×

SCB WEALTH คาด AUM ปีนี้ยังโต 5% ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเศรษฐีรุ่นใหม่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มเพิ่มเป็น 1.3 ล้านรายภายใน 3 ปี

22.06.2022
  • LOADING...
SCB WEALTH

SCB WEALTH คาด AUM ปีนี้ยังโตได้ 5% พร้อมตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเศรษฐีรุ่นใหม่ที่นิยมลงทุนบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็น 1.3 ล้านรายภายใน 3 ปี ด้าน SCB CIO แนะ 5 กลยุทธ์จัดพอร์ตชนะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วน SCBS ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.4% รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ มอง SET Index ปีนี้ อยู่ที่ 1,650 จุด

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB WEALTH คาดว่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ในปีนี้จะเติบโตขึ้น 5% จากปัจจุบันที่มี AUM อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2567 จะมี AUM แตะที่ระดับ 2 ล้านล้านบาท และมีฐานลูกค้าเศรษฐีรุ่นใหม่ที่มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป และนิยมลงทุนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 6.2 แสนรายเป็น 1.3 แสนราย

 

“แม้ว่าสภาวะตลาดหุ้นที่เป็นขาลงในปัจจุบันจะมีผลกระทบต่อ AUM ของเรา แต่เราก็ยังเชื่อว่า AUM ในปีนี้จะยังเติบโตได้ที่ 5% เพราะเรายังมีทางเลือกที่หลากหลายในด้านผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น KIKO, Structured Note, Property Backed Loan และ Lombard Loan ซึ่งตอบโจทย์การลงทุนในช่วงนี้ให้กับลูกค้า” ยรรยงระบุ

 

ด้าน ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงชะลอตัว ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566-2567 โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก ดังนี้

           

  1. ผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทาน ภายหลังจากหลายประเทศที่เป็นฐานของเศรษฐกิจหลักของโลกกำลังกลับเข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบปกติก่อนเกิดสถานการณ์โควิด แต่กลับมีการถูกกระทบของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อุปทานด้านแรงงานก็ยังประสบภาวะขาดแคลนทำให้ค่าแรงมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ 

 

  1. ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Conflicts) มีแนวโน้มยืดเยื้อ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดระหว่างโลกประชาธิปไตยตะวันตกกับโลกสังคมนิยม ทำให้เกิดการกีดกันในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางการเมือง นโยบาย และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ราคาพลังงานและอาหารปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อด้านต้นทุน (Cost Push Inflation) ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อตามไปด้วย

 

  1. การปรับเปลี่ยนของนโยบายการเงินแบบฉับพลันหลังเงินเฟ้อสูงมีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยเฉพาะนโยบายการเงินที่เคยมีลักษณะผ่อนคลายทั่วโลก มีการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำและอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาของสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวขึ้นอย่างมาก แต่เมื่อเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัวสูงและมีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งปรับทิศทางนโยบายการเงินให้ตึงตัวมากขึ้นอย่างมาก โดยการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและดึงสภาพคล่องออกจากระบบ 

 

“ภาวะเงินเฟ้อสูงที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ จะส่งผลให้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2565-2566 และส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการเงินโลก ผ่านการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร การลดลงของผลตอบแทนจากตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเน้นการเติบโตของรายได้สูง แต่ยังไม่มีกระแสเงินสดรองรับในระยะสั้น (Long Duration Equities) นอกจากนั้นความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ยังจะทำให้ความผันผวนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีสูงขึ้นอีกด้วย” ศรชัยกล่าว   

 

เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขาขึ้นที่เร็วและแรง รวมถึงตลาดการเงินโลกที่ยังผันผวน ศรชัยได้แนะนำ 5 กลยุทธ์การลงทุนไว้ ดังนี้ 

 

  1. สร้างกระแสเงินด้วยการทยอยสะสมตราสารหนี้คุณภาพสูง (Build Income Streams) ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อต่อราคาพลังงานและอาหาร จะยังทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อการขยับขึ้นของเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง การทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง (Investment Grade) จะเป็นการสร้างกระแสรายได้ให้กับพอร์ตโฟลิโอได้

 

  1. กระจายความเสี่ยงสู่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องจับจังหวะการลงทุนก็กำไรได้ (Non-directional Products) การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวตามตลาด ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนจากสงครามและความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย ด้วยการใช้ Market Timing อาจเกิดภาวะแรงฉุดจากความผันผวน (Volatility Drag) ในพอร์ตโฟลิโอได้ เพื่อจัดการความเสี่ยงด้านนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Private Assets จะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอและลดความผันผวนของพอร์ตได้ โดยนักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงด้วยการเลือกลงทุนใน Private Equity, Private Credit, และ Private Real Estate เป็นต้น 

 

  1. ป้องกันความเสี่ยงด้านต่ำ (Limit Downside Risk) ด้วยหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง (Structure Notes) สำหรับนักลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงด้านต่ำในการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์ได้ในประเด็นนี้ โดยทาง SCB CIO มีทางเลือกหลากหลายในด้านผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น KIKO และ Equity-Linked Note  

 

  1. มองข้ามความผันผวนระยะสั้นด้วยการลงทุนแบบ Thematic แม้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัว ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่ในระยะปานกลางและระยะยาว ยังมีหลายภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างยั่งยืนได้ ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมในกลุ่ม ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยเฉพาะธีม Renewable Energy & Decarbonization

 

  1. การนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Enhancing Return) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การลงทุนที่ SCB CIO พร้อมนำเสนอเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน โดยการนำสินทรัพย์การลงทุนไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนที่มีอยู่แล้วมาเป็นหลักประกันในการทำ Lombard Loan เพื่อนำไปลงทุนต่อยอดเสริมผลตอบแทนในระยะข้างหน้า 

 

ขณะที่ สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ว่าจะยังไม่สดใส โดยได้รับผลกระทบจาก Sentiment ด้านลบของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ เนื่องจากแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวมยังมีการเติบโตได้จากอนิสงส์ของการเปิดประเทศ ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยมีสัดส่วนในตลาดไม่มาก     

       

ทั้งนี้ SCBS มองว่า ปัจจัยพื้นฐานของ SET ในปี 2565-2566 ยังคงดี โดยคาดว่า Earnings Per Share (EPS) เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อปี กลุ่มที่ EPS ฟื้นตัวไปที่ระดับก่อนเกิดโควิด ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่ง SCBS ได้ประเมินกรอบ SET Index ในระดับคงเดิม ที่ 1,550-1,750 จุด และประเมินเป้าหมายของ SET Index ปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X