SCB WEALTH เผยช่วงต้นปี 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 เงินลงทุนทั่วโลกไหลเข้า Money Market ในดอลลาร์สหรัฐสูงสุด คาดมี Fed เริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนนี้ หนุนเงินลงทุนเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
ศรชัย สุเนต์ตา CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับลดลงช้ากว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อติดต่อกัน 6 เดือน คาดว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะค่อยๆ ลดลง และเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มั่นใจว่าสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2% ได้ หลังจากนั้น Fed จะกลับมาให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งตลาดคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 และรวมทั้งปีนี้คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยประมาณ 3-4 ครั้ง โดยในช่วงที่ดอกเบี้ยเริ่มลดลงจะทำให้ผลตอบแทนของการถือครองเงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐปรับลดลง และผลตอบแทนไม่ได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่น
“ในปี 2566 ที่ผ่านมา การถือเงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐให้ผลตอบแทนประมาณ 5.1% ดีกว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ แต่อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนดีกว่าสินทรัพย์อื่นๆ ขณะที่จากสถิติย้อนหลัง 30 ปีพบว่า เงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่นในปีที่เกิดวิกฤต แต่ในจังหวะที่เงินเฟ้อทรงตัวอัตราดอกเบี้ยมีทิศทางเป็นขาลง เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ สินทรัพย์เสี่ยงจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก ส่วนเงินสดในสกุลดอลลาร์สหรัฐจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์อื่น ดังนั้น เราจึงควรหาแนวทางไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นก่อนจะตกรถ” ศรชัยกล่าว
สถิติย้อนหลัง 5 ปีเงินทะลักเข้า Money Market สกุลดอลลาร์
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 เงินลงทุนทั่วโลกยังคงไหลเข้าไปในตลาดเงิน (Money Market) สกุลดอลลาร์สหรัฐสูงที่สุด ตามด้วยตราสารหนี้ภาคเอกชน พันธบัตรรัฐบาล และหุ้น โดยในส่วนของ Money Market สกุลดอลลาร์สหรัฐ หากนับรวมตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเงินไหลเข้ามารวม 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว หมายความว่าเมื่อถึงช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลง เม็ดเงินใน Money Market สกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนี้มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ
สำหรับผู้ลงทุนที่นำเงินส่วนใหญ่พักไว้ใน Money Market สกุลดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมองว่าการลงทุนในตราสารการเงินซึ่งมีระยะเวลาสั้นๆ ยังให้ผลตอบแทนได้ดี ทำให้ไม่เคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ใดนั้น ในอนาคตผลตอบแทนระยะสั้นมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สินทรัพย์อื่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นไปก่อนแล้ว ดังนั้น เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี ผู้ลงทุนควรมองหาช่องทางไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตราสารหนี้อายุประมาณ 1-3 ปี รวมถึงการเพิ่มโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ มองว่าตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนในอีก 1-3 ปีข้างหน้ายังให้ผลตอบแทนสูง เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และอาจได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับลดลงในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ด้วย ส่วนการลงทุนในหุ้นพบว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ล้วนมีผลการดำเนินงานที่ดี ด้วยอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักในดัชนีค่อนข้างมาก เช่น ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ( YTD) ปรับขึ้นมาประมาณ 7-8% ผลตอบแทนที่มาจากหุ้นขนาดใหญ่กลุ่ม 7 นางฟ้า ประมาณ 6% ส่วนที่เหลือไม่เกิน 2% เป็นผลตอบแทนของหุ้นอื่นๆ ในตลาด สะท้อนถึงการกระจุกตัวของผลตอบแทนที่มาจากหุ้นขนาดใหญ่ค่อนข้างชัดเจน ส่วนตลาดหุ้นยุโรป เมื่อดูจากดัชนี STOXX 600 พบว่า นับแต่ต้นปี 2567 (YTD) ปรับเพิ่มขึ้น 4.5% โดยเป็นผลการดำเนินงานจากหุ้นขนาดใหญ่ 7 ตัว เกือบ 4% มีเพียงส่วนน้อยที่เหลือที่มาจากหุ้นขนาดเล็ก
มองหุ้นญี่ปุ่นน่าสนใจในระยะกลางถึงยาว
ศรชัยกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาตลาดคาดหวังกับผลตอบแทนของหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก และให้ผลตอบแทนเป็นไปตามที่เป้าหมาย ซึ่งหุ้นเหล่านี้อาจมีการปรับฐาน จากการขายทำกำไร ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนให้เติบโตได้อีก และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังเป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มนี้ แม้นักลงทุนจะรับรู้ปัจจัยการลดดอกเบี้ยไปในราคาหุ้นแล้วก็ตาม ดังนั้น แนวโน้มในอนาคตอาจปรับขึ้นไม่มากอย่างที่ผ่านมา ทำให้มองว่านักลงทุนสามารถถือลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วต่อไปได้ แต่ผลตอบแทนที่ได้รับอาจไม่สูงเช่นเดิม
สำหรับตลาดหุ้นในเอเชีย มองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดหุ้นเกาหลีใต้น่าสนใจ โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่น นับแต่ต้นปี 2567 (YTD) ให้ผลตอบแทน 15-16% แต่ผลตอบแทนกระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและเทคโนโลยีเป็นหลัก ในส่วนของดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้จะปรับตัวขึ้นมามาก แต่เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นในรอบก่อนที่เคยทำสถิติสูงสุด พบว่าราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) มีความแตกต่างกัน โดยในครั้งนี้มีระดับ P/E ที่ต่ำกว่า
ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีมาตรการในการปฏิรูปธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้บริษัทนำเงินสดที่เก็บไว้จำนวนมากในงบดุลออกไปซื้อหุ้นคืน ซึ่งจะช่วยให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ EPS สูงขึ้น และสามารถจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้สูงขึ้น ก็จะช่วยให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นได้ เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปที่มี ROE มากกว่า 20% ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่น เงินเฟ้อเริ่มปรับเพิ่มขึ้น การจ้างงานดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ส่วนค่าแรงปรับตัวขึ้นตามเงินเฟ้อ ซึ่งช่วยให้การบริโภคในญี่ปุ่นดีขึ้น และจะส่งผลให้เกิดการลงทุนที่มาจากนักลงทุนญี่ปุ่นมากขึ้นตาม ดังนั้น เราจึงมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าสนใจในระยะกลางถึงยาว เพียงแต่ในระยะสั้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับขึ้นมามาก อาจมีการปรับฐานบ้าง นักลงทุนอาจรอจังหวะที่ตลาดปรับฐานเพื่อกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้ง
ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปัจจุบันยังมีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ที่ต่ำมากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจและมีเงินสดมากในงบดุล ซึ่งตลาดหุ้นเกาหลีใต้กำลังพยายามผลักดันการเพิ่มมูลค่าบริษัทคล้ายกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น ผ่านการซื้อหุ้นคืน และการจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุน นอกจากนี้ ROE ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้มักจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับวัฏจักรของการส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น การส่งออกเกาหลีใต้ก็น่าจะฟื้นตัว ทำให้ ROE ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ดีขึ้น ส่วนกำไรต่อหุ้นก็น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามการส่งออก นอกจากนี้ ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ก็ยังถูกอยู่ โดย P/E ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 10.6 เท่า หรือ -0.3 S.D. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนใน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนส่วนเสริมสำหรับเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนในไตรมาสที่ 2 นี้