เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ได้เสร็จสิ้นการขยายการลงทุนในรูปแบบ Merger & Partnership (M&P) ด้วยการเข้าซื้อหุ้น 100% คิดเป็นมูลค่า 2.9 พันล้านบาท ใน Peute Recycling ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ครอบคลุมทั้งกระดาษรีไซเคิล (RCP) และพลาสติกรีไซเคิล ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามานานกว่า 60 ปีในประเทศเนเธอร์แลนด์
และเมื่อวันที่ 5 กันยายน SCGP ได้เสร็จสิ้นการทำ M&P ด้วยการเข้าซื้อหุ้น 90.1% คิดเป็นมูลค่า 73 ล้านบาท ใน Jordan Trading (Jordan) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่าย RCP คุณภาพสูง ด้วยประสบการณ์นานกว่า 34 ปีในสหรัฐอเมริกา
การลงทุนดังกล่าวช่วยให้ SCGP สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านวัตถุดิบ ปัจจุบัน Peute มีความสามารถในการจัดหา RCP 1 ล้านตันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 2 ล้านตันต่อปีหลังจากเพิ่มความสามารถในการจัดหาในปี 2567 และ Jordan มีความสามารถในการจัดหา RCP 0.1 ล้านตันต่อปี
ในขณะที่ SCGP มีการใช้ RCP 4.4 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน (55% จัดหาภายในประเทศ และ 45% นำเข้าจากสหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น) และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านตันต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ Peute มีรายได้ 9.2 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 120 ล้านบาท ในขณะที่ Jordan มีรายได้ 568 ล้านบาท และกำไร 4 ล้านบาท SCBS ประเมินได้ว่าดีล M&P เหล่านี้จะช่วยหนุนให้กำไรของ SCGP ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 1% ในปี 2565 (แสดงผลประกอบการในงบการเงินรวมตั้งแต่ 3Q65) 1-2% ในปี 2566 และ 2-3% ในปี 2567
ด้านราคาและต้นทุนในตลาดปรับตัวดีขึ้นใน 3Q65TD โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ส่วนต่างราคากระดาษบรรจุภัณฑ์กับต้นทุน RCP ในตลาดกว้างขึ้นสู่ (เพิ่มขึ้น 61%YoY และ 8%QoQ) หลักๆ เกิดจากต้นทุน RCP ที่ลดลงในอัตราที่เร็วกว่าราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยต้นทุน RCP ลดลง เนื่องจากการจัดเก็บดีขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และค่าระวางเรือลดลง
ในขณะเดียวกัน ราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ก็ลดลง QoQ จากต้นทุน RCP ที่ลดลง ท่ามกลางอุปสงค์ที่เปราะบางและสต๊อกระดับสูงในจีน เนื่องจากต้นทุนที่แท้จริงของ SCGP ปรับตัวช้ากว่าราคา RCP ในตลาดจร (Spot) อยู่ 2-3 เดือน ดังนั้นต้นทุน RCP ที่ลดลงจะช่วยสนับสนุนมาร์จิ้นของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในช่วงปลาย 3Q65-4Q65
ส่วนธุรกิจเยื่อกระดาษ ใน 3Q65TD ราคาเยื่อใยสั้นในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 855 ดอลลาร์ต่อตัน (เพิ่มขึ้น 34%YoY และ 5%QoQ) จากความต้องการกระดาษทิชชู เครื่องนุ่งห่ม และบรรจุภัณฑ์อาหารที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนราคาผลิตภัณฑ์และมาร์จิ้นในธุรกิจเยื่อและกระดาษใน 3Q65
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น SCGP ปรับตัวลดลง 2.25%MoM อยู่ที่ระดับ 54.25 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.91%MoM สู่ระดับ 1,631.67 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2565:
ในปี 2565 SCGP ตั้งเป้ารายได้ที่ 1.5 แสนล้านบาท+ (เพิ่มขึ้น 13%YoY) จากการทำ M&P และการขยายกำลังการผลิต (Organic Expansion) และคงงบลงทุนไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท (เทียบกับ 3.1 พันล้านบาทใน 1H65) โดยจะใช้ลงทุนในดีล M&P เพิ่มใน 2H65
ขณะที่ SCGP มองบวกต่อปริมาณการขายใน 2H65 โดยได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ในอาเซียนที่ดีขึ้น และอุปสงค์ในจีนที่ค่อยๆ ฟื้นตัว พร้อมกับการปรับขึ้นราคาในธุรกิจปลายน้ำเมื่อมีการต่อสัญญา ยอดขายที่ดีขึ้นจะช่วยชดเชยต้นทุนพลังงานที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาร์จิ้นของบริษัท
อย่างไรก็ดี SCBS ประเมินผลประกอบการของ SCGP จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องรายไตรมาส โดยคาดว่ากำไรปกติ 3Q65 จะปรับตัวดีขึ้นทั้ง QoQ และ YoY โดยเกิดจากฐานต่ำของปีก่อน (มาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโควิด) บวกกับปริมาณการขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น อีกทั้งยังจะมีกำไรเพิ่มเติมอีก 1-2% จากดีล M&P
ขณะที่คาดกำไรปกติ 4Q65 จะปรับตัวดีขึ้นทั้ง QoQ และ YoY โดยเกิดจากส่วนต่างราคากระดาษบรรจุภัณฑ์กับต้นทุน RCP ที่กว้างขึ้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ แรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราค่าระวางผันผวน และเศรษฐกิจจีนชะลอตัว