×

‘เอสซีจี’ เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจเคมีภัณฑ์ ดัน ‘เอสซีจี เคมิคอลส์’ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดปลายปีได้ข้อสรุปแผนขาย IPO

30.07.2021
  • LOADING...
SCG CHEMICALS

เอสซีจีระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งเอสซีจีมีการลงทุนในหลายบริษัท และส่วนมากเป็นกิจการร่วมค้า ทั้งนี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการเตรียมความพร้อมให้กับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เอสซีจีถือหุ้นในสัดส่วน 100% เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดเผยข้อสรุป แผนการ และช่วงเวลาในการเข้าจดทะเบียนได้ในปลายปีนี้ 

 

โดยความเคลื่อนไหวเชิงธุรกิจล่าสุดของเอสซีจี เคมิคอลส์ คือ การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน PT.Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซีย เป็นจำนวนเงิน 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 14,260 ล้านบาท) เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใน CAP ที่ 30.57% โดยจะนำไปลงทุนในโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) ซึ่งเอสซีจีเห็นว่าการลงทุนใน CAP เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจปิโตรเคมีไปยังประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดสินค้าปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและมีอัตราการเติบโตสูง

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวยืนยันผ่านงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 2/64 ว่า จะสามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ในช่วงปลายปี 

 

สำหรับภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 2/64 มีกำไรสุทธิ 17,136.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,383.86 ล้านบาท สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น โดย EBITDA เพิ่มขึ้น 39% สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

 

เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 133,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนในการจัดจำหน่าย 7,965.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน มีค่าใช้จ่ายในการบริหาร 7,751.72 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดลงอยู่ที่ 75,791 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ มีส่วนแบ่งกำไรของการร่วมค้าและบริษัทร่วมตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียจำนวน 5,707.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีส่วนแบ่งกำไร 1,705.29 ล้านบาท

 

ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 32,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 16,355 ล้านบาท มี EBITDA เท่ากับ 55,716 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

โดยมีรายได้จากการขาย 255,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเนื่องจากราคาขายและส่วนต่างราคาของสินค้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมครึ่งปีแรกอยู่ที่ 11,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,455 ล้านบาท หรือ 287% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากธุรกิจเคมิคอลส์คิดเป็น 66% ของทั้งหมด หรือเท่ากับ 7,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,354 ล้านบาท ขณะที่มีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมจากธุรกิจอื่นเท่ากับ 3,891 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้น 2,101 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 ในอัตรา 8.5 บาทต่อหุ้น เป็นเงิน 10,200 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2564 กำหนดผู้ที่ไม่มีสิทธิ์รับเงินปันผล (XD) ในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับเงินปันผล (Record Date) ในวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 

 

รุ่งโรจน์กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลกมีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่เผชิญกับเชื้อกลายพันธุ์เดลตา จนทำให้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นหลายประเทศ จึงบังคับใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง เอสซีจีจึงได้ยกระดับความเข้มข้นจากมาตรการ ‘ไข่แดง ไข่ขาว’ ที่แยกพนักงานในสายการผลิตไม่ให้สัมผัสกับกลุ่มพนักงานทั่วไป สู่การทำ Bubble & Seal ในโรงงานทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการตรวจเชิงรุกอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงพร้อมจัดที่พักให้ภายในโรงงาน ควบคู่กับแนะนำให้พนักงานที่มีอาการป่วยกักตัวที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์ (Home Isolation) เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด อีกทั้งได้จัดเตรียมหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) สำหรับพนักงานที่ป่วย เพื่อให้เข้าถึงการรักษาที่ปลอดภัยอย่างรวดเร็วที่สุด จึงทำให้เอสซีจีสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

พร้อมทั้งยังได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ทั้งการปรับสัดส่วนการขายกระจายสินค้าไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยทั้งในและต่างประเทศและเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Merger & Partnership: M&P) รวมถึงการสร้างความร่วมมือใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin: PCR) เปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนับเป็นการเร่งธุรกิจเข้าสู่เทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เติบโตสูง 

 

“ปัจจุบันเอสซีจีมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศราว 44% ทั้งจากกำลังการผลิตในต่างประเทศและการส่งออกจากประเทศไทย โดยวางเป้าหมายว่าใน 3-4 ปี เอสซีจีจะมีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 50% โดยแผนการลงทุนในต่างประเทศเพิ่ม ทั้งในอินโดนีเซียและโครงการต่อเนื่องที่เวียดนามก็ยังเป็นไปตามแผน” 

 

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจหรือวางเป้าหมายได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดในแถบอาเซียนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข กำลังซื้อ และภาคอุตสาหกรรมกันโดยทั่ว เอสซีจีจึงยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อรีวิวกันทุกสัปดาห์

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X