ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักไปทั่วโลก ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวนอย่างหนัก แต่ SCBS พบว่า ความผันผวนนี้ลดลงไปมากตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เราไปประมวลเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
– ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีการลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินถึง 2 ครั้ง และกดดอกเบี้ยลงมาต่ำที่ 0-0.25% ในช่วงครึ่งเดือนแรกของมีนาคม
– หลังจากกดดอกเบี้ยลงมาได้ไม่นาน Fed ก็มีการประกาศว่า จะเข้าซื้อตราสารหนี้ในระดับ Investment Grade แบบไม่อั้น ทั้งปริมาณการซื้อและระยะเวลาที่จะเข้าซื้อ
– ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทยมีการลดดอกเบี้ยตาม Fed ลงมา หลายประเทศมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
– จีนและเกาหลีใต้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มณฑลหูเป่ยประกาศยกเลิกการปิดเมืองและเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มีนาคม ส่วนเมืองอู่ฮั่นที่เป็นศูนย์กลางการระบาด ได้ยกเลิกมาตรล็อกดาวน์ในวันที่ 8 เมษายน
– ประเทศในยุโรปอย่างอิตาลีและสเปน มีสัญญาณที่ดีขึ้นในเรื่องการชะลอการระบาดอย่างชัดเจน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันลดลงอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ
– จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 1 ล้านราย ในวันที่ 2 เมษายน
– ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยว่า สามารถคุยกับทางรัสเซียและซาอุดีอาระเบียได้ลงตัว ในเรื่องลดการผลิตน้ำมันดิบราว 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรืออาจจะสูงถึง 15 ล้านบาร์เรล ซึ่งทาง OPEC+ จะมีการประชุมในวันที่ 8 หรือ 9 เมษายน เพื่อหาข้อสรุป
ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกลดความผันผวนลงไปมาก นักลงทุนมีการถือครองเงินสดในสกุลดอลลาร์ลดลง ราคาของทองคำและพันธบัตรมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดัชนีความผันผวนอย่าง VIX Index ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เป็นศูนย์กลางของตลาดทุนของโลก ก็มีการฟื้นตัวขึ้นมาเช่นกัน โดยดัชนี S&P 500 ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในวันที่ 23 มีนาคม มาที่ราคาปิดล่าสุดได้ราว 11.3% ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ดีพอสมควรหลังจากที่ปรับตัวลดลงมาอย่างหนัก
มาดูกันว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีการฟื้นตัวขึ้นมา มีทิศทางเป็นอย่างไร เม็ดเงินได้ไหลเข้าไปในกลุ่มอุตสาหกรรมไหนบ้าง และอุตสาหกรรมใดที่ยังมีเม็ดเงินไหลออกอยู่
Fund Inflow – เงินไหลเข้ามากที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ (23 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2020)
– กลุ่มเทคโนโลยีราว 2,000 ล้านดอลลาร์
– กลุ่มพลังงานราว 1,000 ล้านดอลลาร์
– กลุ่มเฮลท์แคร์ราว 600 ล้านดอลลาร์
– กลุ่มสื่อสารราว 200 ล้านดอลลาร์
Fund Outflow – เงินไหลออกมาที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ (23 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2020)
– กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ราว -1,700 ล้านดอลลาร์
– กลุ่มการเงินราว -1,400 ล้านดอลลาร์
– กลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบและวัสดุที่ใช้ในการผลิตราว -800 ล้านดอลลาร์
– กลุ่มพาณิชย์ราว -700 ล้านดอลลาร์
– กลุ่มผู้ให้บริการสาธารณูปโภคราว -770 ล้านดอลลาร์
(อ้างอิง: Bloomberg)
หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและเฮลท์แคร์ที่จัดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม New Economy ยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงตลาดขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม และเหมือนจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 น้อยกว่ากลุ่มอื่น โดยบางบริษัทได้ประโยชน์จากนโยบาย Social Distancing ด้วย เช่น ธุรกิจด้าน VDO Streaming
ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคและนโยบาย รวมไปถึงผลกระทบในอนาคตที่จะตามมาจากการระบาดของโรคและนโยบายของทางภาครัฐอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการเงิน ก็มีเม็ดเงินไหลออกพอสมควร
ภาพที่เราเห็นดังกล่าว สามารถสรุปได้ในเบื้องต้นว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น ต่อทั้งสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่จบลง และต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นได้จากกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงมีเงินทุนไหลออก แต่ด้วยมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ ทำให้ความเชื่อมั่นสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะยาวดีขึ้น จึงทำให้การถือเงินสดลดลงบ้าง ไม่เหมือนในช่วงแรกที่นักลงทุนหันไปถือเงินสดกันมาก แต่ปัจจุบันเริ่มกลับเข้ามาเลือกซื้อหุ้นกันมากขึ้น
ทั้งนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่ดีต่อภาพของตลาดหุ้นที่เริ่มกลับมามีเสถียรภาพ ซึ่งในอนาคตก็คาดได้ว่าจะปรับตัวไปตามปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจมากขึ้น ซึ่งมีทั้งสดใสและไม่สดใส จากเดิมที่ราคาหุ้นถูกกดดันจากความกลัวเป็นหลัก