ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBAM เปิดเผยว่า บริษัทได้เล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของตลาดหุ้นจีน โดยปัจจุบันหุ้น A-Share ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากตลาดสหรัฐฯ และยังมีความหลากหลายของประเภทบริษัท ทั้งยังมีพื้นฐานการเติบโตที่น่าสนใจ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หุ้นจีน A-Share เริ่มมีความสัมพันธ์กับดัชนีตลาดหุ้นหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นต่ำลง ทำให้มีความผันผวนน้อยลงในช่วงที่ตลาดโลกผันผวนสูง รวมถึงยังมีแนวโน้มเติบโตจากผลประกอบการที่ดี และมี Valuation ที่น่าดึงดูดเมื่อเทียบกับตลาดอื่นทั่วโลก ประกอบกับจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนในหุ้นจีน A-Share เพิ่มขึ้นถึง 100% ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน จึงสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของตลาดหุ้นจีนที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ หุ้นจีน A-Share ยังได้ถูกรวมและทยอยเพิ่มน้ำหนักในดัชนีหุ้นมาตรฐานระดับโลกมากมาย ส่งผลให้เกิดการไหลเข้าของเม็ดเงินอีกในระยะข้างหน้า โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา MSCI ได้เพิ่มสัดส่วนของหุ้นจีน A-Share ในแต่ละดัชนีจาก 4% เป็น 20% ใน MSCI EM Index
SCBAM จึงได้เปิดเสนอขายในประเภทกองทุนลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ต้องการออมเพื่อการเกษียณ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีน A-Shares เพื่อการเลี้ยง (SCB China A-Shares RMF: SCBRMCHA) มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 15-21 มิถุนายน 2564 ลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท
นอกจากนี้ ยังได้เปิด Share Class เพิ่มในชนิดเพื่อการออมคือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีน A-Shares (ชนิดเพื่อการออม) SCB China A-Shares Fund (Super Saving Fund): SCBCHA-SSF
โดยทั้ง 2 กองทุนเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นจีน A-Share และถือครองในระยะยาว
กองทุน SCBRMCHA และ SCBCHA-SSF เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ ChinaAMC CSI 300 Index ETF (กองทุนหลัก) ในสกุลเงินหยวน (RMB) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งกองทุนหลักเป็นกองทุนประเภท Exchange Traded Fund (ETF) ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (The Stock Exchange of Hong Kong Limited ‘SEHK’) บริหารงานภายใต้ความดูแลของ China Asset Management (Hong Kong) Limited และมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี CSI 300 เพื่อให้ผลการดำเนินงานใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี ทั้งนี้ กองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ทั้งจำนวน
สำหรับกองทุนหลักเป็น ETF ที่มี AUM ใหญ่ที่สุด และมีสภาพคล่องสูงที่สุดในกลุ่ม Offshore ETFs ที่อิงกับดัชนี CSI 300 ซึ่งลงทุนในหุ้น A-Share ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น ผ่าน RQFII (RMB Qualified Foreign Institutional Investors) ลงทุนในหุ้นจริงตามสัดส่วนการลงทุนของดัชนีอ้างอิง โดยไม่ใช้ Derivatives ในการลงทุนเทียบเคียงดัชนีอ้างอิง หรือที่เรียกว่าลงทุนแบบ Full Replication
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์