×

SCBX โชว์กำไรสุทธิปี 65 จำนวน 3.75 หมื่นล้าน โต 5.5% รับรายได้ดอกเบี้ยพุ่ง ขณะที่ ttb กวาดกำไรทะลุ 1.4 หมื่นล้าน เพิ่มจากปีก่อน 36%

20.01.2023
  • LOADING...

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ประกาศกำไรสุทธิของปี 2565 จำนวน 37,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากการลงทุน

 

โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 107,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% จากปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิภายใต้กลยุทธ์การเติบโตที่เน้นคุณภาพสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 3.3% จากปีก่อน 

 

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ มีจำนวน 44,866 ล้านบาท ลดลง 4.7% จากปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง อีกทั้งรายได้จากการลงทุนและการค้ามีจำนวน 1,689 ล้านบาท ลดลง 79.1% จากปีก่อน เนื่องจากความผันผวนอย่างสูงของตลาดเงินและตลาดทุนในปีที่ผ่านมา 

 

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 69,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% จากปีก่อน เป็นผลจากกิจกรรมธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้ยุทธศาสตร์ยานแม่ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ 45.2% ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย 

 

บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 33,829 ล้านบาท ลดลง 19.5% จากปีก่อน สะท้อนถึงการบริหารคุณภาพสินเชื่อด้วยมาตรการเชิงรุกและความระมัดระวังตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดมาโดยตลอด ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 159.7%

 

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 3.34% ปรับตัวลดลงจาก 3.79% ในปีก่อน เป็นผลของความสำเร็จในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย และการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีประสิทธิภาพ และเงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.9%

 

ขณะที่ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) รายงานกำไรสุทธิปี 2565 ที่ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนมาจากทั้งด้านรายได้ ประสิทธิภาพด้านต้นทุน และค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกค้าอย่างเหมาะสม 

 

โดยในปี 2565 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 65,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากปีก่อนหน้า (YoY) ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอยู่ที่ 29,952 ล้านบาท ลดลง 4.1%YoY สะท้อนถึงการรับรู้ Cost Synergy และการมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย 

 

ทั้งนี้ อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในปี 2565 อยู่ที่ 45% ลดลงจาก 48% ในปี 2564 ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ PPOP อยู่ที่ 36,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4%YoY ด้านค่าใช้จ่ายสำรองฯ อยู่ที่ 18,353 ล้านบาท ลดลง 14.7% จากปีที่แล้ว เมื่อหักค่าใช้จ่ายสำรองฯ และภาษี จึงทำให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5%YoY 

 

การตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเป็นผลจากการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร รวมไปถึงการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ธนาคารสามารถควบคุมและลดสัดส่วนหนี้เสียลงมาได้อย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดในช่วงวิกฤตโควิดที่ 2.98% ในไตรมาส 3/64 มาอยู่ที่ 2.81% ณ สิ้นปี 2564 และ 2.73% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่ากรอบควบคุมและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 

 

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ธนาคารมีเงินฝากอยู่ที่ 1.399 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จากไตรมาสก่อน (QoQ) และ 4.5% จากปี 2564 (YTD) หนุนโดยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านเงินฝากเพื่อรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตสินเชื่อในปี 2566 

 

ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 1.376 ล้านล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.3%QoQ เนื่องจากมีการชำระหนี้คืนจากลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ แต่ทั้งปียังคงเพิ่มขึ้น 0.4%YTD ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยเน้นสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 

 

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นของธนาคาร เกิดจากการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ที่สำคัญคือการดูแลลูกค้าในเชิงรุกและให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเหมาะสม ทำให้พอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพดี หนี้เสียลดลง และทำให้ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในท้ายที่สุด

 

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการเตรียมพร้อมสำหรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยธนาคารสามารถบริหารงบดุล (Balance Sheet Management) ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการดำเนินการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเงินฝากด้วยการทยอยเพิ่มเงินฝากประจำ เพื่อล็อกต้นทุนเงินฝากและขยายฐานเงินฝากล่วงหน้าในการรองรับแผนการเติบโตสินเชื่อในปี 2566 

 

ในด้านการลงทุน ธนาคารได้ปรับพอร์ตให้มีระยะเวลาลงทุนสั้นลงเพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และเนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารดำรงเงินกองทุนในระดับสูงมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อมองเห็นโอกาสในตลาดตราสารหนี้ จึงได้ทำการซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ AT1 กลับมาบางส่วน ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามแผนการบริหารส่วนทุน (Capital Management) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ธนาคารยังได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาซื้อคืนอีกด้วย

 

ท้ายสุดในส่วนของแผนงานหลังการรวมกิจการ ธนาคารสามารถทำได้ตามแผนเช่นกัน เริ่มจากการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจและจัดตั้งบริษัท ทีทีบี คอนซูมเมอร์ การเปิดตัวแอปพลิเคชัน ttb touch รวมไปถึงการลงทุนและพัฒนาด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรับรู้ Revenue Synergy ด้านการรับรู้ Balance Sheet Synergy และ Cost Synergy นั้นทำได้ดีกว่าเป้าหมาย 

 

ทั้งนี้ ธนาคารได้ส่งผ่านผลประโยชน์จากการรวมกิจการกลับคืนไปยังผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในปี 2565 ธนาคารได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและออกวอร์แรนท์ TTB-W1 ให้กับผู้ถือหุ้นโดยไม่คิดมูลค่า

 

ด้านธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2565 จำนวน 3,033.1 ล้านบาท เติบโต 24.3% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2564 สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 39.4% เนื่องจากการลดลงของการด้อยค่าของสินทรัพย์ ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลง 2.9%  

 

โดยรายได้จากการดำเนินงานของธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ลดลงจำนวน 406.5 ล้านบาท หรือ 2.9% เป็นจำนวน 13,753.5 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 346.0 ล้านบาท หรือ 3.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ   

 

ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลงจำนวน 107.9 ล้านบาท หรือ 3.9% สาเหตุหลักมาจากการลดลงของกำไรสุทธิจากการขายเงินลงทุนสุทธิ กับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 47.5 ล้านบาท หรือ 3.4% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่าย

 

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 คงที่ ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 57.1% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2564 อยู่ที่ 55.5% เนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานลดลง

 

ทั้งนี้ อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) สำหรับปี 2565 ของธนาคารอยู่ที่ 2.7% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2564 อยู่ที่ 3.1% เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อลดลง 

           

ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.3% ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 3.7% สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2565 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising