×

SCBS เชียร์ลุยหุ้นเวียดนามดักอานิสงส์ขยับฐานะสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ดัน GDP โตกระโดด

23.03.2022
  • LOADING...
SCBS

SCBS แนะจัดพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม 20% ดักอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัวก้าวกระโดดใน 1-2 ปีจากนี้ และมีแนวโน้มขยับฐานะขึ้นสู่ประเทศมีรายได้ปานกลาง หลังจากโครงสร้างประชากรกลุ่มชนชั้นกลางเริ่มสูง มองกลุ่มค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคโดดเด่นสุด 

 

พสุวุฒิ วิไลนิรันดร์ หัวหน้าฝ่ายจัดการกองทุนส่วนบุคคล บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวในรายการ WEALTH IN DEPTH หัวข้อ เทียบฟอร์มตลาดหุ้น ‘ไทย vs. เวียดนาม’ ใส่เงินลงทุนตลาดไหนดี ว่าตลาดหุ้นเวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านการลงทุนมากกว่าตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีจากนี้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของ GDP ที่เติบโตต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แม้แต่ปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด GDP ประเทศเวียดนามก็สามารถเติบโตได้ 

 

เศรษฐกิจเวียดนามจ่อโตกระโดด

โดยจากนี้ไปในระยะกลาง ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจประเทศเวียดนามยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และจะสามารถขยับฐานะขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ในเร็วๆ นี้ จากปัจจุบันที่เวียดนามยังถูกจัดชั้นเป็นประเทศที่ GDP Per Capita คือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว หรือ GDP ต่อหัวอยู่ในระดับต่ำ 

 

“ตอนนี้ GDP ต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 8,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือมากกว่าเกือบ 3 เท่าตัว และ GDP เวียดนามเติบโตทุกปีแม้ช่วงปีที่มีโควิด จึงมองแนวโน้มว่า GDP ต่อหัวเวียดนามน่าจะถึงระดับ 4,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้เวียดนามข้ามผ่านความเป็นประเทศรายได้ต่ำ ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และจะผลักดันให้ GDP มีโอกาสเติบโตก้าวกระโดดได้” พสุวุฒิกล่าว  

 

ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลก GDP ต่อหัวที่ระดับ 4,000 ดอลลาร์ เป็นเส้นแบ่งระหว่างประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง โดยประเทศไทยมี GDP ต่อหัวแตะระดับ 4,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ตั้งแต่ 2007

 

เงินต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่อง 

เขากล่าวว่า ในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เวียดนามมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยมูลค่าเงินลงทุนโดยตรง (FDI) นั้นสูงกว่าประเทศไทย โดยมีเงินเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมเก่าและอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงมูลค่าการส่งออกก็แซงหน้าประเทศไทยแล้วเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีเงินต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดทุนสูงต่อเนื่อง โดยในปี 2018 ที่ผ่านมา มีเงินกองทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

“ที่เห็นชัดที่สุดคือ เวียดนามดึงเม็ดเงินลงทุนในอุตสหากรรมเก่าๆ ไปเกือบหมดแล้ว เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ (Garment) และระยะหลังก็ดึงเม็ดเงินของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ไปเช่นกัน เช่น อุตสาหกรรมทำเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ โดยกลุ่มทุนต่างๆ มองข้อดีของเวียดนามนอกเหนือจากค่าแรงถูก คือกำลังซื้อของชนชั้นกลางกำลังเติบโตอย่างเข้มแข็ง ขณะที่นโยบายภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับการวางแผนการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงานชั้นสูง” พสุวุฒิกล่าว 

 

ในส่วนของ Valuation ตลาดหุ้นเวียดนามนั้น แม้ปีที่แล้วดัชนีจะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 35% แต่กำไรบริษัทจดทะเบียนของเวียดนาม (บจ.) ก็เติบโตเช่นกัน โดยกำไร บจ. ของเวียดนามในอดีตเติบโตเฉลี่ย 10-15% ทำให้ P/E ไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค 

 

แนะระวังความเสี่ยงด้านความโปร่งใส

พสุวุฒิกล่าวเพิ่มว่า ความเสี่ยงในลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม คือความโปร่งใสของ บจ. และการกำกับดูแล โดยต้องยอมรับว่ามีโอกาสที่จะเจอกับ บจ. ที่มีแนวโน้มโกงงบการเงิน และไซฟอนเงิน (Money Siphoning) ค่อนข้างสูง ขณะที่ความเข้มข้นของการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เวียดนามนั้น ยังไม่ดีเท่ากับ ก.ล.ต. ของไทย  

 

อีกความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือการเมืองในประเทศเวียดนาม โดยเวียดนามปกครองด้วยระบอบคล้ายประเทศจีน จึงมีความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะเกิดความเสี่ยงเชิงนโยบายปกครองเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศจีนตอนนี้ 

 

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเชิงเศรษฐกิจมหภาคนั้น มองว่าไม่กระทบต่อภาคการลงทุนนัก เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด ซึ่งหากประเมินการรับมือของเวียดนามแล้ว เชื่อว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมจะน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน 

 

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม แนะนำจัดพอร์ตลงทุนในหุ้นเวียดนาม 20% โดยสามารถลงทุนในดัชนีผ่านกองทุน ETF หรือกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) กลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่นคือกลุ่มค้าปลีก และกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะได้อานิสงส์จากกำลังซื้อของประชากรชนชั้นกลางที่จะเติบโตอย่างเข้มแข็ง 

 

ชี้หุ้นไทยขาด New Engine 

พสุวุฒิกล่าวว่า สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น ยอมรับว่าต้อง Selective มากขึ้น โดย SCBS มีเกณฑ์การเลือกหุ้นดังนี้

  1. หุ้นที่มีขนาดใหญ่ ที่ได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรม และมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% ในอุตสาหกรรมนั้นๆ 
  2. หุ้นขนาดเล็กที่มาร์เก็ตแคปต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ที่มีปัจจัยโดดเด่นเฉพาะตัว เช่น เป็นผู้นำในตลาดเฉพาะกลุ่มที่ทำธุรกิจอยู่ การเติบโต 10-15% ในระยะ 3 ปี และมี P/E ต่ำ 
  3. หุ้นที่เกิดเหตุการณ์พิเศษขึ้นและนำไปสู่อานิสงส์เชิงบวก เช่น การเปลี่ยนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การปรับโครงสร้างธุรกิจ 

 

ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น-กลาง มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีจะกลับไปยืนที่ระยะ 1,800 จุด คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 100 บาท อย่างไรก็ตาม หากดัชนีปรับขึ้นถึงระดับ 1,800 จุดแล้ว จะมีความท้าทายเกิดขึ้น คือตลาดหุ้นไทยยังไม่มี Engine ใหม่ในการขับเคลื่อนตลาด 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X