×

นักวิทย์พบวงจรสะท้อนกลับเกือบ 30 วงจรที่อาจทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงถาวร

โดย THE STANDARD TEAM
20.02.2023
  • LOADING...
วงจรสะท้อนกลับ

ผลการศึกษาใหม่พบว่า วงจรสะท้อนกลับของสภาพภูมิอากาศ (Climate Feedback Loop) ที่เป็นอันตรายกำลังเพิ่มภาวะโลกร้อน และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันไปอย่างถาวร

 

วงจรสะท้อนกลับของสภาพภูมิอากาศเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร (Cyclical Chain Reaction) โดยเกิดขึ้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงหนึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นต่อๆ ไป เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งวงจรสะท้อนกลับเหล่านี้บางส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่บางส่วนก็เพิ่มภาวะโลกร้อน

 

ยกตัวอย่างเช่น น้ำแข็งอาร์กติก อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งทะเล (Sea Ice) ละลาย เผยให้เห็นน้ำทะเลสีเข้มที่อยู่เบื้องล่าง และเนื่องจากพื้นผิวสีเข้มดูดซับความร้อนได้มากกว่าพื้นผิวสะท้อนแสงอย่างน้ำแข็ง มหาสมุทรจึงอุ่นขึ้นและน้ำแข็งละลายมากขึ้น

 

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยออริกอนสเตทในสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ในอังกฤษ และสถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบทางภูมิอากาศของเยอรมนี ได้เฝ้าศึกษาวรรณกรรมวิจัยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศจนพบวงจรสะท้อนกลับของสภาพภูมิอากาศ 41 วงจร

 

ในจำนวนนี้พวกเขาพบว่า มีอยู่ 27 วงจรที่กำลังทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ตามผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ One Earth เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 กุมภาพันธ์) ขณะที่มีเพียง 7 วงจรเท่านั้นที่ช่วยชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

 

วิลเลียม ริปเปิล ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยออริกอนสเตท และผู้เขียนนำของงานศึกษาวิจัย กล่าวกับ CNN ว่า การตายของผืนป่า พื้นที่พรุที่ถูกเผาไหม้และมีเปลวไฟคุกรุ่น และการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง เป็นวงจรสะท้อนกลับที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ

 

“วงจรสะท้อนกลับเหล่านี้อาจมีขนาดใหญ่และยากที่จะวัดปริมาณได้อย่างแม่นยำ” ริปเปิลกล่าวกับ CNN พร้อมกล่าวเสริมว่า บรรดานักวิจัยรู้สึกประหลาดใจที่พบวงจรสะท้อนกลับจำนวนมากที่เพิ่มภาวะโลกร้อน 

 

“เท่าที่เราทราบ นี่คือรายการวงจรสะท้อนกลับของภูมิอากาศที่ครอบคลุมกว้างขวางที่สุดที่มีการค้นพบ และไม่ใช่ทั้งหมดที่ได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดในแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ” คริสโตเฟอร์ วูล์ฟ นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออริกอนสเตท และอีกหนึ่งผู้เขียนนำของการศึกษานี้ กล่าวในแถลงการณ์

 

ผลการศึกษาพบว่า วงจรสะท้อนกลับของสภาพภูมิอากาศสามารถส่งผลกระทบทางอ้อมซึ่งกันและกัน โดยการสร้างเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงที่โยงใยกันอย่างซับซ้อน และสามารถเร่งผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้

 

ตัวอย่างเช่น มลพิษจากภาวะโลกร้อนที่ถูกปล่อยออกมาจากการละลายของเพอร์มาฟรอสต์ (Thawing Permafrost) ซึ่งเป็นชั้นดินเยือกแข็งที่ปกคลุมอาร์กติกและส่วนอื่นๆ ทางตอนเหนือสุดของโลก ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาคือสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งกว่าเดิม ทำให้ไฟป่าลุกลามเร็วขึ้นและเผาผลาญรุนแรงขึ้น ไฟป่าปล่อยมลพิษที่ทำให้โลกร้อน อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และอื่นๆ อีกมากมาย

 

การเชื่อมโยงระหว่างกันเหล่านี้ “ทำให้การคาดการณ์ผลกระทบที่แม่นยำของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องท้าทาย” ริปเปิลกล่าว

 

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่วงจรสะท้อนกลับเหล่านี้บางส่วนอาจทำให้เกิดจุดพลิกผันด้านสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น วงจรสะท้อนกลับที่เร่งให้น้ำแข็งอาร์กติกละลาย อาจเป็นสาเหตุให้แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์พังทลายลงในที่สุด

 

“ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากวงจรสะท้อนกลับแบบที่เพิ่มภาวะโลกร้อนมีความแข็งแกร่งมากพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นหายนะเกินกว่ามนุษย์จะควบคุมได้” ริปเปิลกล่าวในแถลงการณ์

 

อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกันการศึกษายังพบวงจรสะท้อนกลับ 7 วงจร ซึ่งช่วยให้ระบบภูมิอากาศมีเสถียรภาพ อาทิ ความสามารถของผืนดินและมหาสมุทรในการดูดซับการปล่อยคาร์บอนที่ทำให้โลกร้อน

 

ทิม เลนตัน ประธาน Climate Change and Earth System Science แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ และหนึ่งในผู้เขียนร่วม กล่าวกับ CNN ว่า สิ่งสำคัญคือการรับมือกับความแข็งแกร่งของวงจรสะท้อนกลับเหล่านี้ และทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่าวงจรเหล่านี้ทำงานภายในระบบภูมิอากาศที่ซับซ้อนอย่างไร

 

“มีแนวโน้มที่เราจะข้ามจุดพลิกผันหลายจุด ทำให้เกิดวงจรสะท้อนกลับที่จะทำให้ทางเลือกสำหรับการมีสภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัยในอนาคตยิ่งน้อยลงไปอีก” โยฮัน ร็อกสตรอม ผู้อำนวยการสถาบันพอตสดัม และผู้เขียนร่วมของการศึกษา กล่าวกับ CNN

 

ทีมผู้เขียนงานวิจัยเรียกร้องให้มีการลดมลพิษที่ทำให้โลกร้อนอย่างขนานใหญ่และในทันที รวมถึงการทำวิจัยเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับวงจรสะท้อนกลับของสภาพภูมิอากาศ

 

“มันสายเกินไปที่จะป้องกันความเจ็บปวดจากภาวะโลกรวนได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราดำเนินมาตรการที่ส่งผลอย่างมีนัยโดยเร็ว รวมทั้งให้ความสำคัญกับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์และความยุติธรรมทางสังคมไปพร้อมกันด้วยนั้น ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะจำกัดอันตรายนั้น” ริปเปิลกล่าว

 

ภาพ: Ian Waldie / Getty Images

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising