×

‘เอสซีจี เคมิคอลส์’ จ่อขายหุ้น ​IPO จำนวน 3,854 ล้านหุ้น ระดมทุนต่อยอดธุรกิจในต่างประเทศ

28.04.2022
  • LOADING...
เอสซีจี เคมิคอลส์

บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนเสริมศักยภาพผู้นำด้านการผลิตเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน ชูศักยภาพเป็นผู้นำเพียงรายเดียวที่มีฐานการผลิตทั้งในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พร้อมวางเป้าหมายขยายผลิตภัณฑ์กลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (GREEN POLYMER) พัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services: HVA) มุ่งนำเสนอสินค้าและบริการตอบสนองอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากเมกะเทรนด์ เดินหน้าโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีแห่งแรกของประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งแรกของปี 2566

 

ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เปิดเผยความคืบหน้าในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าบริษัทได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 

โดย SCGC คาดว่าจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 3,854,685,000 หุ้น (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) อาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) 

 

หุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25.2% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (Pre-Emptive Right) ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ผู้ลงทุนสถาบัน บุคคลที่มีความสัมพันธ์ และ/หรือผู้มีอุปการคุณของ SCGC และ/หรือบริษัทย่อยของ SCGC และ/หรือบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น และผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (หากมี) 

 

ในเบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจในไทยและต่างประเทศ ชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของบริษัท

 

ทั้งนี้ SCGC เป็นผู้นำด้านการผลิตเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนที่มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์กว่า 40 ปี และบริษัทเป็นผู้ผลิตพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) เพียงรายเดียวที่มีการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและขยายผลิตภัณฑ์กลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (GREEN POLYMER) เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 พร้อมมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและโอกาสเติบโตที่ดี รวมถึงเน้นสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง 

 

โดยเน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน, บรรจุภัณฑ์, ยานยนต์, การแพทย์และสุขภาพ และโซลูชันด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) และยังมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) เพื่อพัฒนานวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยแผนขยายการลงทุนโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพการขยายธุรกิจ ซึ่งจะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

 

“เรามีความมั่นใจในศักยภาพธุรกิจระยะยาว ซึ่งความต้องการใช้สินค้าและนวัตกรรมเคมีภัณฑ์จะถูกขับเคลื่อนด้วยเมกะเทรนด์ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน SCGC จึงเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับแผนการลงทุนที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต” ธนวงษ์กล่าว

 

SCGC เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายพอลิเมอร์ (Polymer) ประสิทธิภาพสูง ซึ่งจำเป็นสำหรับสินค้าที่มีอุปสงค์ขับเคลื่อนด้วยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrend) เช่น การขยายตัวของเมือง ความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความร่วมมือกับลูกค้า มีการนำไปใช้งานต่างๆ ตั้งแต่สินค้าที่มีความแข็งแรงคงทนสำหรับการใช้งานในโครงสร้างพื้นฐาน บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนที่ใช้ในกลุ่มยานยนต์ สินค้าและอุปกรณ์สำหรับกลุ่มการแพทย์และการดูแลสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน โดยใช้ขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาที่ดีที่สุดของบริษัท และความร่วมมือกับลูกค้ารายสำคัญ

 

ปัจจุบัน SCGC สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์มอนอเมอร์ต้นน้ำไปจนถึงผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ปลายน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญเพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ (Olefins) พอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) และเม็ดพีวีซี (PVC) รวม 6.9 ล้านตันต่อปี และบริษัทยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผนึกกำลังร่วมกันระหว่างธุรกิจในกลุ่ม SCGC เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตที่ดีด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

ทั้งนี้ SCGC อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี (Petrochemical Complex) แห่งแรกในประเทศเวียดนาม โดย Long Son Petrochemicals Co., Ltd. (LSP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCGC ถือหุ้น 100% จะเพิ่มศักยภาพการผลิตในระดับภูมิภาค 

 

โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งจะทำให้ SCGC มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 40% เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ Chandra Asri Petrochemical (CAP) ผู้ดำเนินธุรกิจคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรรายเดียวในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่ SCGC ถือหุ้น 30.57% ได้วางแผนขยายคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี (โครงการ CAP 2) โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ประมาณปี 2569 

 

ดังนั้น หลังจากการขยายกำลังผลิตในปี 2569 SCGC จะเป็นผู้ผลิตโอเลฟินส์ (Olefins) รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งกำลังการผลิตโอเลฟินส์ (Olefins) ตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 15% และเป็นผู้ผลิตพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งกำลังการผลิตพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 19%

 

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเมกะเทรนด์ต่างๆ ส่งผลให้มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น เช่น ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีน้ำหนักเบาเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การใช้นวัตกรรมเพื่อดูแลรักษาสุขภาพ การขยายตัวของเมือง การใช้พลังงานหมุนเวียน การดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน SCGC จึงมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุชนิดเดียวเพื่อรองรับการนำมารีไซเคิลได้ดียิ่งขึ้น โซลูชันโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่พัฒนาขึ้นเป็นรายแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2560 พร้อมทั้งได้เข้าลงทุนถือหุ้น 70% ในบริษัท Sirplaste-Sociedade Industrial de Recuperados de Plástico, S.A. (ซีพลาสต์) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงรายใหญ่ที่สุดในประเทศโปรตุเกส เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการรีไซเคิลพลาสติกและเพิ่มศักยภาพการตอบสนองเมกะเทรนด์ดังกล่าว

 

ขณะเดียวกัน SCGC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ ESG มุ่งเน้นความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อมุ่งสู่ ‘ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน’ โดยการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนและวัดผลได้ เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ได้แก่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยให้ได้ 20% ภายในปี 2573 (เทียบกับปี 2564 เป็นปีฐาน) ลดการใช้น้ำจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้ได้ 5% ภายในปี 2568 (เทียบกับปี 2557 เป็นปีฐาน) และลดการกำจัดของเสียให้ได้ 75% (เทียบกับปี 2557 เป็นปีฐาน) ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

 

ด้านผลการดำเนินงานในปี 2564 มีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.3% จากปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 43,164 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129.4% จากปีก่อน 

 

โดยมีปัจจัยมาจากปริมาณและราคาขายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ SCGC ยังประสบความสำเร็จจากการออกและเสนอขายหุ้นกู้อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.75% ต่อปี ให้แก่ประชาชนทั่วไป มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อศักยภาพ SCGC  

 

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ช่วงไตรมาส 2/65 นั้น หากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่คลี่คลาย คาดว่าแนวโน้มราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบจะยังอยู่ในระดับสูง ซึ่ง SCGC ได้มุ่งเน้นการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X