×

ลดหน้าจอ สร้างสมอง คำแนะนำจากหมอเด็กถึงพ่อแม่ Gen Alpha

โดย THE STANDARD TEAM
25.07.2025
  • LOADING...
screen-time-impact-kids

ในยุคที่เด็กสามารถเรียนออนไลน์ตั้งแต่ยังพูดไม่ชัด และรู้จัก YouTube ก่อนจะรู้จักหนังสือนิทาน “หน้าจอ” กลายเป็นเพื่อนซี้ที่อยู่ใกล้มือของเด็ก Gen Alpha มากกว่าผู้ใหญ่ในบ้านหลายเท่า

 

แม้เทคโนโลยีจะเปิดโลกการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับเด็ก แต่ในอีกมุมหนึ่ง การใช้หน้าจอโดยไม่มีขอบเขต กลับสร้างผลกระทบทางพฤติกรรม สมอง และพัฒนาการ โดยเฉพาะในวัยเริ่มต้นที่สมองของเด็กยังอยู่ระหว่างการเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่ปรึกษาสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และผู้ก่อตั้ง เน็ตป๊าม้า หลักสูตรออนไลน์สอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก (เลี้ยงลูกเชิงบวก) แพลตฟอร์มหลักสูตรออนไลน์สำหรับพ่อแม่ที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อฝึกฝนทักษะในการปรับพฤติกรรมเชิงบวกให้กับลูก ได้ส่งเสียงเตือนผ่านบทสนทนากับเราว่า

 

“เราไม่ได้ต่อต้านการใช้หน้าจอ แต่เรากำลังพูดถึงการใช้ที่ไม่มีขอบเขต ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวยุคใหม่”

 

บทความนี้จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจปัญหาการใช้หน้าจอที่เกินพอดี พร้อมแนวทางการตั้งกติกา และฟื้นความสัมพันธ์ในบ้าน ให้เทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่ภัยเงียบที่คืบคลาน

 

เมื่อหน้าจอกลายเป็นโลกทั้งใบ: ผลกระทบต่อสมอง พฤติกรรม และพัฒนาการ

 

เมื่อหน้าจอไม่ใช่แค่ของเล่น แต่กลายเป็น “ที่พึ่งทางใจ” ของเด็ก สิ่งที่ตามมาคือพฤติกรรมเสพติดแบบไม่รู้ตัว หลายครอบครัวพบว่าเด็กเริ่มมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าวเมื่อโดนห้ามเล่นมือถือ ขาดสมาธิในการเรียน เก็บตัว นอนดึกตื่นสาย หรือเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่พบในโลกออนไลน์

 

“มีเด็กวัย 2 ขวบ ที่ไม่พูดเลย เพราะพ่อแม่ให้ดู YouTube ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เด็กไม่เคยใช้ภาษาจริงกับมนุษย์เลย”

 

ในมุมของแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญพบว่า การใช้หน้าจออย่างต่อเนื่องในเด็กเล็ก ส่งผลต่อพัฒนาการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการทางภาษา การสื่อสาร และการเข้าสังคม วงจรสมองที่ควบคุมความจำ ความสนใจ และการควบคุมตนเองแย่ลง แถมยังส่งผลต่อสุขภาพตาและการนอนด้วย

 

ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ว่า เด็กไทยอายุ 6–14 ปี กว่า 60% ใช้สื่อดิจิทัลเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเกินกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)

 

“สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่แค่ลูกติดจอ แต่คือสมองของเขาถูกตั้งโปรแกรมใหม่โดยเนื้อหาที่ไร้การกรอง”

 

ตั้งกฎแบบเข้าใจ ไม่ใช่บังคับ: 3 เทคนิคจัดการหน้าจอในบ้าน

 

หากวันนี้พ่อแม่เริ่มรู้สึกว่าหน้าจอกำลังควบคุมบ้านของเราแทนที่จะเป็นตัวเรา ศ.นพ.ชาญวิทย์แนะนำให้เริ่มต้นจาก “การทำความเข้าใจ” ไม่ใช่ “การออกคำสั่ง”

 

“เราไม่ได้แค่ห้ามลูกใช้มือถือ แต่เราต้องอธิบายว่าทำไมต้องจำกัด ชวนให้เขาเห็นผลเสีย แล้วชวนกันวางข้อตกลงในการใช้งาน”

 

3 องค์ประกอบของการตั้งกฎที่ดี

 

  1. สื่อสารให้เข้าใจ: ใช้ภาษาที่เด็กเข้าใจ อธิบายด้วยเหตุผล เช่น “แม่อยากให้ลูกหยุดดูคลิปก่อนนอน เพราะมันทำให้สมองตื่นตัว แล้วนอนหลับยาก”
  2. วางขอบเขตร่วมกัน: เช่น ใช้หน้าจอได้วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังทำการบ้าน หรือไม่ใช้ระหว่างมื้ออาหาร
  3. เป็นแบบอย่าง: พ่อแม่ต้องลดเวลาหน้าจอของตัวเองด้วย เพราะเด็กเรียนรู้จากการดู ไม่ใช่แค่ฟัง

 

“เด็กไม่ได้เชื่อคำพูด เขาเชื่อจากการกระทำของเรา ถ้าเราบอกให้เขาเลิกเล่นมือถือ แต่ตัวเองยังจ้องจออยู่ตลอดเวลา ก็จบเลย”

 

ดึงลูกออกจากจอ…โดยไม่ต้องแบน: วิธีแก้พฤติกรรมเสพติดหน้าอย่างปลอดภัย

 

หลายครอบครัวอาจรู้สึกว่า “มันสายไปแล้ว” เมื่อลูกดูมือถือทั้งวันทุกวัน แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การเปลี่ยนนิสัยของลูกไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขอเพียงเริ่มจากทีละก้าว

 

“อย่าเริ่มจากการยึดมือถือหรือแบนทันที เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งและต่อต้าน”

 

แนวทาง ‘เปลี่ยนไม่ห้าม’ มีขั้นตอนที่พอทำได้จริงในบ้าน เช่น

 

  • พาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ปลูกต้นไม้ ปั่นจักรยาน เล่นกับเพื่อน
  • จัดกิจกรรมในบ้าน เช่น ทำอาหาร อ่านนิทาน เล่นบอร์ดเกม
  • ลดเวลาใช้งานหน้าจอวันละ 10–15 นาที แล้วเพิ่มเวลาเล่นแบบไม่ใช้จอ
  • ไม่ใช้หน้าจอเป็นรางวัลหรือการลงโทษ

เคสหนึ่งที่น่าสนใจคือ ครอบครัวที่พ่อเป็นวิศวกร แม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีลูกวัย 13 ปีที่ติดเกมมาก ทั้งคู่เริ่มจากการ “ตั้งหลัก” โดยแบ่งเวรกันอยู่บ้านกับลูกอย่างจริงจัง คุณพ่อกลับมานั่งดูเกมที่ลูกเล่น และบางครั้งก็ร่วมเล่นด้วย เพื่อเข้าใจโลกของลูกอย่างแท้จริง ขณะที่คุณแม่เปลี่ยนจากการบ่น เป็นการพูดคุยด้วยท่าทีเปิดใจ และใช้ภาษาที่ไม่ตำหนิ เช่น “แม่เห็นว่าลูกดูคลิปนี้บ่อย อยากรู้ว่าลูกชอบตรงไหนเหรอ” จากนั้นทั้งครอบครัวก็เริ่มจัดกิจกรรม outdoor เล็กๆ อย่างไปเดินป่า เล่นกีฬา และตั้งตารางชีวิตประจำวันร่วมกันใหม่ จนสามารถลดเวลาหน้าจอของลูกได้ในระยะเวลา 4–5 เดือน

 

นอกจากนี้ผู้ปกครองสามารถใช้แบบทดสอบออนไลน์ เพื่อประเมินสุขภาพการเล่นเกมของลูกในเบื้องต้นได้ที่ www.healthygamer.net และในเว็บไซต์ยังมีความรู้ดีๆให้ศึกษาเกี่ยวกับการดูแลและป้อนกันลูกติดเกม

 

เลี้ยงลูกยุคดิจิทัล ต้องรู้ทันเทคโนโลยี

 

หน้าจอไม่ใช่ศัตรู หากเราใช้มันอย่างมีสติและรู้เท่าทัน แต่ในช่วงวัยสำคัญที่สมองเด็กกำลังเติบโต การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว การเล่นอย่างอิสระ และการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ยังคงเป็นอาหารสมองที่ดีที่สุด

 

“การเลี้ยงลูกยุคนี้ ต้องไม่สู้กับเทคโนโลยี แต่ต้องฉลาดกว่ามัน และใช้มันเป็นผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้เลี้ยงแทน”

 

ในที่สุด สิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุดอาจไม่ใช่การ์ตูนที่ดีที่สุด หรือแอปพลิเคชันการเรียนรู้ที่ล้ำที่สุด แต่อาจเป็น “ความสนใจและเวลาจริง” จากพ่อแม่

 

ถ้าเราเริ่มต้นจากการฟังลูก เข้าใจลูก และอยู่กับเขาอย่างแท้จริง หน้าจอก็จะกลายเป็นเพียงสิ่งประกอบ ไม่ใช่ศูนย์กลางของชีวิตเขา

หากท่านสนใจหลักสูตรออนไลน์สำหรับพ่อแม่ที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อฝึกฝนทักษะในการปรับพฤติกรรมเชิงบวกให้กับลูก ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.netpama.com/

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising