×

ไทยพาณิชย์ยกระดับ ‘ดิจิทัล-เวลท์’ สองเครื่องยนต์สร้างการเติบโตระยะยาว

08.11.2023
  • LOADING...

“สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เทรนด์ของดิจิทัลที่โลกแห่งอนาคตต้องมุ่งไปสู่ทิศทางนี้” กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนธุรกิจของธนาคารในปี 2567  

 

กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

 

เขากล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร (ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565) สิ่งแรกที่เร่งดำเนินการก็คือ เดินสายพบพนักงานกว่า 2 หมื่นคนเพื่อทำให้เกิดการประสานระหว่างคนและเทคโนโลยีไปด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ เนื่องจาก ณ เวลานั้นทุกคนล้วนกำลังตื่นเต้นกับ ‘เอสซีบี เอกซ์’ ยานแม่ที่เพิ่งประกาศตัวแยกออกไปตั้งเป็น Holding Company รวมถึงตื่นตัวกับกระแสดิจิทัลที่เข้ามาดิสรัปต์หลายอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการเงินการลงทุน

 

โดยโจทย์หลักของ ‘กฤษณ์ จันทโนทก’ คือ จะทำอย่างไรให้ธนาคารไทยพาณิชย์ไปต่อได้ และนำมาสู่คำตอบที่จะเป็นกลยุทธ์หลักของไทยพาณิชย์ นั่นคือ Digital Bank with Human Touch ด้วยการผสานโลกเก่าและโลกใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ง่าย แต่ต้องเชื่อใจได้ และตอบโจทย์ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร  

 

บริหารงานด้วยหลักเก้าอี้ 3 ขา

 

กฤษณ์ขับเคลื่อนองค์กรด้วยการยึดหลักเก้าอี้ 3 ขา ประกอบด้วย 

  1. การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ในการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางนั้น ข้อมูลที่ไทยพาณิชย์มีอยู่จะต้องจัดระบบข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อใช้ให้ถูกที่ถูกเวลาจึงจะรู้ถึงความต้องการของลูกค้าได้ 

 

  1. พนักงานต้องมีความสุขและทำงานได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ การทำให้เพื่อนพนักงานสนุก สามัคคี สำเร็จ เป็นเรื่องที่พูดง่ายทำยาก แต่ส่วนตัวมีความมั่นใจว่า ถ้าธนาคารปรับตัวให้สอดคล้อง มีความร่วมสมัย และทำงานอย่างสนุก สามัคคี และทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดี ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์จะอยู่คู่กับคนไทยไปอีก 100 ปีข้างหน้าได้อย่างแน่นอน 

 

  1. ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็น Stakeholder ที่สำคัญนั้น เมื่อธนาคารสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลประกอบการก็จะออกมาเป็นที่น่าพอใจตามโจทย์ของผู้ถือหุ้นในที่สุด 

 

บอร์ด-ผู้ถือหุ้นพอใจ 9 เดือนกำไรโต 21%

 

ทั้งนี้ ผลประกอบการ 9 เดือนที่ผ่านมาน่าจะเป็นตัวเลขที่บอร์ดและผู้ถือหุ้นพอใจ ธนาคารมีรายได้ 1.07 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิที่ 36,600 ล้านบาท เติบโต 21% สาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการดีมาจากธนาคารสามารถควบคุมต้นทุน เพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไรในอนาคตด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยงวด 9 เดือนที่ผ่านมาธนาคารสามารถกดต้นทุนได้จาก 41% เหลือ 37.4% รวมถึงการได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น ทำให้เกิดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลประกอบการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ธุรกิจประกัน Trade Finance และ Capital Market 

 

“เชื่อว่าธนาคารจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำ 20% แต่ได้ 80% จากนี้ไปสู่อนาคต” กฤษณ์กล่าว  

 

เปิด 4 ความท้าทายในปี 2567

 

  1. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารมองว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปี 2567 จะไม่ขึ้นไปกว่านี้ ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยลดลง ดังนั้น ธนาคารจึงต้องหา Growth Engine เพื่อสร้าง Growth Story  
  2. ความเสี่ยงจากหนี้เสีย โดยมองว่ากลุ่มลูกค้าทั้งรายย่อยและรายใหญ่ที่เปราะบางจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น
  3. เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเชื่อว่า AI ในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะก้าวกระโดด ซึ่งธนาคารก็ติดตามให้เท่าทัน เพื่อนำมาช่วยส่งเสริมการให้บริการแก่ลูกค้าได้ โดยในอนาคตอันใกล้สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือ การให้บริการที่เป็นปัจเจก (Personalization) มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นโจทย์ท้าทายในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจธนาคาร 
  4. การบริหารจัดการต้นทุน การที่ทุกธนาคารต้องหันมามองเรื่อง ‘ต้นทุน’ จะต้องสร้างระบบอัตโนมัติที่ไม่ใช่คนมาทำงานแทนคนให้มากขึ้น และหารายได้จากดิจิทัลมากขึ้น เพื่อลดความผันผวน ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายทุกองค์กรรวมทั้งไทยพาณิชย์

 

ขอเวลา 2 ปี ดันสัดส่วนรายได้จากดิจิทัลเป็น 25% 

 

กฤษณ์กล่าวว่า เป้าหมายปี 2568 จะผลักดันให้รายได้จากดิจิทัลเพิ่มเป็นสัดส่วน 25% เทียบกับตอนที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ (เดือนสิงหาคม 2565) ซึ่งรายได้ดิจิทัลอยู่ที่ 3-4% โดยซีอีโอธนาคารไทยพาณิชย์ยอมรับว่า การจะทำให้ถึงเป้าหมายที่ 25% ถือว่าท้าทายมาก แต่เชื่อว่าจะทำได้สำเร็จ 

 

“ตั้งเป้าหมายรายได้จากดิจิทัลจะต้องเพิ่มเป็น 1 ใน 4 ของรายได้รวม ซึ่งถ้าทำได้ในระดับนี้จะทำให้เราก้าวหน้ากว่าดิจิทัลแบงก์รายใหม่ๆ ในตลาด ที่กว่าจะตามเราทันก็คงต้องใช้เวลา 5 ปีหรือ 10 ปี ในฐานะผู้นำอยากเห็นพนักงานไทยพาณิชย์และผู้บริหารมองโจทย์ธุรกิจใหม่ เพราะธนาคารจะทำธุรกิจด้วยรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้ แต่ต้องไปดิจิทัลอย่างสุดโต่ง” 

 

ทุ่มงบ 8 พันล้านต่อปี ยกเครื่องไอที

 

อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2567 งบลงทุนด้านไอทีของเราอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท และจะต่อเนื่องด้วยเงินลงทุนระดับนี้ต่อไปอีก 3-4 ปี ทั้งนี้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกธนาคารซึ่งเป็นเป้าหมายที่ฝันไว้มานาน 

 

อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์

 

ตั้งแต่ปี 2558 ธนาคารมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก โดยมีการลงทุนในช่วง 3 ปีนั้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ทุกวันนี้ธนาคารมีลูกค้าประมาณ 17 ล้านราย โดย 14 ล้านรายเป็น Digital Active (มีการ Interaction ผ่าน Digital Channel อยู่ตลอดเวลา) ซึ่ง Digital Channel ใหญ่ๆ ของธนาคารคือ SCB EASY สำหรับลูกค้า Retail และสำหรับลูกค้า Corporate ก็จะมีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า S1 กับ CDX หรือ Biz Anywhere ที่จะมาแทน S1 ภายในสิ้นปีหน้า 

 

และในปี 2566 ธนาคารเริ่มเปลี่ยน Core Banking จากเดิมที่ Core Banking ของเราอยู่ใน Mainframe ที่ระบบข้างหลังคือ Cobalt Systems ซึ่งจากนี้ไปจะไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกของ Mainframe อีกแล้ว ทำให้ความเสี่ยงเรื่องระบบของธนาคารจะมีสูงมาก ดังนั้น เราจะเปลี่ยน Core Banking ที่เป็นหัวใจหลักของธนาคาร นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่จะทำให้ไทยพาณิชย์สร้าง Customer Centricity ได้ดีขึ้นคือ AI และ Data

 

อรพงศ์กล่าวว่า โดยรวมทุกวันนี้ธนาคารเห็นลูกค้าผ่าน Digital Channel 14 ล้านราย 33 ล้านแอ็กเคานต์ เมื่อเราสร้าง Digital Community ที่ใหญ่ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน ได้แก่

 

  1. การสร้าง Customer Centricity
  2. การสร้าง Digital Convenience
  3. การ Invent Digital Product

 

“ทั้งหมดนี้คือโจทย์ใหญ่ 3 โจทย์ ได้แก่ 1. มีเทคโนโลยีเป็น Brain ที่ฉลาด เข้าใจลูกค้า ทำให้ทุกอย่างเป็น Customer Centric จริงๆ 2. การติดต่อลูกค้าผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน และ 3. สามารถ Customize Product ที่เหมาะกับตัวตนของลูกค้าแต่ละคนได้” อรพงศ์กล่าว 

 

Wealth Management เครื่องยนต์สร้างการเติบโต

 

กฤษณ์กล่าวว่า Growth Engine ที่จะต้องสร้างความแตกต่างให้กับธนาคารได้คือ Wealth Management โดยธนาคารจะต้องสร้างจุดเด่นให้เกิดขึ้นในธุรกิจ 

 

“มีโจทย์ว่า หากนึกถึงธนาคารไทยพาณิชย์แล้วนึกถึงบริการอะไรเป็นอย่างแรก ฟีดแบ็กที่ได้รับตรงกันในกลุ่มผู้บริหารว่า อยากให้ธนาคารไทยพาณิชย์ต่อจากนี้ไปจะต้องเป็นหนึ่งในเรื่อง Wealth เพราะเรามีจุดแข็งมากมาย ทั้งฐานลูกค้าที่มั่งคั่งในปริมาณที่เยอะที่สุดในไทย ในทุกเซกเมนต์ พันธมิตรธุรกิจที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้อย่างรอบด้าน” 

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้นเป็นเรื่องที่ ‘พูดง่ายแต่ทำยาก’ เพราะจะทำอย่างไรให้ Wealth ของธนาคารไทยพาณิชย์ต่างจากที่อื่น พวกเราทุกคนก็กำลังคุย วางแผน คาดว่าต้นปีหน้าจะแถลงให้รับทราบในการบริหารจัดการ Wealth โดยตั้งใจจะปรับตรงนี้ให้ชัดเจน และทำอย่างไรในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ Wealth ไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้ 

 

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์

 

เร่งอัปสกิล RM สร้างจุดต่างให้ธุรกิจ Wealth 

 

ทางด้าน ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เหตุผลที่ SCB ต้องเป็นที่ 1 ในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ก็เพราะเป็นเทรนด์ธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตสูง 

 

โดยสังเกตได้ว่า ในช่วงหลังธนาคารระดับโลก (Global Bank) ที่ประสบความสำเร็จและมีผลลัพธ์จาก P/BV Ratio และ ROE ที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่เพราะธนาคารเหล่านั้นให้ความสำคัญกับเรื่องธุรกิจความมั่งคั่งแทบทั้งสิ้น เป็นเช่นนั้นเพราะประชากรศาสตร์ (Demography) คือเรื่องสำคัญที่เกิดทั่วโลก กลุ่มผู้สูงอายุ Ageing จะมีค่าใช้จ่ายเพียงพอในระยะยาว ส่วนคนที่ยังไม่ Ageing ในตอนนี้ในหลายประเทศก็พบว่า ฟังก์ชันของประเทศตัวเองไม่เพียงพอที่จะรองรับการอยู่ การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ยกตัวอย่างเช่น ประกันสังคมไม่เพียงพอ 

 

อีกหนึ่งปัจจัยคือเรื่องเทคโนโลยี ที่ตอนนี้เทคโนโลยี AI ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ Machine Learning ต่างๆ ที่ได้เข้ามาช่วยทำให้ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งสามารถเป็นโอกาสให้กับทุกคน 

 

ดร.ยรรยง กล่าวว่า ไทยพาณิชย์ทำธุรกิจ Wealth อย่างจริงจังกันเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ในช่วง 4-5 ปีผลของการทรานส์ฟอร์มทำให้เกิด New S-Curve ขึ้นมากับธนาคาร เมื่อก่อนเราปรับเปลี่ยนพนักงานสาขามาเป็น Wealth RM และอัปสกิลพนักงานจนเป็น S-Curve ใหม่ ปัจจุบันรายได้ของธุรกิจ Wealth ทั้ง Investment และ Insurance รวมกันเพิ่มขึ้นมาเป็น 20% จากปี 2560 ที่มีเพียง 7% ของรายได้ธนาคาร จึงมองว่าเป็นธุรกิจที่ต้องให้ความสำคัญต่อไปในอนาคต

 

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด

 

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ย้ำภาพผู้นำธุรกิจ Wealth 

 

ย้อนไปปี 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศความร่วมมือกับจูเลียส แบร์ (Julius Baer) บริษัทบริหารจัดการความมั่งคั่งและการลงทุนจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในนามบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) โดยธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นสัดส่วน 60% และจูเลียส แบร์ถือ 40%

 

ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการนำเข้าประสบการณ์ 130 ปี ในการดูแลลูกค้ากลุ่มความมั่งคั่งระดับสูงจากทั่วโลกของจูเลียส แบร์ ผสานเข้ากับจุดแข็งของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ริเริ่มและมีฐานลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งจำนวนไม่น้อย เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนทั่วโลกแบบไร้พรมแดนให้กับลูกค้า

 

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากก่อตั้งมาเข้าปีที่ 5 แล้ว มีการทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบริการลูกค้าให้ได้ตามที่ต้องการ จนสามารถพูดได้ว่า ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์เป็นที่เดียวที่สามารถให้บริการลูกค้าได้ครบที่สุด

 

จากรีเสิร์ชทั่วโลกในปี 2565 และ 2566 จะเห็นได้ว่าคนรวยทั้งโลกจนลง แต่สิ่งที่ต่างคือ Southeast Asia หรือประเทศไทย มีคนรวยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในเชิงมูลค่า 4% จึงเป็นการตอกย้ำว่า ทิศทางการวางเป้าหมายเรื่องธุรกิจ Wealth Management ของไทยพาณิชย์ถือว่ามาถูกที่ถูกทางแล้ว 

 

แบงก์ระดับโลกกระโจนเข้าตลาดในไทย

 

ลลิตภัทรกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยในปีที่แล้วถึงปีนี้ มีแบงก์ต่างชาติที่มาขอ License เพื่อจะมาตั้งออฟฟิศหรือสาขาเยอะเป็นประวัติการณ์ ถ้าดูจาก Earning ของเขาจะเห็นได้เลยว่า ที่มีธุรกิจ Wealth Management ไม่ได้พูดถึงเฉพาะ Private Banking แต่หมายถึง Wealth Management โดยรวม คือคนที่มีความแข็งแรงแล้วก็มีมูลค่าที่สุด เพราะฉะนั้น 1-2 ปีนี้เราจะเห็น House ต่างชาติตบเท้าเข้ามา เพราะว่าคนรวยในประเทศไทยจะ Onshore Wealth เราจะต่างจากอินโดนีเซีย หรือหลายๆ ประเทศที่มีเงินที่มักจะไปลงทุนนอกประเทศ แต่คนรวยในเมืองไทย 80% ของความมั่งคั่งอยู่ในประเทศ เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจนี้อย่างไรก็ต้องทำในประเทศ

 

ส่งต่อความมั่งคั่งสู่ Next Generation

 

สิ่งที่วันนี้ในเชิงของ Wealth หรือ High-Net-Worth ที่ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โฟกัสจริงๆ คือเรื่องของ Next Generation หรือรุ่นถัดไป ซึ่งไม่ได้แปลว่าเด็ก เพราะว่าโลกเปลี่ยนเร็วมาก จะมีหลายๆ แกนเลยที่พึงจะต้องทำ แล้วอันนี้เป็นโฟกัสของจูเลียส แบร์ด้วยในการสร้าง Next Generation Group เพราะฉะนั้นปีนี้เป็นปีแรกที่ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เปิดตัวโครงการ The 45 Academia เพื่อเป็น Leader of Tomorrow คือการสร้าง Next Generation ซึ่งจะเกี่ยวกับเรื่อง ESG เกี่ยวกับไดเรกชันการเปลี่ยนแปลงของตลาด ซึ่งเราเชื่อว่าคนเหล่านี้ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับลูกค้าของเรา ซึ่ง Group ที่ผ่านมา 30 คน เราอยากจะมีส่วนในการสร้างผู้นำของสังคมในรุ่นใหม่ๆ การจะสร้างผู้นำยุคใหม่เราจะทำอย่างไร สิ่งที่เราค้นพบ เขาอยากเรียนรู้ ก็ต้องบอกว่าทั้งเรื่องการทำธุรกิจ ทั้งเรื่องการเรียนผู้นำ เรื่องของอนาคต ESG เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราโฟกัสแล้วเราก็ตั้งใจจะสร้างคอมมูนิตี้ของคนเหล่านี้ในประเทศไทยต่อไป

 

ด้วยจุดแข็งของไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ที่มีทั้งเรื่องของฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง, Infrastructure, Universal Bank และ Wealth Management เราจึงวางเป้าหมายที่จะเป็น International Private Banking เบอร์ 1 ในประเทศไทย

 

ต่อคำถามสำคัญที่ว่า ทำอย่างไรให้เวลท์เป็นเรื่องของทุกคน กฤษณ์ตอบว่า ถ้าต้องการปักหมุดให้เวลท์เป็นเรื่องทุกคน เทคโนโลยีช่วยได้ ซึ่งจะออกมาในรูปแบบของแพลตฟอร์มให้ความรู้และทำให้เกิดขึ้นจริง แต่สำคัญที่สุดจะต้องเน้นเรื่อง Better Brain ภายในธนาคารก่อน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับลูกค้าทุกคน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X