×

ราคาหุ้น SCB ดิ่ง 9% หลังพ้นเดดไลน์ซื้อหุ้นเพื่อแลกเป็น SCBX เตือนนักลงทุนใช้สิทธิ์แลกได้ถึง 18 เม.ย. นี้

12.04.2022
  • LOADING...
ธนาคารไทยพาณิชย์

หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ประกาศปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน โดยจัดตั้งบริษัท SCBX ขึ้นมา และให้ SCBX เป็นผู้เสนอซื้อหุ้นสามัญ (Tender Offeror) ทั้งหมดของ SCB จากผู้ถือหุ้นเดิมของ SCB ในอัตรา 1 หุ้นสามัญ หรือ 1 หุ้นบุริมสิทธิ์ของ SCB สามารถแลกได้ 1 หุ้นสามัญของ SCBX โดยมีระยะเวลา Tender Offer ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม – 18 เมษายน 2565 หลังจากนั้นจะเพิกถอนหลักทรัพย์ SCB ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ดังนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2565 จะเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ผู้ถือหุ้น SCB นำหุ้นมาแลกเป็นหุ้น SCBX ได้ ส่วนผู้ที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากโดยปกติแล้วการซื้อขายหุ้นจะมีขั้นตอนการส่งมอบและการชำระราคาซึ่งจะใช้ T+2 เท่ากับว่าผู้ที่ต้องการซื้อหุ้น SCB เพื่อนำมาแลกเป็นหุ้น SCBX จะต้องซื้อก่อนวันที่ 11 เมษายน เพื่อนำหุ้นมาแลกเป็น SCBX ได้ทันวันที่ 18 เมษายน 2565 (เพราะติดวันหยุดช่วงสงกรานต์) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ที่ซื้อหุ้น SCB หลังวันที่ 11 เมษายน 2565 จะไม่สามารถนำหุ้นมาแลกเป็นหุ้น SCBX และนี่ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้น SCB ในวันนี้ (12 เมษายน) ปรับลดลงค่อนข้างแรง 

 

โดยล่าสุด ณ เวลา 15.50 น. หุ้น SCB เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 104 บาท ลดลง 11.50 บาท หรือ 9.96% 

 

ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ราคาหุ้น SCB ที่ลดลง เป็นผลจากการที่หุ้นยังอยู่ในช่วงของการแลกหุ้น ทำให้ปริมาณหุ้นของ SCB หมุนเวียนในตลาดน้อยลงและความผันผวนมากขึ้น 

 

“ขณะนี้ยังไม่แนะนำเข้าซื้อ เพราะนักลงทุนจะไม่สามารถนำหุ้นไปแลกเป็น SCBX ได้แล้ว และหุ้น SCB จะกลายเป็นหุ้นนอกตลาด เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรจะรอเข้าซื้อหลังผ่านกระบวนการทั้งหมด”

 

หลังการเปลี่ยนผ่านเราประเมินราคาเป้าหมายของ SCBX ที่ 157 บาท จากธุรกิจหลักที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่หลังจากนั้นน่าจะเริ่มเห็นธุรกิจย่อยที่เคยอยู่ภายใต้แบงก์เริ่มถูกให้มูลค่าใหม่มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นบวกต่อบริษัท 

 

“ในแง่งบการเงินอาจจะดูยาก เพราะธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบงก์ เช่น เช่าซื้อ ลิสซิ่ง จะรายงานเป็นรายได้ดอกเบี้ย ทำให้เราแยกโครงสร้างรายได้ค่อนข้างยาก ในระยะแรกอาจยังไม่ได้เห็นการเติบโตที่เร็วนัก เพราะธุรกิจย่อยที่คาดหวังว่าจะเป็นตัวที่เติบโตบางส่วนเพิ่งจัดตั้งหรือดำเนินงานได้ไม่นาน” 

 

ส่วนประเด็นที่ว่าดีลการซื้อ Bitkub อาจล่มหรือไม่นั้น ธนภัทรมองว่า หากบริษัทยังต้องการที่จะซื้อตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก เชื่อว่ากฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ 

 

“แบงก์ชาติออกกฎเกณฑ์ว่าถ้าธนาคารเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโตจะลงทุนได้ไม่เกิน 3% ของเงินลงทุน แต่ดีลนี้คิดเป็น 4% ของเงินลงทุน ซึ่งกฎเกณฑ์นี้จะใช้กับธนาคารพาณิชย์ ไม่ครอบคลุม SCBX เพราะฉะนั้นการที่ บล.ไทยพาณิชย์ จะถูกโอนย้ายมาอยู่ใต้ SCBX ก็จะสามารถเข้าซื้อได้หลังการปรับโครงสร้าง” 

 

ด้าน ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างของ SCB เป็น SCBX จะช่วยให้บริษัทขยายธุรกิจในเชิงรุกมากขึ้น เพราะบริษัทย่อยต่างๆ ที่เดิมทีอยู่ภายใต้ธนาคารอาจมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากกว่า 

 

“อย่างธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งจะเริ่มเจาะฐานลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น และอาจเห็นการลงไปชนกับบริษัทอย่างเมืองไทย แคปปิตอล (MTC) หรือศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD)” 

 

อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โครงสร้างกำไรของบริษัทจะยังมาจากธุรกิจธนาคารเป็นหลัก จากข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2564 โครงสร้างกำไรจากธุรกิจธนาคารอยู่ที่ 90% ส่วน 10% มาจากธุรกิจย่อยที่จะโอนไปอยู่ภายใต้ SCBX

 

“SCBX ตั้งเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่เป็น 30% ของ ส่วนตัวมองว่าจะเป็นไปได้ไหมต้องดูอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการเปิดเผยก่อนหน้านี้ยังไม่ชัดเจนนัก จะเห็นแค่บางธุรกิจที่มีอยู่แล้ว เช่น CARDX น่าจะเป็นตัวหนุนแรก ส่วน AUTOX อาจต้องรอดูว่าจะทำได้ดีแค่ไหน แต่ก็ยังมีโอกาสจากตลาดที่ค่อนข้างใหญ่” 

 

ในเบื้องต้น บล.เอเซียพลัส ประเมินราคาเหมาะสมของ SCBX ที่ 140 บาท ซึ่งยังไม่รวมธุรกิจใหม่ในอนาคต 

 

หลังปรับโครงสร้างเสร็จแล้วจะเห็นการเติบโตใหม่ๆ ที่มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจย่อยที่อาจเห็นการปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงาน ส่วนระยะแรกธุรกิจธนาคารจะยังเป็นแกนหลัก แต่ในอนาคตคงจะลดลงต่อเนื่อง 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising