ปัจจุบันสถานการณ์ด้านการจัดการขยะของประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเด็ดขาด และขาดประสิทธิภาพการจัดการที่แน่นอน จนอาจนำไปสู่วิกฤตระดับประเทศได้ เบื้องต้นมีผลการวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ เป็นเครื่องยืนยัน และชี้ชัดให้เห็นว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงขึ้นต่อเนื่องขึ้นทุกปี และซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ปริมาณขยะเหล่านั้นมีไม่น้อยที่เล็ดลอดลงไปในทะเล เป็นภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นถึงการจัดการขยะที่ไม่ถูกวิธีจากต้นทางขยะแต่ละแห่ง
ล่าสุด ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้พาสื่อมวลชนเข้าร่วมศึกษา พร้อมกับเรียนรู้วิธีการจัดการและคัดแยกขยะที่ได้พัฒนามาจากโครงการ ‘บางซื่อโมเดล’ โดยเริ่มจากการให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงานภายในองค์กร โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 2 ด้าน ได้แก่
1. การให้ความรู้ปลูกจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงาน และส่งเสริมพฤติกรรม ‘ใช้ให้คุ้ม’ ‘แยกให้เป็น’ และ ‘ทิ้งให้ถูก’
2. การพัฒนาจัดระบบการคัดแยกขยะ ภายในสำนักงาน และระบบรับซื้อคืนเพื่อรีไซเคิล โดยมีหัวใจสำคัญคือ การแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง แล้วแยกตามประเภทวัสดุ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะ และสามารถนำกลับมาสร้างประโยชน์ได้ง่ายขึ้น พร้อมกับนำระบบดิจิทัลเข้ามายกระดับการบริหารจัดการรวบรวมและคัดแยกขยะ โดยพัฒนาแอปพลิเคชันคุ้มค่า เพื่อช่วยให้ผู้รับขยะหรือธนาคารขยะทำงานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โครงการ ‘บางซื่อโมเดล’ ที่มีจุดเริ่มต้นประยุกต์ใช้ภายในองค์กร นับว่าประสบความเร็จในระดับน่าพอใจในการช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องทิ้งในบ่อฝังกลบได้เฉลี่ย 20 ตันต่อเดือน เพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิลจากร้อยละ 10 ต่อเดือนเป็นร้อยละ 45 ต่อเดือน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละเดือน
ด้วยเหตุนี้ เอสซีจีจึงได้ขยายผลความสำเร็จของ ‘บางซื่อโมเดล’ สู่การจับมือกับชุมชนในจังหวัดระยอง เปิดตัวโมเดลการจัดการขยะร่วมกับชุมชนเขาไผ่อย่าง ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ ซึ่งเป็นโครงการที่เชื่อมโยงการจัดการขยะระหว่าง บ้าน-โรงเรียน-วัด-ธนาคารขยะ เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรและขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล ควบคู่กับการลดปริมาณการฝังกลบขยะ และมีแนวทางการดำเนินโครงการมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านผู้นำชุมชน สู่สมาชิกของชุมชนในเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการผลักดันและให้ความรู้ในด้านต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญของเอสซีจีโดยเฉพาะ
ทางด้าน ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และประธานกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนเอสซีจี ระบุถึงโครงการที่สานต่อมาถึงจังหวัดระยองว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอสซีจีได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินนโยบายทางธุรกิจ และการรณรงค์ในภาคส่วนต่างๆ ความร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอ และสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนสมบูรณ์คือ การเริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางให้มีประสิทธิภาพ
“จุดหลักของโครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ คือการสร้างผู้นำทางความคิดที่เข้มแข็ง และการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชน LIKE (ไร้) ขยะที่ยั่งยืนต่อไป โดยวัดและโรงเรียนถือเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน เราจึงสร้างการมีส่วนร่วมโดยให้วัดและโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังการคัดแยกขยะตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ มีเจ้าอาวาส พระสงฆ์ คุณครู นักเรียนและผู้นำชุมชน ร่วมเป็นผู้นำทางความคิดเพื่อถ่ายทอดแนวคิดต่อไปยังคนอื่นๆ ในบ้านและชุมชนต่อไป”
สำหรับโครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) จะมีการแยกขยะแบ่งออกเป็น 3 สถานที่ ในชื่อ ‘บ-ว-ร’ ประกอบด้วย บ้าน วัด และโรงเรียน โดยแต่ละแห่งจะมีหน้าที่ในการจัดการขยะดังนี้
- บ้าน: การจัดการขยะในบ้านของชุมชนเขาไผ่ จะใช้วิธีการให้ชาวบ้านในชุมชนได้ทำการคัด-แยกขยะภายในครัวเรือนของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก ขยะเปียก และขยะจากวัตถุอันตราย
- โรงเรียน: โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 ถือเป็นสถานศึกษาตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งทางโรงเรียนได้มีการแนะแนวนักเรียนให้รู้จักวิธีการคัดแยกขยะ ไปจนถึงการทำให้ขยะที่ถูกแยกนั้น ดำเนินไปสู่ปลายทางอย่างเกิดประโยชน์ที่สุด โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ 1. ขยะเปียกจากเศษอาหารกลางวัน จะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยจุลินทรีย์เพื่อการเพาะปลูก 2. ขยะแห้ง ส่วนใหญ่จะถูกนำกลับมารีไซเคิลเป็นสิ่งของในรูปแบบต่างๆ และ 3. ขยะทั่วไป จะถูกแยกออกเพื่อจำหน่ายให้กับธนาคารขยะ และเกิดเป็นรายได้ให้กับโรงเรียนต่อไป
- วัด: วัดโขดหิน ณ วันนี้กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ไปยังชาวบ้านในชุมชน ให้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) ด้วยการเชิญชวนให้นำปิ่นโตบรรจุอาหารมาถวายวัด แทนการใช้ถุงพลาสติกอย่างในอดีต พร้อมกับมีการสอนให้รู้จักวิธีการแยกขยะอย่างเหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขง่ายๆ นั่นก็คือ ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น และทิ้งให้ถูก
หลังจากผ่านการคัดแยกขยะจาก 3 สถานที่แล้ว ถัดมาจะเป็นหน้าที่ของธนาคารขยะประจำชุมชนเขาไผ่แห่งนี้ ซึ่งถือเป็นสถานีสุดท้ายที่ บ้าน-โรงเรียน-วัด จะนำขยะประเภทพลาสติก หรือขยะใดๆ ก็ตามที่ขายได้มาจำหน่ายให้กับธนาคารแห่งนี้ ผ่านการใช้งานแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘คุ้มค่า’ (KoomKah)’ พัฒนาโดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ซึ่งแอปพลิเคชันนี้เป็นตัวช่วยในการเก็บข้อมูล และเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย ทำให้การขายขยะทุกครั้งเป็นไปอย่างง่ายดาย โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวประกอบด้วย 5 ฟังก์ชันหลัก ได้แก่
- การรับซื้อขยะ (Buy) ช่วยบันทึกจัดเก็บข้อมูลขยะและจำนวนยอดเงินจากการซื้อขาย
- การจัดการสมาชิก (Membership Management) จัดเก็บข้อมูลสมาชิก ประวัติการแลกแต้มสะสมคะแนน
- การขายขยะ (Sell) บันทึกข้อมูลการขาย คำนวณรายรับและกำไรที่ได้จากการขาย
- การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) จัดระเบียบข้อมูลสินค้าขยะแต่ละประเภท เงินทุนและสะสมจากการรับซื้อสินค้า ทำให้วางแผนกลยุทธ์การซื้อขายได้ดียิ่งขึ้น
- การจัดทำรายงานรับซื้อและขายขยะ (Report) สามารถเลือกช่วงเวลาประมวลผล และดาวน์โหลดไฟล์ออกมาในรูปแบบ Excel ซึ่งง่ายต่อการนำข้อมูลมาคำนวณในรูปแบบต่างๆ
อีกทั้ง ธนาคารขยะเขาไผ่ยังเป็นผู้ขับเคลื่อนกลไกการรีไซเคิลของชุมชน มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 80 ครัวเรือน สามารถนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากถึง 6,500 กิโลกรัม และยังช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้โครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ จะเริ่มนำร่องในชุมชนเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด อย่างชุมชนโขดหินมิตรภาพและชุมชนเขาไผ่ได้ไม่นาน แต่ในอนาคตอันใกล้ หากโครงการนี้ทำให้ชุมชนดังกล่าวประสบผลสำเร็จในด้านการจัดการขยะอย่างเป็นระบบแบบนี้ โครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ ของเอสซีจี ก็พร้อมจะขยับขยายไปยังพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง ด้วยความหวังที่จะทำให้จังหวัดระยองก้าวเข้าสู่เมืองไร้ขยะอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์