เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (29 เมษายน) บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 จำนวน 6.97 พันล้านบาท ลดลง 40.2%YoY และ 1.9%QoQ หากตัดรายการพิเศษออกไปจะพบว่า SCC มีกำไรปกติ 7.17 พันล้านบาท ลดลง 38.5%YoY และ 4.3%QoQ โดยกำไรปกติสามารถจำแนกตามรายธุรกิจได้ ดังนี้
ธุรกิจเคมีภัณฑ์มีกำไรปกติ 1.78 พันล้านบาท หดตัว 70%YoY เนื่องจาก
- มีผลขาดทุนจากสินค้า 1.1 พันล้านบาท จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมัน
- ส่วนต่างราคา PE/PP แคบลง และปริมาณขาย PE/PP ที่ลดลง จากอุปสงค์ที่อ่อนแอเนื่องจากผลกระทบโควิด-19
ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างมีกำไรปกติ 2.59 พันล้านบาท หดตัว 2%YoY จากยอดขายที่อ่อนแอลงตามอุปสงค์ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยที่ลดลง 5%YoY
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีกำไรปกติ 2.10 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19%YoY จากยอดขายที่ดีขึ้นของธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ตามอุปสงค์สินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีกำไรปกติจากส่วนงานอื่นๆ จำนวน 700 ล้านบาท
กระทบอย่างไร:
วานนี้ (29 เมษายน) ราคาหุ้น SCC ปรับขึ้น 0.29%DoD สู่ระดับ 340.00 บาท ขณะที่วันนี้ราคาหุ้นปรับขึ้นต่อสู่ระดับ 345.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.47%DoD
มุมมองระยะสั้น:
ธุรกิจเคมีภัณฑ์: ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ PE-แนฟทา ในไตรมาส 2/63 จนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้น 1%YoY และ 37%QoQ และ PP-แนฟทา เพิ่มขึ้น 5%YoY และ 14%QoQ โดย SCC คาดว่า ราคาต้นทุนแนฟทาจะยังทรงตัวในระดับต่ำต่อไปตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ สำหรับในกลุ่มโพลีโอเลฟินส์ SCC พบว่า อุปสงค์ในจีนและอาเซียนฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่อุปสงค์จากประเทศตะวันตกยังอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีอุปสงค์จำนวนในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ แต่ขณะที่อุปสงค์ในสินค้ากลุ่มยานยนต์และสินค้าคงทนยังอ่อนแอ โดยรวมปริมาณการขายในกลุ่มยังคงแข็งแกร่งจากการปรับส่วนผสมผลิตภัณฑ์และตลาดจุดหมายปลายทางที่ยังมีความต้องการในสินค้าจำนวนมาก
ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง: ทิศทางอุปสงค์ในประเทศปี 2563 ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากโครงการเอกชนมีจำนวนน้อย รวมถึงโครงการรัฐบางโครงการจะเลื่อนกำหนดการออกไป โดย SCC คาดว่า อุปสงค์ปูนซีเมนต์จะฟื้นตัวดีขึ้นหลังผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์: SCC เผยว่า อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคยังมีจำนวนมาก ขณะที่อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงทนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ SCC จะเริ่มดำเนินการผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัวในประเทศเวียดนามช่วงไตรมาส 2/63 ผลิตภัณฑ์กระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซียช่วงไตรมาส 4/63 (เลื่อนจากไตรมาส 3/63) และผลิตภัณฑ์กระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์ช่วงไตรมาส 2/64 (เลื่อนจากไตรมาส 4/63)
SCBS คาดว่า ผลประกอบการของ SCC จะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/63 จากกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ส่วนต่างราคาปรับตัวสูงสุดในรอบ 1 ปี รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่า ทิศทางกำไรปกติปี 2563 ของ SCC จะยังหดตัว 6.2%YoY สู่ระดับ 3.40 หมื่นล้านบาท เนื่องจากถูกกดดันจากผลประกอบการไตรมาส 1/63 ที่อ่อนแอ ขณะที่แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/63 และครึ่งปีหลังแม้จะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหนุนให้กำไรปกติปี 2563 เติบโตได้ นอกจากนี้ SCC ยังได้ทบทวนรายจ่ายลงทุนในปี 2563 เพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ บริษัทยังไม่ได้เปิดแผนเป้าหมายธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าบริษัทจะมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายธุรกิจอย่างไรในการมือกับวิกฤตครั้งนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม
%DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า
%QoQ คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
%YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล