เย็นวานนี้ (22 กันยายน) SCB ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรและจัดตั้งบริษัท Holding SCBX ผ่านการโอนย้ายธุรกิจจาก SCB ให้อยู่ภายใต้ SCBX จำนวน 9 บริษัท (Card X, SCB Securities, SCB 10X, SCB Abacus, MONIX, Purple Ventures, Digital Ventures, SCB Tech X และ Token X) และจัดตั้งบริษัทใหม่จำนวน 5 บริษัท (Auto X, Alpha X, CPG-SCB VC Fund, AISCB JV และ Data X) เพื่อพัฒนาองค์กรให้อยู่ในรูปแบบ Financial Technology Group
เพื่อการเปลี่ยนผ่านธุรกิจลุล่วง คณะกรรมการเตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือน พฤศจิกายนนี้ เพื่อพิจารณาจัดตั้งบริษัท SCBX (ปัจจุบันใช้ชื่อเป็น SCB Holding) หากผ่านมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจะ Share Swap หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของ SCB เดิม กับหุ้นสามัญของ SCBX ในอัตรา 1:1 (โดยต้องมีจำนวนหุ้นที่มีผู้แสดงเจตนาทา Share Swap มากกว่า 90%) และ SCBX จะเข้ามาเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนแทน SCB เดิม (แต่ยังใช้ชื่อย่อว่า SCB เช่นเดิม)
จากนั้น SCBX จะกลายเป็น Holding Company ที่บริหารจัดการเงินลงทุนของกลุ่ม และธนาคาร SCB เดิมจะกลายเป็นบริษัทย่อยภายใต้ SCBX แทน ขณะเดียวกัน ธนาคาร SCB จะโอนธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์สุทธิราว 1 แสนล้านบาท ให้กับบริษัทลูกของ SCBX ชื่อว่า Card X
นอกจากนี้จะพิจารณาจ่ายปันผลระหว่างกาลรอบพิเศษจำนวนกว่า 7 หมื่นล้านบาทให้กับ SCBX ซึ่งสัดส่วนมากกว่า 70% จะถูกใช้เป็นเงินทุนสำหรับลงทุนในธุรกิจย่อยอื่นๆ ที่จะทยอยขยายธุรกิจมากขึ้นตามลำดับ และส่วนที่เหลือจำนวนหนึ่งจะถูกเก็บไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และจะพิจารณาจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น SCBX ในช่วงกลางปี 2565
ธุรกิจ ‘ลีสซิ่ง-บัตรเครดิต’ เป้าถูก Disrupt
ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า การปรับโครงสร้างของ SCB จะเป็นลบเล็กน้อยต่อผู้ประกอบการสินเชื่อกลุ่มการเงิน (Finance) โดยบริษัทย่อยของ SCBX ที่จะกระทบผู้ประกอบการ Finance ได้แก่
- Card X ที่ได้แยกธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลจากธนาคารกระทบต่อ AEONTS และ KTC
- Auto X จากการเริ่มดำเนินธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยเบื้องต้นคาดว่า Auto X จะเน้นการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่ SCB มีความเชี่ยวชาญเดิม กระทบต่อ MTC, AMANAH, TIDLOR และ SAWAD
- Alpha X ที่ได้ร่วมมือตั้งเป็น JV กับบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด สำหรับการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถ Supercar และ Big Bike กระทบ THANI
ในระยะสั้น ทุกๆ สินเชื่อที่ได้รับผลกระทบที่ลดลง -1% จะกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2565 จากมากไปน้อย ได้แก่ AEONTS, MTC, AMANAH, TIDLOR, KTC, SAWAD และ THANI
ทั้งนี้ ผลประกบเชิงลบดังกล่าวสะท้อนสู่ราคาหุ้นกลุ่มลีสซิ่งและบัตรเครดิตในทันทีที่ตลาดเปิดการซื้อขายในวันนี้ (23 กันยายน) โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงยกกลุ่มทั้ง SAWAD และ MTC รวมถึง TIDLOR ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ IPO (36.50 บาท) อีกครั้ง
ส่วนในระยะยาวยังต้องติดตามแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ Card X, Auto X และ Alpha X ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกลุ่ม Finance ในด้านต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำ นโยบายการแข่งขันด้านราคา และช่องทางการหาลูกค้า
SCB ปลดล็อกมูลค่าผ่าน 3 เป้าหมายสำคัญ
กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ Financial Technology เป็นการปลดล็อกมูลค่าครั้งใหญ่ของ SCB และเพิ่มความยืดหยุ่นของฐานทุน รวมถึงช่วยขยายน่านน้ำในการทำธุรกิจ
โดยเป้าหมายสำคัญในระยะสั้นที่ได้ฟังจากคณะผู้บริหาร SCB ประกอบด้วย
- การขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น จากเดิมให้บริการอยู่ 16 ล้านราย จะเพิ่มเป็น 200 ล้านรายผ่านการจับมือกับพันธมิตร (Partnership Model) ซึ่งเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวตั้งแต่เมื่อ 2-3 วันที่แล้ว ที่ SCB แจ้งเรื่องการจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่คือ ADVANC และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CPG
- เป้าหมายในเชิงมูลค่า โดย SCB ตั้งเป้ามาร์เก็ตแคปใน 5 ปีข้างหน้าเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท ผ่านการแยกหน่วยธุรกิจที่น่าจะเป็นยูนิคอร์น และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้แก่ SCB เป็นอย่างมาก
- เป้าหมายโครงสร้างกำไรที่จะมี Growth Potential มากขึ้น โดยปัจจุบัน สัดส่วนกำไรของ SCB นั้น 90% มาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และใน 5 ปีจากนี้ สัดส่วนกำไรจาก Growth Business ต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเป็น 1ใน 3 (ราว 35%)
“เราชื่นชอบหุ้น SCB มากขึ้นจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ เพราะช่วยให้เกิดความสะดวกในการบริหารจัดการ จากเดิมธุรกิจอื่นๆ ที่ SCB ลงทุนถูกครอบด้วยความเป็นแบงก์ แต่เมื่อปรับโครงสร้างเป็น Financial Technology ความยืดหยุ่นต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย และคู่แข่งของ SCB ก็เปลี่ยนหน้าตาไปด้วยเช่นกัน จากที่แข่งกับแบงก์ดั้งเดิม ก็จะขยายน่านน้ำไปแข่งขันกับ Tech Company แทน”
ความเสี่ยง ‘ตั้งสำรอง’ ลดลง
กรกชกล่าวเพิ่มว่า การขยับฐานะจากแบงก์ดั้งเดิมเป็น Financial Technology ทำให้ฐานทุนคล่องตัวมากขึ้น โดยในอนาคต SCB จะไม่ต้องกังวลเรื่องตั้งสำรองมากนัก และสามารถผันเงินทุนที่มีไปสู่ธุรกิจที่มี Growth Potential ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนได้เร็วและคล่องตัวมากกว่า ซึ่งผลลัพธ์จะสะท้อนสู่อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE: Return on Equity) ระยะยาว โดยมองว่า เป้าหมายของผู้บริหาร SCB ที่ตั้งเป้า ROE ที่ 15% ใน 5 ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้สูงมาก
นอกจากนี้แนวโน้มราคาหุ้น SCB มีโอกาสที่จะซื้อขายด้วยอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชี (PBV: Price per Book Value) ที่สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ ภายหลังจากขยับชั้นขึ้นเป็น Financial Technology แล้ว
การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างธุรกิจของ SCB จะกระตุ้นให้แบงก์อื่นๆ มีการปรับตัวตามไปด้วย แต่จะออกมาในรูปแบบใดบ้าง ยังคงต้องติดตามกันต่อไป ทั้งนี้ มองว่าอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ของไทยมีการแข่งขันกันน้อย แม้ที่ผ่านมาจะมีการขยายธุรกิจไปสู่ดิจิทัลบ้าง แต่ก็เป็นการลงทุนเพื่อขยายช่องทาง (Channel) และยังอยู่ภายใต้ร่มแบงก์เหมือนเดิม ความคล่องตัวจึงไม่เกิดขึ้น แต่การขยับของ SCB สามารถคาดหวังได้ว่าจะทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลง
“กรณีแบงก์ที่มีการปรับโครงสร้างธุรกิจก่อนหน้านี้ก็คือ ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งก็ทำให้มูลค่าของทิสโก้ฯ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ในตอนนั้นทิสโก้ฯ ยังไม่ได้ขยายไปสู่ฟินเทคมากนัก จึงน่าจะคาดหวังกับ SCB ได้มากกว่า” กรกชกล่าว
มอง ‘กลุ่มแบงก์’ เร่งปรับตัว – KBANK ตัวเต็ง
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างของ SCB ครั้งนี้น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมแบงก์ของไทย และประเมินว่าธนาคารกสิกรไทย (KBANK) น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นแบงก์ถัดไป
สิ่งที่ SCB ประกาศ ทำให้นักลงทุนต้องพิจารณาภาพใหม่ของ SCB จากเดิมที่เป็นธนาคารหนึ่งที่มีธุรกิจอื่นๆ อยู่ใต้ร่มธนาคาร ทำให้ถูกครอบด้วยข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธุรกิจธนาคารที่ค่อนข้างรัดกุมและมีความยืดหยุ่นน้อย ผลลัพธ์คือ เงินลงทุนในธุรกิจอื่นๆ สร้างการเติบโตได้ช้า ขณะที่ธุรกิจแบงก์ดั้งเดิมก็โตช้าเช่นกัน
ขณะที่ SCB ภาพใหม่คือ Financial Technology หรือฟินเทค ที่มีองค์ประกอบของธนาคารเพียงส่วนเดียว ซึ่งแตกต่างจากภาพเดิมอย่างมาก
“สิ่งที่เคยอยู่ใต้แบงก์และโตไม่ได้เพราะติดข้อจำกัดและกฎระเบียบต่างๆ ของแบงก์ พอประกาศปรับโครงสร้าง SCB ก็คือฟินเทคที่มีแบงก์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะมีธุรกิจ Cash Cow อย่างประกัน, เวลท์, SCBAM ซึ่งเป็นธุรกิจที่อิ่มตัวแล้วคอยสร้างกระแสเงินสดให้ ส่วนธุรกิจใหม่ๆ จะออกไปสร้างการเติบโตด้วยโครงสร้างธุรกิจที่เป็น Light Asset หรือ Asset น้อย ซึ่งโดยหลักแล้ว เมื่อธุรกิจใหม่ๆ เติบโต ROE จะเพิ่มขึ้นเร็ว อีกทั้งธุรกิจใหม่ของ SCB ล้วนเป็นธุรกิจแห่งอนาคตเกือบทั้งหมด”
สปอตไลต์กองทุนไทย-ต่างประเทศส่องเพิ่ม
นอกจากนี้ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ สถาบันในประเทศและต่างประเทศล้วนอยากลงทุนในหุ้นฟินเทค ซึ่งในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ยังมีแต่หุ้นฟินเทคครึ่งๆ กลางๆ แต่เมื่อ SCB ปรับเป็นฟินเทคเต็มตัวและด้วยกิจการขนาดใหญ่ นั่นหมายความว่า SCB จะเป็นเป้าหมายลงทุนของนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินเป้าหมายกำไรของ SCB ได้ เพราะยังต้องติดตามธุรกิจใหม่ๆ ว่าจะสร้างกำไรคืนกลับมาช้าหรือเร็วแค่ไหน แต่มุมมองต่อหุ้น SCB นั้นเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน
“บางครั้งกำไรเป็นแค่สิ่งที่ตามมา แต่ Growth Potential มีค่ามากกว่า สำหรับราคาหุ้นนั้น ตอนนี้หุ้นกลุ่มแบงก์ซื้อขายที่ระดับราคาต่ำกว่า P/VB แต่ธุรกิจฟินเทคนั้นมองว่าควรจะซื้อขายสูงกว่า P/VB ฉะนั้นหากมอง SCB ภายใต้ยานแม่ใหม่ ราคาหุ้นก็ไม่ควรจะต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้นที่ตอนนี้อยู่ที่ 124 บาท”