกีฬาหลายชนิดเนื่องจากเจ้าภาพนักกีฬาไม่พร้อม และ ไม่มีลุ้นเหรียญทอง เช่นมวยสากลหญิง ตะกร้อทีมเดี่ยวชาย และ มาราธอน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X