×

นักวิทยาศาสตร์เสนอล็อกดาวน์เข้ม 50 วัน สลับผ่อนคลาย 30 วัน ช่วยชะลอโควิดและคุ้มครองเศรษฐกิจ

โดย Master Peace
20.05.2020
  • LOADING...

ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก 9 ประเทศที่ศึกษาเรื่องมาตรการล็อกดาวน์ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) เผยแพร่งานวิจัยยุทธศาสตร์มาตรการล็อกดาวน์ใหม่ที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งช่วยลดผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ โดยเสนอให้ใช้มาตรการที่เข้มงวดเป็นเวลา 50 วัน สลับกับผ่อนคลายมาตรการอีก 30 วัน เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ต่อ

 

ปัจจุบันยังมีหลายประเทศที่บังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการระบาด แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายประเทศมองหาแนวทางที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจ

 

ในการศึกษาวิจัยดังกล่าว ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้จำลองสถานการณ์ความหลากหลายของมาตรการล็อกดาวน์ใน 16 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, เม็กซิโก, เบลเยียม, แอฟริกาใต้ และไนจีเรีย ฯลฯ เพื่อศึกษาว่ามาตรการล็อกดาวน์ของประเทศเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อการแพร่ระบาดของไวรัส

 

จากการศึกษา สามารถแบ่งโมเดลจำลองสถานการณ์ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. กลุ่มที่ไม่บังคับใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจำนวนมากเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับไหว จากการวิเคราะห์ยังมีความเป็นไปได้ที่ผลกระทบนั้นอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตใน 16 ประเทศนี้สูงถึง 7.8 ล้านคน ขณะที่ระยะเวลาการระบาดในประเทศเหล่านี้เฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 200 วัน

 

  1. กลุ่มที่ใช้โมเดลหมุนเวียนมาตรการ โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เน้นบรรเทาการระบาดของโรคโควิด-19 (Mitigation Measures) เป็นเวลา 50 วัน สลับกับช่วงผ่อนคลายล็อกดาวน์ 30 วัน ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า การล็อกดาวน์ที่เน้นบรรเทาการระบาดนั้นจะใช้ยุทธวิธีเพื่อค่อยๆ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลง เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม, การล้างมือและฆ่าเชื้อ, การกักตัวผู้ติดเชื้อ, การปิดโรงเรียนและจำกัดการจัดงานหรือกิจกรรมในสถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ 

 

จากการศึกษาพบว่า โมเดลนี้จะช่วยลด R Number หรืออัตราการกระจายเชื้อต่อ 1 บุคคลในทุกๆ ประเทศ เหลือเพียง 0.8 ขณะที่ผลลัพธ์จากการใช้โมเดลนี้ในช่วง 3 เดือนแรก จะเห็นประสิทธิภาพชัดเจน แต่ช่วงหลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์ครั้งแรกจะยังมีจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องรักษาในไอซียูเพิ่มสูงจนเกินกว่าจะรองรับ และยอดผู้เสียชีวิตในทั้ง 16 ประเทศ จะมีจำนวนกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งระยะเวลาการระบาดจะคงอยู่ราว 12 เดือนในประเทศที่รายได้สูง และ 18 เดือนในประเทศที่รายได้น้อยกว่า

 

  1. กลุ่มที่ใช้โมเดลหมุนเวียนมาตรการ โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์และปราบปรามผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด (Suppression Measures) เป็นเวลา 50 วัน ตามด้วยการผ่อนคลายล็อกดาวน์อีก 30 วัน ซึ่งการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดนี้จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้เร็วกว่า ในขณะที่ลดอัตราการกระจายเชื้อต่อ 1 บุคคล เหลือ 0.5 และทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักในไอซียูเพิ่มจำนวนในระดับที่รองรับไหว ขณะที่ระยะเวลาการระบาดจะคงอยู่นานกว่า 18 เดือนในทุกประเทศ

 

แต่ผลลัพธ์ที่สำคัญของโมเดลนี้คือ จำนวนผู้เสียชีวิตใน 16 ประเทศกลุ่มตัวอย่างนั้น จะลดลงเหลือเพียงประมาณ 1.3 แสนคน 

 

รายงานยังระบุว่า หนึ่งในแนวทางที่มีประสิทธิภาพคือ การปรับเปลี่ยนมาตรการที่เข้มงวดด้วยเครื่องมือหน่วงและชะลอการระบาด อย่างการรักษาระยะห่างทางสังคม การตรวจหาเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ การแกะรอยผู้ติดต่อใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และการกักตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องกำหนดระยะเวลาชะลอการระบาดเอง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็น ตลอดจนทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์บังคับใช้มาตรการป้องกันการระบาดอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 3 เดือน เป็นหนทางรวดเร็วที่สุดในการยุติการระบาด ซึ่งประเทศส่วนใหญ่จะสามารถลดการระบาดรายใหม่จนเหลือใกล้เคียง 0 แต่หากใช้แนวทางผ่อนคลายมาตรการเพื่อบรรเทาการระบาด อาจต้องใช้เวลากว่า 6 เดือน เพื่อลดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ใกล้เคียง 0 

 

ทั้งนี้ ราจีฟ ชอว์ดูรี นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และผู้เขียนรายงานดังกล่าว ระบุว่า โมเดลที่ 3 คือการใช้มาตรการเข้มงวดสลับกับการผ่อนคลายมาตรการ จะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ยากไร้มีเวลาหายใจ ด้วยการกลับมาทำงานหาเลี้ยงชีพได้บ้าง 

 

“นั่นอาจจะทำให้โมเดลนี้เป็นทางออกที่ยั่งยืนกว่า โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ยากไร้และขาดแคลนทรัพยากร” ชอว์ดูรีกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising