×

เกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา เมื่อหลายประเทศเจอสัตว์ทะเลนอนตายเกลื่อนหาด

29.03.2023
  • LOADING...
สัตว์ทะเลตายเกลื่อนหาด

ทะเลโลกกำลังจะตาย…คำพูดนี้อาจไม่ได้กล่าวเกินจริงไปเลยแม้แต่น้อย

 

เมื่อปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้เป็นสักขีพยานต่อภาพอันน่าหดหู่ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ต่างถูกพัดมาเกยตื้นตายเกลื่อนชายหาดทั่วโลก ฟลอริดาเจอกับฝูงปลาที่ลอยตายเต็มชายหาด ยักษ์ใหญ่ที่ควรอยู่ใต้ทะเลลึกอย่างวาฬถูกพัดมาเกยตื้นตายในนิวเจอร์ซีย์ ขณะที่สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยอย่างเม่นทะเล ดาวทะเล และกุ้งเครย์ฟิชถูกซัดมาเกยตื้นตายเกลื่อนหาดในนิวซีแลนด์ 

 

สถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายเหตุการณ์อันน่าสลดที่ไม่สามารถไล่เรียงได้หมด ภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราสรุปสั้นๆ ได้เพียงว่า ‘สัตว์ทะเลทั่วโลกกำลังจะตายลงเรื่อยๆ’ ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญเร่งสาละวนไขปริศนาให้ได้ว่า เหตุใดจึงเกิดเรื่องน่าเศร้ากับพวกมัน 

 

ในที่สุด พวกเขาก็พบคำตอบว่า ‘ภาวะโลกรวน’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สัตว์น้ำเหล่านี้ตายผิดปกติ เพราะมันทำให้เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (Algae Bloom) มากขึ้นกว่าเดิม ตลอดจนเหตุการณ์อื่นๆ ที่ทำให้สัตว์น้ำขาดออกซิเจน ขณะที่อุณหภูมิของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นและคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมท้องทะเลก็ยังส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการหากินและอยู่อาศัยไปจากเดิม และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้เลยคือกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ รวมถึงการขนส่งทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งคาดว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับการตายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของสหรัฐอเมริกา

 

  • ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งคร่าชีวิตสัตว์น้ำหลายพื้นที่ทั่วโลก

 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดาเจอกับเหตุการณ์ ‘กระแสน้ำสีแดง’ ที่เกิดจากปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง ส่งผลให้ปลาลอยตายเต็มชายฝั่ง ขณะที่ซานฟรานซิสโกก็เผชิญกับเหตุการณ์เดียวกันนี้จนทำให้มีปลาหลายพันตัวตายเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้สาหร่ายเหล่านี้เติบโต นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า เมื่อกระแสลมที่พัดผ่านมหาสมุทรได้พัดเอาผิวน้ำส่วนบนออกไป จะทำให้มวลน้ำส่วนล่างซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารไหลเข้ามาแทนที่มวลน้ำส่วนบน หรือที่เรียกว่ากระบวนการน้ำผุด (Upwelling) ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยแหล่งอาหารที่เอื้อให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดี ก่อนที่สาหร่ายเหล่านี้จะถูกคลื่นซัดเข้ามาใกล้ชายหาดจนทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีแดง 

 

รายงานระบุว่า สาหร่ายชนิดนี้จะปล่อยสารพิษที่มีชื่อว่า Brevetoxins ซึ่งจะเข้าทำลายระบบประสาทของสัตว์ทะเลและทำให้พวกมันล้มตาย รวมถึงนกที่มากินซากปลาก็จะไม่รอดด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น แพสาหร่ายที่ลอยหนาแน่นยังบดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ส่องไปถึงพืชน้ำใต้ทะเล และทำให้ปลาขาดออกซิเจนในที่สุด

 

หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ว่า ภาวะโลกรวนจะส่งผลให้ ‘ระยะเวลาและความรุนแรง’ ของกระบวนการน้ำผุดบริเวณแนวชายฝั่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางเปลี่ยนในทิศทางที่ดี แต่กลับจะยิ่งทำให้ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ มากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นจากภาวะโลกรวนยังกระตุ้นให้สาหร่ายที่เป็นอันตรายชนิดอื่นๆ เติบโตได้ดีขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่เป็นพิษ ซึ่งชอบอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิอุ่น

 

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วและพายุรุนแรง ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเลวร้ายหนักขึ้นกว่าเดิมในอนาคตนั้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง เพราะกระแสลมแรงมีส่วนทำให้เกิดการชำระล้างผิวดิน ส่งผลให้แร่ธาตุต่างๆ ที่สะสมอยู่ในดินกระจายตัวลงสู่ผิวน้ำ รวมถึงฟอสฟอรัสที่มาจากปุ๋ย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสาหร่าย

 

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งเป็นตัวการที่ทำให้สัตว์ทะเลหลายชนิดล้มตาย รวมถึงเม่นทะเล ดาวทะเล และกุ้งเครย์ฟิช ที่ขึ้นมาลอยตายเกยตื้นในชายฝั่งตะวันออกของนิวซีแลนด์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับช่วงฤดูร้อนในซีกโลกใต้ที่มีพายุรุนแรง

 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ไม่ใช่แค่สภาพแวดล้อมชายฝั่งเท่านั้นที่เสี่ยงต่อการเกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งที่เป็นอันตราย เพราะภัยแล้งจากภาวะโลกรวนก็อาจทำให้ปัญหานี้ผุดขึ้นในแหล่งน้ำจืดได้เช่นเดียวกัน อย่างที่เห็นในทะเลสาบน้ำจืดของสหรัฐอเมริกาในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ‘มนุษย์’ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง โดยนักวิจัยชาวเยอรมันกล่าวว่า การเบ่งบานของสาหร่ายสีทองหายากอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลาจำนวนมหาศาลในแม่น้ำโอเดอร์ (Oder) ที่ไหลตามแนวชายแดนระหว่างเยอรมนีและโปแลนด์ตายลงเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สาหร่ายโตนั้น ก็เพราะโรงงานอุตสาหกรรมได้ปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำ ซึ่งมีการเจือปนสารเคมีที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพวกมันด้วยนั่นเอง

 

  • ทะเลร้อน ส่งผลเพนกวินตายเกลื่อนหาด

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่เพนกวินสีน้ำเงินตัวน้อยนับร้อยล้มตายเกลื่อนที่พื้นที่แนวชายฝั่งของนิวซีแลนด์ 

 

เจ้าหน้าที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ในพื้นที่กล่าวว่า ภาวะโลกรวนอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พวกมันตาย เพราะโดยปกติแล้วเพนกวินชนิดนี้จะกินปลากะตักและปลาซาร์ดีนเป็นอาหาร และสามารถดำน้ำได้ลึก 20-30 เมตรเพื่อจับเหยื่อ แต่อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้ปลาเหล่านั้นอพยพไปยังแหล่งน้ำที่เย็นกว่า ซึ่งลึกเกินกว่าที่เพนกวินจะดำไปถึงได้ โดยสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแห่งนิวซีแลนด์เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคม 2022 ว่า อุณหภูมิของน่านน้ำรอบๆ ประเทศพุ่งสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ส่งผลให้พวกมันเริ่มขาดอาหารหนักขึ้นเรื่อยๆ

 

แกรม เทย์เลอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านนกทะเลจากกรมการอนุรักษ์แห่งนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า สภาพของเพนกวินที่ตายบนชายหาดผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก “พวกมันไม่เหลือไขมันในร่างกาย ซึ่งโดยปกติเพนกวินควรจะมีชั้นไขมันเพื่อเป็นฉนวนให้ร่างกายอบอุ่น แต่พวกมันกลับไม่มีไขมัน และเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อก็เหลือน้อยมาก” นอกจากนี้เพนกวินที่ตายยังมีน้ำหนักน้อยกว่าครึ่งของที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกมันไม่สามารถดำน้ำลึกได้

 

ปัญหาทะเลร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับเพนกวินเท่านั้น แต่สัตว์น้ำอื่นๆ ก็เผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายไม่แตกต่างกัน โดยสภาพของปลามังกรทะเลใบหญ้า (Phyllopteryx taeniolatus) ตอนนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะนักวิจัยพบว่าจำนวนประชากรของพวกมันลดลงถึง 57% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาในทุกพื้นที่ที่มีการเฝ้าสำรวจ รวมถึงดาวทะเลและเม่นทะเลที่ประสบกับปัญหาจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ข้อมูลจาก NASA ระบุว่า ทะเลโลกดูดซับความร้อนส่วนเกินถึง 90% ที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่สัตว์ทะเลทุกสปีชีส์ราว 1 ใน 3 ของโลกอาจหายล้มหายตายจากเราไปหมดภายในระยะเวลา 300 ปี 

 

น่าเศร้าอย่างยิ่งที่สัตว์เหล่านี้ถูกฆ่าให้ตายในแหล่งที่อยู่อาศัยของตัวเอง

 

  • มนุษย์ตัวเล็ก ผู้คร่าชีวิตยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเล

 

ในปีที่ผ่านมา โลกได้รับรู้ถึงโศกนาฏกรรมใหญ่ เมื่อมีวาฬและโลมาจำนวนไม่น้อยที่ถูกพัดมาเกยตื้นชายฝั่งตายอยู่หลายครั้ง โดยมีวาฬหลังค่อมมากกว่าสิบตัวและวาฬไรต์แอตแลนติกเหนือที่ใกล้สูญพันธุ์หลายตัวเกยตื้นบนหรือใกล้กับชายหาด ไล่ตั้งแต่นอร์ทแคโรไลนาไปจนถึงนิวยอร์ก ระหว่างช่วงเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมีนาคม ขณะที่มีรายงานว่ามีโลมา 8 ตัวตายอยู่ที่ชายฝั่งในรัฐนิวเจอร์ซีย์เมื่อไม่นานมานี้

 

เจ้าหน้าที่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมหาสมุทรและสภาพเคมีของน้ำ ซึ่งสาเหตุมาจากภาวะโลกรวน อาจบีบให้ปลาที่เป็นอาหารของวาฬมาหากินเข้าใกล้ชายฝั่งมากขึ้น ทำให้วาฬต้องเคลื่อนตัวเข้ามาทับซ้อนกับพื้นที่ของมนุษย์ และมีความเสี่ยงสูงที่จะชนกับเรือขนส่งจนเกิดแผลใหญ่หรือตายได้ เพราะจากการชันสูตรพลิกศพวาฬเหล่านั้น มีหลายตัวที่พบว่าตายเพราะชนเข้ากับเรือ 

 

นอกจากนี้ บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้แสดงความกังวลว่ากิจกรรมที่ปูทางก่อนการก่อสร้างโครงการกังหันลมนอกชายฝั่งอาจส่งผลกระทบต่อวาฬด้วยหรือไม่ แม้นักวิทยาศาสตร์ของรัฐจะออกมาพูดแล้วว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะทำให้วาฬตายก็ตาม แต่นับตั้งแต่ปี 2016 มีวาฬหลังค่อมตายเยอะผิดปกติในบริเวณที่อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างโครงการดังกล่าว

 

ส่วนเหตุการณ์ที่วาฬกว่า 230 ตัวเกยตื้นที่บริเวณชายฝั่งห่างไกลทางชายฝั่งตะวันตกของรัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย โดยที่กว่าครึ่งเป็นวาฬนำร่อง (Pilot Whale) นั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกมันกันแน่ ซึ่งเป็นปริศนาที่ยังรอคอยการไขคำตอบ เพื่อที่มนุษย์จะได้มีโอกาสช่วยเหลือพวกมันได้อย่างทันท่วงที

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณชัดเจนว่าหายนะกำลังคืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ หากเราทุกคนไม่ร่วมมือกันลดภาวะโลกรวนก็คงถึงวันที่มนุษย์เราจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้

 

ภาพ: REUTERS / Mike Segar

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising