SCB CIO ชี้ เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังลงช้า หลังเงินเฟ้อภาคบริการยังสูง คาดกดลงเข้าเป้าหมายที่ 2% ภายในปีนี้ได้ยาก จับตา Fed ประชุมเดือนมิถุนายนนี้ คาดหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้วตรึงต่อถึงสิ้นปีนี้ หลังเสี่ยง Recession สูงขึ้น แนะนำระมัดระวังการลงทุน
คาดสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่า Fed, ECB รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2/66 แต่ยังไม่หั่นดอกเบี้ยลงในปีนี้ แนะนำป้องกันความเสี่ยง เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในพอร์ต
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่าน THE STANDARD WEALTH ว่าตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือเงินเฟ้อล่าสุดเดือนเมษายนปีนี้ของสหรัฐฯ ที่รายงานออกมาปรับตัวขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ถือว่าใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเมื่อเจาะลึกข้อมูลพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงเพราะเงินเฟ้อภาคบริการที่ไม่เกี่ยวกับอาหารและพลังงานยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินยังปรับตัวลดลงได้ช้า
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมในเดือนเมษายนปีนี้จะเห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง แต่ยังต้องติดตามต่อถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะถัดไป 3-6 เดือนข้างหน้า แต่เงินเฟ้อในภาคบริการยังคงอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยกดดันให้ภาพรวมตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีความเสี่ยงจะทรงตัวสูงต่อในระดับ 3.9-4% ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องการกดตัวเลขเงินเฟ้อสู่ระดับ 2% โดยยังต้องติดตามต่อไปว่าจะใช้ระยะเวลาอีกเท่าใดในการทำให้เงินเฟ้อปรับลดลงสู่เป้าหมายดังกล่าว
“การทำให้ตัวเลขเงินลงสู่ระดับที่ Fed ต้องการคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ คิดว่าภายในปีนี้ยังยากที่ตัวเลขจะวิ่งลงไปหาระดับ 2% ตามที่ Fed ต้องการ ส่วนปีหน้าอาจลงไปใกล้เคียงขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่ายังต้องใช้เวลาอยู่”
นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่ดีต่อตัวเลขเงินเฟ้อ แต่อาจเป็นปัจจัยลบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ หลังจากที่เงินเฟ้อค่าเช่าที่เป็นบวกแต่เริ่มชะลอตัวลง โดย SCB CIO ได้นำข้อมูลช่วงปี 1991-2022 ในช่วงที่ราคาที่อยู่อาศัยเริ่มปรับลดลงมาวิเคราะห์พบว่า ราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลงจะส่งผลให้ค่าเช่าเริ่มลดลงตามในช่วง 12-18 เดือน ซึ่งราคาบ้านของสหรัฐฯ เริ่มปรับลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 หลัง Fed เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นมีความเสี่ยงที่การลงทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเช่าหรือ Residential REITs ในสหรัฐฯ จะถูกผลกระทบ
ดร.กำพลกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีตัวเลขข้อมูลที่ยังต้องติดตามต่อ ที่จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าของสหรัฐฯ คือ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวในช่วง 3-4 เดือนแรกของปี 2023 มีอัตราการลดลงที่เร็วกว่า CPI ตามแนวโน้มของต้นทุนราคาพลังงานที่ปรับลดลง โดยยังติดตามข้อมูลในระยะต่อไปว่าจะมีแนวโน้มอย่างไร
นอกจากนี้ยังต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ที่กำลังจะรายงานออกมา ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่นำมาประกอบการพิจารณาในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยก่อนที่คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed จะประชุมในวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้
ขณะที่หลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ยมารวมประมาณ 5% ในระยะเวลา 1 ปี ส่งผลให้เกิดความตึงตัวของภาวะการเงินในสหรัฐฯ เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยในช่วง 30-40 ปีที่มีวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อีกทั้งความตึงตัวของภาวะการเงินในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาของสถาบันการเงินสหรัฐฯ กับยุโรป ที่มีผลให้ภาคธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อหรือมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเผชิญกับ Recession เพิ่มขึ้น
ดังนั้นประเมินว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในระยะต่อไปมีโอกาสจะเริ่มให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ลดลง โดย SCB CIO ยังคงมุมมองว่า Fed จะเริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือนมิถุนายนนี้ไว้ 5-5.25% โดยก่อนการประชุมจะมีรายงานการประชุมของ FOMC รอบล่าสุดของเดือนพฤษภาคมออกมา ซึ่งจะมีเงื่อนไขในการหยุดดอกเบี้ยรายงานออกมา
“คาดว่ามีโอกาสหยุดขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างสูงและคงไว้จนถึงสิ้นปีนี้ แต่การลดดอกเบี้ยมีโอกาสเกิดน้อย เพราะเงินเฟ้อภาคบริการยังเป็นตัวหลักที่ทำให้ภาพรวมเงินเฟ้อยังลดลงได้ช้า”
ด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 1/23 ของสหรัฐฯ ที่ออกมาล่าสุด ได้มีสัญญาณชัดเจนว่าเกิดภาวะ Earnings Recession ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากมีกำไรสุทธิออกมาหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบที่ปรับตัวได้ไม่ทันจากภาวะต้นทุนที่ปรับตัวขึ้น
ทั้งนี้ SCB CIO ยังคงคำแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุน เนื่องจากคาดว่าประเด็น Recession จะกลับมาสร้างความกังวลให้ตลาดอีกครั้งในช่วงกลางปีนี้ ดังนั้นจึงเน้นให้ลงทุนในพันธบัตรเพื่อป้องกันความเสี่ยงจาก Recession ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นมีมุมมองเป็น Neutral แนะนำให้ลงทุนใน 2 ตลาดหุ้น คือ ตลาดหุ้นจีนเฉพาะ A-Share กับตลาดหุ้นไทย โดยแนะนำให้ใช้จังหวะเข้าสะสมในช่วงราคาหุ้นย่อตัวจากความผันผวนที่มีผลกระทบจากปัจจัยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่มักปรับตัวลงเกินจริง (Overreact) ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- SCB EIC ชี้ธุรกิจขนาดเล็กในไทยยังฟื้นจากโควิดช้าและไม่เท่าเทียม แนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ช่วยเหลือต้นทุนผู้ประกอบการ
- SCBX เร่งเครื่องขยายธุรกิจตามยุทธศาสตร์ หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวออกหุ้นกู้ 1 แสนล้านบาท ตั้งเป้าเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค
- SCB CIO หนุนลูกค้าเวลธ์ลงทุนตราสารหนี้เทอมฟันด์ โอกาสรับผลตอบแทนจูงใจช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ชู 1 ปี 1.75%