ผู้บริหารของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) คาดว่ายอดขายในปี 2565 มีแนวโน้มจะสูงกว่าเป้าหมาย 10% ตามที่ตั้งเอาไว้ หลังราคาขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่อัตรากำไรก็ลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้หรือไม่
เมื่อ 27 เมษายนที่ผ่านมา SCC รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีรายได้จากการขาย 152,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อน และ 25% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 8,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 41% จากปีก่อน
ทั้งนี้ จะเห็น EBITDA Margin ของบริษัทในไตรมาสแรกยังคงอ่อนตัวลงจากไตรมาส 4 ปี 2564 และลดลงจากค่าเฉลี่ยของทั้งปี 2564 โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีอัตรากำไรสูงขึ้นเป็น 12% จาก 10% ในไตรมาสก่อน ขณะที่ธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจแพ็กเกจจิ้งต่างมีอัตราลดลง โดยทำได้ 7% และ 13% ตามลำดับ เทียบกับไตรมาสก่อนที่ทำได้ 8% และ 15% ตามลำดับ
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า ในปีนี้เป้าหมายยอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งไว้ 10% เพราะราคาขายสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณขายยังไม่แน่ว่าจะสูงขึ้นหรือไม่ เพราะเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นความต้องการใช้สินค้าก็จะได้รับผลกระทบ อีกส่วนหนึ่งที่ต้องติดตามคือการแพร่ระบาดของโควิดในจีน ซึ่งทำให้การขายช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างซบเซา
“ช่วงนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติและมีความไม่แน่นอนสูง การดูตัวเลขเทียบกับไตรมาสก่อนจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนกว่า อย่างเรื่องของผลกระทบจากโควิดที่การฟื้นตัวจะพิจารณาเป็นไตรมาสต่อไตรมาส”
ทั้งนี้ กำไรสุทธิที่ลดลงมากในไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนของธุรกิจเคมิคอลส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากความตึงเครียดในยุโรปตะวันออก นอกจากนี้ เมื่อปีก่อนบริษัทยังได้อานิสงส์เชิงบวกจากภาวะความหนาวเย็นมากกว่าปกติในสหรัฐอเมริกา ทำให้โรงงานปิโตรเคมีหลายโรงต้องหยุดผลิต โรงงานที่ยังผลิตอยู่จึงได้รับอานิสงส์
ส่วนผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นในขณะนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากต้นทุนพลังงานคิดเป็น 70-80% ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างต้นทุนพลังงานคิดเป็น 20%
“ผลกระทบจากวิกฤตในยุโรปตะวันออกและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทุกคนเจอเหมือนกันหมด คำถามคือแต่ละธุรกิจสามารถปรับตัวได้รวดเร็วขนาดไหน ทั้งในแง่ของความสามารถในการลดต้นทุนพลังงาน หรือใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและบริหารความเสี่ยง ซึ่งบริษัทมีแผนในส่วนนี้อยู่ก่อนแล้วเพียงแต่เร่งให้เร็วขึ้น อย่างการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น และการบริหารความเสี่ยงเรื่องวัตถุดิบและการขนส่งให้เพียงพอ”
อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรที่ลดลงในไตรมาสแรกยังมีความไม่แน่นอนในหลายปัจจัย ทำให้ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความสามารถในการปรับราคาขายสินค้า การยอมรับราคาของตลาดซึ่งต้องคำนึงถึงคู่แข่งและสินค้าทดแทน รวมถึงราคาน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้คาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก
“คิดว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ต่อไปอีกสักพัก สินค้าบางอย่างที่ขาดแคลนก็อาจจะหายไปจากตลาด เงินเฟ้อยังไม่แน่นอนสูงและมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร”
ทั้งนี้ ราคาหุ้นของ SCC ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ลดลงมาต่อเนื่องจากจุดสูงสุดในรอบปีที่ 474 บาท มาต่ำสุดที่ 356 บาท หรือลดลงราว 25% ทำจุดต่ำสุดในรอบประมาณ 1 ปีครึ่ง
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP