×

School Town King หนังสารคดีสะท้อนระบบการศึกษาไทย ที่สร้างบาดแผลให้เราทุกคนไม่ต่างกัน

28.11.2021
  • LOADING...
School Town King

School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน สารคดีปี 2563 ที่ Netflix เพิ่งนำมาให้รับชมกันเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือผลงานของผู้กำกับ เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และโปรดิวเซอร์ นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล สองผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน พร้อมกวาดรางวัลมาแล้วหลายเวที ทั้งภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จากเวทีสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29, ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 11, ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม จากคมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 17

 

สารคดีพาไปติดตามชีวิตของ บุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ Eleven Finger และ นนท์-นนทวัฒน์ โตมา หรือ Crazy Kid เด็กหนุ่มสองคนผู้ฝันอยากเป็นแรปเปอร์ชื่อดัง ภายใต้ความแออัดของชุมชนคลองเตยที่คนนอกมักตัดสินด้วยสายตาแบบหนึ่ง ระบบการศึกษาในโรงเรียนที่มองข้ามความสามารถอื่นๆ นอกจากเกรดสวยๆ ผู้ใหญ่รอบตัวที่คาดหวังให้เด็กตั้งใจเรียนอยู่ในกรอบ ปัจจัยเหล่านั้นกลายเป็นความอัดอั้นให้พวกเขาหยิบมาเล่าผ่านไรห์มที่กลั่นจากชีวิตจริง

 

สลัมคลองเตย เพลงของนนท์โด่งดังขึ้นมาบนโลกออนไลน์จนมียอดวิวหลักล้าน เริ่มมีคนรู้จักทั้งสองคนมากขึ้นผ่านเวทีต่างๆ พวกเขาได้รับคำชม ได้เงินตอบแทน ไฟฝันลุกโชนสว่างให้เส้นทางการเป็นแรปเปอร์ แต่พอเดินไปถึงจุดหนึ่งก็ได้เรียนรู้ว่าระบบการศึกษาและสภาพสังคมแวดล้อมไม่ได้เอื้ออำนวยให้เด็กมีทางเลือกชีวิตมากนัก

 

“ระบบการศึกษาตราหน้าคนที่ลาออกจากโรงเรียนว่าเป็นเด็กเกเร เป็นเด็กที่เรียนไม่ดี เป็นเด็กที่ไม่เอาถ่าน แต่ระบบการศึกษาไม่เคยโทษระบบตัวเองเลยว่าเป็นระบบห่วยแตกที่ทำให้เด็กต้องลาออก

 

เด็กบางคนต้องยอมเอามีดแทงความฝันตัวเองให้ตายไป กักขังทัศนคติของเขา กักขังความรู้สึกดีๆ ที่เขาอยากทำตามความฝัน แล้วใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนอย่างไม่มีความสุขเพื่อที่จะได้ใบปริญญาใบเดียว

 

เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะเขาต้องการให้ครอบครัวภูมิใจ แค่นั้นเอง”

 

 

อีกหนึ่งคนสำคัญในสารคดีเรื่องนี้คือ วิว-มุกริน ทิมดี ประธานนักเรียนหญิงที่เหมือนอยู่ขั้วตรงข้ามกับบุ๊คและนนท์ เธอตั้งใจเรียนเพราะอยากคว้าปริญญามาเป็นใบเบิกทางเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น อยากเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่อยากโดนตีตราว่าเป็นคนในชุมชนคลองเตยแล้วจะต้องเป็นโจรหรือคนขี้ยา ค่านิยม 12 ประการของ คสช. ถูกเอ่ยออกมาพร้อมกับนิยามของคำว่า ‘เด็กดี’ ที่วิวบอกว่า คือคนที่ให้เกียรติคน ใฝ่รู้ กระตือรือร้น พยายาม

 

แต่ในโลกความเป็นจริง ต้องพยายามเท่าไรถึงจะพอ?

 

ไม่นานมานี้ School Town King เพิ่งทำโปรเจกต์ชื่อ 1 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง พาเราไปดูการเติบโตของนนท์ บุ๊ค และวิว ในช่วงเวลาที่โรคโควิดยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน ซึ่งพวกเขาก็เป็นคนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสไม่ต่างจากใครๆ

 

ความชอบด้านเพลงของนนท์เปลี่ยนไปบ้าง เช่นเดียวกับความสนใจด้านการศึกษา เขาจบมัธยมต้นและเลือกเรียนบริหารธุรกิจที่วิทยาลัยใกล้บ้าน แม้ใจจริงจะอยากเรียนด้านกฎหมายเพื่อช่วยเหลือคน แต่ก็อาศัยเรียนตาม YouTube แทน

 

บุ๊คที่ลาออกจากโรงเรียนมีเป้าหมายแข็งแรงกว่าเดิม คืออยากใช้เพลงแรปเป็นกระบอกเสียงพูดถึงปัญหาสังคมแทนผู้คนที่ไม่มีโอกาสได้พูด อย่างที่เราได้เห็นเขาต่อสู้ในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลและถูกตั้งข้อหาเกือบ 10 คดี

 

ส่วนวิวที่เคยมุ่งมั่นอยากเข้ามหาวิทยาลัย วันนี้เธอเลือกออกมาทำงานแทนการเรียนต่อ เพราะไม่พร้อมเรียนออนไลน์ วิวบอกว่าตัวเอง “เหมือนกบในกะลา” ที่ตอนนี้กะลาได้แตกออกแล้วและมองเห็นอะไรกว้างกว่าที่เคย

 

 

ลายเส้นตัวอักษรดิบๆ ใน School Town King ทำให้นึกถึงการ์ตูนที่ตีพิมพ์เมื่อปีก่อนเรื่อง การศึกษาของกระป๋องมีฝัน ผลงานของ สะอาด (ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์) ว่าด้วยเรื่องของเด็กชายผู้ฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน ภายในโรงงานการศึกษาที่มุ่งผลิตแรงงานเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม

 

เจ้านักเรียนกระป๋องและเราอีกหลายคนอาจมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องดิ้นรนทางการเงินมากนัก ก็ยังมีประสบการณ์ร่วมที่ได้แต่ตั้งคำถามซ้ำๆ ว่า ทำไมการศึกษาไทยไม่เคยหยุดสร้างบาดแผลให้เด็กเลย

 

เด็กจำนวนมากยังถูกโบยตีจากระบอบอำนาจนิยมภายในโรงเรียนที่ให้คุณค่ากับกฎระเบียบ ทรงผม การแต่งกาย สีถุงเท้า ชื่นชมเด็กที่มีความสามารถยืนเข้าแถวได้ตรงไหล่คนข้างหน้าเป๊ะ หรือกระทั่งไม่กระหายน้ำเปล่าเลยในเวลาเรียน เคี่ยวกรำและคาดหวังกับเด็กเก่งวิชาการ มากกว่าจะให้ความสำคัญจริงๆ ว่าเด็กแต่ละคนสนใจด้านไหน มีศักยภาพทำอะไรได้บ้าง

 

บางส่วนร่วงหล่นจากสายพานการศึกษาไปอย่างไม่เต็มใจ เพราะไม่เหลือต้นทุนให้ความฝันหรือการเรียนอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะในยุคโควิดที่เงินค่าเช่าบ้านและปากท้องย่อมสำคัญกว่าอุปกรณ์เรียนออนไลน์ ในขณะที่รัฐบาลอนุมัติเงินภาษีของประชาชนไปซื้อ iPhone 12 ให้ข้าราชการขั้นสูง

 

บางส่วนไม่เคยมีโอกาสได้ก้าวเข้าไปหาการศึกษาตั้งแต่แรกเลยด้วยซ้ำ “ไม่ขายยาก็อยู่ในคุก” เด็กหนุ่มนิรนามใต้ทางด่วนคลองเตยตอบแบบนั้น เมื่อถูกถามว่ามองอนาคตตัวเองในอีก 15 ปีอย่างไร

 

บางส่วนพยายามเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลงด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขหลักสูตรการศึกษา รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ (ซึ่งต้องย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย) แต่เยาวชนเหล่านั้นกลับถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำราวกับก่ออาชญากรรมร้ายแรง

 

ภายใต้ระบบการศึกษาแบบไทยๆ มีใครบ้างที่อยู่รอดได้โดยไม่เคยเจ็บปวดอะไรเลย

 

 

ใบปริญญาไม่ใช่สิ่งการันตีความสำเร็จ และทุกวันนี้ความรู้มากมายก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนแคบๆ อีกต่อไป แต่สุดท้ายแล้วผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งที่ควรจะเป็นจริงๆ คือระบบที่ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและได้รับการส่งเสริมความสามารถอย่างรอบด้านตั้งแต่แรก ไม่ใช่ระบบที่ยิ่งผลักไสเด็กให้รู้สึกแปลกแยกออกไปเรื่อยๆ

 

เราหวังว่าความตั้งใจของทีมงานจากสารคดี School Town King รวมถึงคนอื่นๆ ที่กำลังใช้ความสามารถของตัวเองมาช่วยกันขับเคลื่อนสังคมผ่านทุกคำพูด ทุกผลงาน จะจุดประกายจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางใดทางหนึ่ง ให้เด็กนักเรียนอย่าง บุ๊ค นนท์ วิว คนในชุมชนคลองเตย รวมถึงเราทุกคนยังพอมีความหวังที่จะฝันต่อไปว่า อนาคตที่ดีกว่านี้กำลังรอพวกเราอยู่

 

 

รับชมตัวอย่างสารคดี School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน ได้ที่

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X