×

นักวิชาการเรียกร้องรัฐบาลไทย เร่งช่วยเหลือผู้หนีภัยความไม่สงบในเมียนมา ชี้หลักมนุษยธรรมไม่ใช่การแทรกแซง

31.12.2021
  • LOADING...
รัฐบาลไทย

วันนี้ (31 ธันวาคม) นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จากการปะทะระหว่างกองทัพทหารเมียนมากับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งส่งผลกระทบมายังประชาชนที่อยู่ในชุมชนฝั่งไทย ว่า หากไม่มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาเพื่อยุติการปะทะ ก็มีแนวโน้มที่สถานการณ์จะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะกองทัพเมียนมาต้องการควบคุมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จึงต้องการยึดคืนพื้นที่ โดยยุทธศาสตร์การเมืองรัฐบาลเมียนมาต้องการที่จะบริหารหลังจากได้ทำรัฐประหารมาจะครบ 1 ปี ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาหรือกองกำลังชาติพันธุ์ไม่มีอาวุธมากพอที่จะต่อรอง ไม่มีกองกำลังทางอากาศ จึงปรากฏว่า มีสถานการณ์หยุดยิงอยู่เป็นระยะ ซึ่งเมื่อหยุดยิง กองทัพไทยก็จะผลักดันผู้หนีภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมากลับทุกครั้ง   

 

นฤมลกล่าวถึงท่าทีรัฐบาลไทยว่า รัฐบาลไทยมีท่าทีไม่ต้องการเปิดศูนย์อพยพแห่งใหม่ ไม่อยากเปิดพื้นที่พักพิงถาวร จากเดิมเคยมีพื้นที่พักพิงเมื่อปี 1986 แล้วรัฐบาลไทยพยายามส่งคนเหล่านี้กลับเมียนมา โดยก่อนเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก็มีโครงการส่งกลับโดยสมัครใจ แต่พอเกิดรัฐประหารโครงการก็ยุติลง ในอดีตมีผู้หนีภัยจากการสู้รบ ตอนนี้ใช้คำว่าผู้หนีภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา

 

ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในเชิงนโยบาย ให้เจรจาระหว่างฝ่ายความมั่นคงไทยและเมียนมา เพื่อยุติการปะทะซึ่งกระทบกับไทย และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญด้านมนุษยธรรม นอกจากมีระเบียงเศรษฐกิจแล้ว ควรจะมีระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) เป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งในแง่นโยบายไม่ใช่การแทรกแซงการเมืองภายในของเมียนมา แต่เป็นความช่วยเหลือ เช่น มอบอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคแก่ผู้หนีภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และกลุ่มเปราะบาง โดยรัฐบาลไทยสามารถประสานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และประสานกับประธานอาเซียนคนใหม่คือกัมพูชา เพื่อหาทางยุติสถานการณ์ความรุนแรง  

 

ที่ผ่านมาประเทศในอาเซียนไม่ต้องการแทรกแซงประเทศอื่น เพราะแต่ละประเทศมีปัญหาภายในเรื่องชาติพันธุ์ เช่น ไทยมีปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่ต้องการให้ภายนอกแทรกแซง แต่ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ควรมีบทบาทในเรื่องนี้ 

 

“อย่างที่ทราบว่ามีการสู้รบ และที่น่ากังวลคือมีการใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ ซึ่งสามารถเลือกพื้นที่ทิ้งระเบิดได้ แต่ไม่สามารถแยกทหารกับพลเรือนได้ ทำให้ชาวบ้านต้องหนีเอาชีวิตรอด การใช้อาวุธแบบนี้เป็นปัญหากับพลเรือนอย่างมาก ทั้งที่พลเรือนไม่ควรถูกทำร้ายหรือได้รับผลกระทบจากการสู้รบ” นฤมลกล่าว

 

ภาพ: สติงเกอร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising