×

รู้จักแผน 3-3-3 ของ สก็อตต์ เบสเซนต์ ว่าที่ รมว.คลังสหรัฐฯ คนใหม่ ก่อนพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่ง 20 มกราคมนี้

13.01.2025
  • LOADING...
สก็อตต์ เบสเซนต์

ทำความรู้จักแผน 3-3-3 ของ ‘สก็อตต์ เบสเซนต์’ ว่าที่ รมว.คลังสหรัฐฯ คนใหม่ ยุคทรัมป์ 2.0 ก่อนพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 มกราคมนี้ ได้แก่ เพิ่ม GDP 3% ต่อปี ลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 3% ผลิตพลังงานเพิ่ม 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

สก็อตต์ เบสเซนต์ มหาเศรษฐีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เคยทำงานในสายการเงินมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ และยังเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแก่ทีมหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย

 

เบสเซนต์สำเร็จการศึกษาจาก Yale University และมีความตั้งใจที่จะเป็นนักข่าวในตอนแรก โดยเคยเป็นบรรณาธิการของ The Yale Daily News หนังสือพิมพ์ของนักศึกษา Yale University ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางอาชีพไปฝึกงานกับ จิม โรเจอร์ส ผู้จัดการการเงิน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนแรกของ จอร์จ โซรอส และผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนควอนตัม

 

นอกจากเขาจะเคยเป็นผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์หลายกองแล้ว เบสเซนต์ยังเคยสอนที่ Yale University โดยเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับช่วงขาขึ้นและขาลงของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 20 และประวัติศาสตร์ของกองทุนเฮดจ์ฟันด์

 

ปัจจุบันเบสเซนต์อยู่ระหว่างถอนตัวออกจากตำแหน่งซีอีโอและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Key Square Capital Management ที่เขาก่อตั้งขึ้นมา

 

ทำความรู้จักแผน 3-3-3

 

ระหว่างการหาเสียง เบสเซนต์เคยพูดถึงแนวทาง 3 ประการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผชิญภาวะเงินเฟ้อและผลผลิตที่ซบเซา โดยเรียกแผนนี้ว่า ‘แผน 3-3-3’ ที่มีเป้าหมายดังนี้

  1. เพิ่มการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ 3%
  2. ลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 3% ของ GDP
  3. เพิ่มการผลิตพลังงานของสหรัฐฯ เทียบเท่าน้ำมัน 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

วิเคราะห์ที่มาของแผน 3-3-3

 

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แผนการนี้คล้ายกับ ‘นโยบายลูกศร 3 ดอก’ ของ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่มุ่งขจัดภาวะเงินฝืดด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับการเติบโต

 

เนื่องจากเบสเซนต์ถือเป็นลูกศิษย์ของ ‘อาเบะโนมิกส์’ ตั้งแต่สมัยที่เขาเคยเป็นผู้จัดการด้านการเงินแนวหน้าของ จอร์จ โซรอส โดยระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว เบสเซนต์ได้พบกับที่ปรึกษาของอาเบะเป็นประจำ และเดินทางจากนิวยอร์กไปโตเกียวเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้เขายังมีชื่อเสียงจากการเดิมพันค่าเงินเยนอีกด้วย

 

เบสเซนต์เคยเขียนไว้ในบทความของนิตยสาร The International Economy เมื่อปี 2022 ว่า “ผมเชื่อมั่นว่าอาเบะและกลุ่มที่ปรึกษาของเขาจะมุ่งมั่นในการจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดของสำนักงานนายกรัฐมนตรีเพื่อภารกิจอันหลากหลายและท้าทายนี้”

 

แผน 3-3-3 มีโอกาสสำเร็จมากแค่ไหน?

 

อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายของแผน 3-3-3 ‘ไม่ใช่เรื่องง่าย’ และจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น พรรครีพับลิกันตัดสินใจลดภาษีมากเพียงใด ทรัมป์จะขึ้นภาษีมากเพียงใด และตลาดน้ำมันทั่วโลกต้องการน้ำมันมากเพียงใด

 

กระนั้น เจสัน เฟอร์แมน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก Harvard Kennedy School และอดีตประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวว่า “ผมคิดว่าการมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้กำหนดนโยบาย คุณเพียงแค่ต้องมีเป้าหมายเหล่านี้เพื่อให้มองโลกตามความเป็นจริง มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นไปได้และสิ่งที่คุณควรพึ่งพา”

 

ขณะที่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้เพียง 2.8%, 2.2% และ 2.1% ในปี 2024, 2025 และ 2026 ตามลำดับ แม้ยังมีเหตุผลหลายประการที่บ่งชี้ว่าอาจมีแรงหนุนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เดินหน้าไปสู่การเติบโตที่เร็วขึ้นภายใต้การนำของทรัมป์

 

โดยหากทรัมป์ยังคงใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับประเทศอื่นๆ อาจจะกระตุ้นให้คู่ค้าตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีศุลกากรกับสินค้าอเมริกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ

 

เฟอร์แมนยังตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายการเนรเทศ (Deportation) ผู้อพยพของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยทำให้กำลังแรงงานลดลง “ผู้อพยพเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจะส่งผลไปในทิศทางที่แย่” เขากล่าว

 

เป้าหมายด้านการคลังที่ขาด ‘ความสอดคล้อง’ กัน

 

ปัจจุบันการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงอย่างอันตรายที่เกือบ 6.4% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2024 ดังนั้นการที่จะดึงการขาดดุลงบประมาณให้ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งภายในปี 2028 รัฐบาลสหรัฐฯ อาจต้องลดการกู้ยืมลง ลดการใช้จ่าย และเพิ่มภาษีต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม พรรครีพับลิกันกำลังวางแผนที่จะขยายเวลาการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปี และทำให้ความสามารถในการจัดเก็บภาษีอ่อนแอลง

 

ก่อนหน้านี้เบสเซนต์สนับสนุนให้ขยายพระราชบัญญัติการลดหย่อนภาษีและการจ้างงานปี 2017 (The 2017 Tax Cuts and Jobs Act) ซึ่งบทบัญญัติส่วนใหญ่ของกฎหมายจะหมดอายุในช่วงปลายปี 2025 โดยหากปล่อยให้มีผลบังคับใช้ต่อไปรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า และเบสเซนต์เสนอให้ชดเชยด้วยการลดการใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เช่น ลดการใช้จ่ายของ Inflation Reduction Act

 

ทั้งนี้ ทรัมป์พยายามจัดตั้งกระทรวงเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐบาล (Department of Government Efficiency)โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของรัฐบาลกลางและหาวิธีลดการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าข้อเสนอดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับอย่างไร

 

หวังเพิ่มผลิตพลังงาน ลดเงินเฟ้อ?

 

ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะทำให้การผลิตพลังงานเป็นหัวใจสำคัญของวาระทางเศรษฐกิจของเขา โดยมองว่าการปลดพันธนาการอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของสหรัฐฯ จะทำให้ต้นทุนพลังงานลดลงและอัตราเงินเฟ้อจะลดน้อยลง

 

ด้านเบสเซนต์เสนอเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยแนะนำว่าสหรัฐฯ ควรพยายามเพิ่มการผลิตน้ำมันในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 13.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ เพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

กระนั้นเป้าหมายดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาดที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน “มันน่าลำบากใจจริงๆ เพราะบริษัทพลังงานบางแห่งไม่ค่อยตื่นเต้นกับเรื่องนี้มากนัก เพราะถ้าคุณขุดเจาะมากขึ้น ราคาก็จะลดลง” สตีเฟน มัวร์ นักเศรษฐศาสตร์จาก Heritage Foundation กล่าว

 

อ้างอิง:

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X