×

SCG ร่วมโชว์นวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน พร้อมเผยทิศทางอุตสาหกรรมใน K2019 งานนวัตกรรมพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โดย THE STANDARD TEAM
24.10.2019
  • LOADING...

ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองมากที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมพลาสติก ที่หลายครั้งตกเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม จากปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

 

ในงาน K2019 ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี ที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี โฟกัสจากคนทั้งโลกจึงจับจ้องไปที่ผู้ผลิตพลาสติกชั้นนำจากทั่วโลกที่มารวมตัวกันอยู่ในงานมากกว่า 3,000 ราย จาก 60 ประเทศทั่วโลก ภายใต้พื้นที่จัดงาน 175,000 ตารางเมตร ท่ามกลางคำถามว่า อุตสาหกรรมพลาสติกจะขยับขับเคลื่อนไปในทิศทางใด เพื่อคลี่คลายปัญหาสิ่งแวดล้อมให้บรรเทาเบาบางลง

 

จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมงาน THE STANDARD พบว่า ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในงาน K2019 คือการประชันวิสัยทัศน์ของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลาสติกและยางระดับโลก ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมในระยะยาว สอดคล้องกับแนวคิดของงานในปีนี้ที่จัดขึ้นภายใต้ธีม ‘พลาสติกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ และ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ เราจึงเห็นผู้ผลิตหลายรายใช้โจทย์มาแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ๆ เช่น สารเพิ่มคุณสมบัติในการนำพลาสติกใช้แล้วมาผ่านกระบวนการ ‘Upcycling’ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ดีเหมือนเดิม หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ทำมาจาก Mono Material ทำให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% 

 

ท่ามกลางผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของโลก SCG คือหนึ่งในเพลเยอร์รายสำคัญจากประเทศไทย ที่พยายามตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยในงาน K2019 ปีนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ของ SCG ได้เปิดตัว เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยี SMX ที่โดดเด่นด้านความแข็งแรง ขณะที่สามารถลดความหนาของชิ้นงาน ทำให้ลดการใช้เม็ดพลาสติกลง แต่ยังคงคุณสมบัติการใช้งานเดิม และนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น ผลิตเป็นถังบรรจุสารเคมีขนาดใหญ่ ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทฟิล์มที่มีความยืดหยุ่น สามารถทนต่อแรงกระแทกและแรงเจาะทะลุได้ดีเป็นพิเศษ หรือสามารถนำไปทำเป็นฝาน้ำอัดลมที่มีน้ำหนักเบา ใช้วัสดุน้อยลง แต่ให้ความแข็งแรงที่มากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังนำนวัตกรรม Mono Materal Packaging ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้แบรนด์ CIERRA – Barrier มาจัดแสดง โดยหวังว่าจะสามารถทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท Flexible Packaging ที่ประกอบไปด้วยชั้นฟิล์มหลายชั้นประกบกัน ซึ่งยากต่อการรีไซเคิล และเป็นปัญหาท้าทายผู้ผลิตพลาสติกจากทั่วโลก มาแสดงในงานด้วย 

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เปิดเผยว่า การพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added) หรือ HVA เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของเอสซีจี ซึ่งมีงานวิจัยและพัฒนาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยในปี 2561 เอสซีจีได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 4.6 พันล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเคมิคอลส์ได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนากว่า 2.4 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53 ของเอสซีจี และคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของรายได้จากการขายของธุรกิจเคมิคอลส์ มีบุคลากรด้าน R&D กว่า 690 คน ปัจจุบันมีสิทธิบัตรรวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 ฉบับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ มีแนวทางการดำเนินงานด้านวิจัยและพัฒนาในหลายรูปแบบ ได้แก่ การคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง การร่วมมือกับคู่ค้าในเชิงลึก เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับนักวิจัยและสถาบันชั้นนำระดับโลก อาทิ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ส่งผลให้ยอดขายสินค้า HVA มีมากถึงร้อยละ 53 ในปี 2561

 

สำหรับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีนโยบายลดสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว (Single-Use) มาอย่างต่อเนื่อง โดยลดจากร้อยละ 46 ในปี 2551 และมีเป้าหมายลดลงเหลือร้อยละ 20 ภายในปี 2563 ขณะเดียวกันได้เพิ่มสัดส่วนเม็ดพลาสติกประเภทคงทน (Durable Plastic) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้า HVA โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากจะเป็นโซลูชันที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเจ้าของแบรนด์สินค้าและลูกค้าแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าวัสดุประเภทอื่นๆ อีกด้วย

 

ถือเป็นความเคลื่อนไหวในแวดวงอุตสาหกรรมพลาสติกที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม และชี้ให้เห็นทิศทางที่ยั่งยืนที่ผู้ผลิตรายใหญ่ทุกรายต่างพยายามมุ่งไปให้ถึงได้เป็นอย่างดี

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X