×

แกะรอย SDC หุ้นซิ่ง ‘2 ซิลลิ่ง’ กับโจทย์เทิร์นอะราวด์ธุรกิจ Digital Network ที่ปลุกปั้นมา 3 ปี แต่ยังขาดทุนต่อเนื่อง โบรกเตือนให้ระวังลงทุน

10.08.2021
  • LOADING...
SDC

ติดชาร์ตหุ้นฮอตไปอีกหนึ่งหุ้นสำหรับ SDC หรือ บมจ.สามารถ ดิจิตอล โดยเฉพาะ 2 วันมานี้ที่ราคาหุ้นปรับขึ้นชนราคาสูงสุดของวัน โดยราคาหุ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปิดที่ 0.59 บาท +0.13 บาท หรือ +28.26% มูลค่าการซื้อขาย 96.07 ล้านบาท ส่วนวันนี้ (10 สิงหาคม) ราคาหุ้นปิดตลาดที่ 0.76 บาท +0.17 บาท หรือ +28.81% มูลค่าการซื้อขาย 242.79 ล้านบาท 

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ชวนไปล้วงลึก SDC ว่าปัจจุบันทำธุรกิจอะไร และมีข่าวอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำไมราคาหุ้นจึงปรับตัวขึ้นร้อนแรง เพื่อผู้ลงทุนได้มีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจลงทุนก่อนกระโดดเข้าไปซื้อขาย

 

SDC เดิมคือ บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย หรือ SIM ทำธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ House Brand และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บมจ. สามารถ ดิจิตอล พร้อมกับเปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์เป็น SDC เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 หลังจากบริษัทแม่ (บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART) และคณะผู้บริหาร ประเมินแล้วว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า (2557-2560) ค่อนข้างรุนแรง และไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นในอนาคต ประกอบด้วยยุคดิจิทัลเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงตัดสินใจให้ SIM ‘ยุติ’ การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่โดยมุ่งสู่ดิจิทัลมากขึ้น 

 

ในปี 2561 SDC ได้ให้บริการดิจิทัลเต็มรูปแบบ ผ่านบริการ ‘วิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล’ Digital Trunked Radio System หรือ DigiTrunk รวมถึงให้บริการ ‘ธุรกิจให้เช่าเสาสัญญาณร่วม’ (CO-Tower) แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรมอุทยานทั่วประเทศ ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นการให้บริการร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

 

SDC ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2561 จะมีผู้ใช้บริการ DigiTrunk ไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย และจะเพิ่มเป็น 200,000-300,000 ราย ในอีก 3 ปีข้างหน้า ฉะนั้นจะเริ่มเห็นผลประกอบการของ SDC ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2561 โดยวางเป้าหมายรายได้รวมไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2560 ที่มีรายได้รวม 1,364.17 ล้านบาท และ SDC จะเดินหน้าเข้าสู่ช่วง Turnaround ในปี 2562

 

อย่างไรก็ตาม โจทย์ Turnaround กลับไม่เป็นตามคาด เพราะถ้าย้อนดูผลประกอบการปี 2561 บริษัทมีรายได้ 770 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,122 ล้านบาทในปี 2562 แต่กำไรกลับไม่ฟื้นตาม โดยปี 2561 ขาดทุนสุทธิ -1,596.68 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุนสุทธิ -238.39 ล้านบาท 

 

ส่วนปี 2563 รายได้รวมอยู่ที่ 656 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 และขาดทุนสุทธิ -342.94 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้น

 

โดย SDC อธิบายผลการดำเนินงานว่า ผลประกอบการลดลงเนื่องจาก 

 

  1. ธุรกิจ Digital Network มีรายได้จากการขายและการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายระบบสื่อสารลดลง 

 

  1. ธุรกิจ Digital Content มีรายได้จากการให้บริการข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง ประกอบกับการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้การถ่ายทอดการแข่งขันถูกเลื่อนออกไป ทำให้รายได้จากการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุดบอลในปี 2563 ลดลงจากปี 2562

 

ส่วนผลการดำเนินงานล่าสุด ไตรมาส 1/64 SDC มีรายได้รวม 104 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ -62.96 ล้านบาท รวมทั้งมีขาดทุนสะสม -3,327.73 ล้านบาท ส่วนเงินสดสุทธิ -21.57 ล้านบาท 

 

จนเมื่อเร็วๆ นี้ ความหวังในการ Turnaround ของ SDC ถูกจุดขึ้นอีกรอบ จากข่าวดีล่าสุดที่ SDC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ว่า บริษัทได้ทำสัญญาความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อให้บริการวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล (Digital Trunked Radio System) กับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT 

 

โดย SDC จะได้ส่วนแบ่งรายได้แอร์ไทม์ในฐานะคู่สัญญาความร่วมมือพันธมิตรธุรกิจกับ NT จำนวนไม่เกิน 186 ล้านบาท (รวม VAT) ซึ่งรายได้แอร์ไทม์ขึ้นอยู่กับการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์วิทยุคมนาคมของ NT และพันธมิตรในสัญญา โดยจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการเป็นรายเดือนตลอดระยะเวลา 48 เดือน

 

บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า ข่าวนี้อาจจะเป็นผลบวกต่อ SDC รวมถึงบริษัทแม่อย่าง SAMART ในแง่ของการเซ็นสัญญางานโครงการ DigiTrunk กับลูกค้ารายแรกคือ PEA ซึ่งคาดจำนวนผู้ใช้บริการจาก PEA 9.4 พันรายในปี 2564 และอาจจะได้เห็นการเซ็นสัญญางานโครงการ DigiTrunk กับลูกค้ารายใหญ่ที่สุดรายที่ 2 ซึ่งได้แก่ กระทรวงมหาดไทย มูลค่า 4.3 พันล้านบาทใน 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีจำนวนผู้ใช้บริการ 7.7 หมื่นรายในปี 2564 

 

ภายใต้สมมติฐานระยะเวลาติดตั้งอุปกรณ์ 3-6 เดือน คาดว่า SDC จะรับรู้รายได้ในส่วนของแอร์ไทม์ประมาณ 160 ล้านบาท และรายได้จากเทรดดิ้งเครื่องวิทยุประมาณ 1.9 พันล้านบาทในปี 2564 และถ้าใช้สมมติฐาน Net Margin ของธุรกิจเทรดดิ้งเครื่องวิทยุที่ 3-5% และของธุรกิจแอร์ไทม์ที่ 40-50% มองว่าจะกระทบกำไรสุทธิของ SDC ให้เพิ่มขึ้นอีก 120-175 ล้านบาทในปี 2564 

 

จึงมองว่างานโครงการนี้จะส่งผลให้ SDC มีผลขาดทุนสุทธิที่ลดลงจาก -343 ล้านบาทในปี 2563 เหลือประมาณ -200 ล้านบาทในปี 2564 

 

“แต่การมีลูกค้าหลักเป็นองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐก็เป็นประเด็นที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังต่อไป แม้ว่าตลาด DigiTrunk จะยังเติบโต แต่นโยบายรัฐรวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้” นักวิเคราาะห์รายหนึ่งกล่าว

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น SDC ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมาแล้ว 153.33% โดยเพิ่มจาก 0.30 บาท เป็น 0.76 บาท โดยราคาเริ่มปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในต้นเดือนมิถุยายน จากนั้นปรับตัวลดลงในช่วงต้น-กลางเดือนกรกฎาคม ก่อนจะทะยานขึ้นต่อเนื่องจนทำราคาสูงสุดในวันนี้ 

 

แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์กล่าวว่า ราคาหุ้น SDC ปรับตัวขึ้นชนซิลลิ่งมา 2 วันติดต่อกันแล้ว และมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น คาดว่าจะเป็นการเข้ามาเล่นเก็งกำไรของนักลงทุน หลังจากมีกระแสคนดัง-นามสกุลใหญ่ทั้ง ‘จุฬางกูร-พุ่มพันธุ์ม่วง-เทพผดุงพร’ ถือหุ้นสร้างความคาดหวังว่าอาจทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นคึกคัก แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นหุ้นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังการลงทุนให้มาก

 

โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก (ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564)

  1. สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 82.70%
  2. ณัฐพล จุฬางกูร ถือหุ้น 2.63%
  3. ทวีฉัตร จุฬางกูร ถือหุ้น 1.97%
  4. รชต พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้น 1.53%
  5. ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้น 1.02%
  6. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้น 0.93%
  7. บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 0.76%
  8. อภิศักดิ์ เทพผดุงพร ถือหุ้น 0.33%
  9. สมชาย แซ่อึ้ง ถือหุ้น 0.27%
  10. บริษัท วิไลลักษณ์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 0.27%

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X