×

‘ไทยพาณิชย์’ เผยปีนี้ขยายสินเชื่อแบบระมัดระวัง คาดโตแค่ 2-3% ตั้งเป้ารุกธุรกิจเวลท์สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม เน้นเจาะกลุ่มทายาทคนรุ่นใหม่

27.04.2023
  • LOADING...
ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์เผย ปีนี้ไม่รุกสินเชื่อแบบก้าวกระโดด คาดโตแค่ 2-3% ตั้งเป้าบุกธุรกิจบริหารความมั่งคั่งหวังช่วยสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม เล็งขยายฐานกลุ่มทายาทธุรกิจคนรุ่นใหม่

 

กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินเชื่อของธนาคารในปีนี้อาจขยายตัวขึ้นเพียง 2-3% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3-5% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ธุรกิจขนาดกลางและระดับล่างยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้ธนาคารยังต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและไม่ต้องการจะโตแบบก้าวกระโดด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ส่วนกรณีที่ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง มีปัญหาจนทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่มในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา กฤษณ์ระบุว่า ขณะนี้ธนาคารได้มีการติดต่อพูดคุยกับลูกค้ารายดังกล่าวไปแล้ว ส่วนรายละเอียดต่างๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นอยากให้ทางบริษัทเป็นผู้ให้ข้อมูลเองมากกว่า

 

นอกจากนี้ กฤษณ์ยังพูดถึงกรณีที่รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารทั้งระบบซึ่งรวมถึงไทยพาณิชย์ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนของบริการบางประเภทที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่รายได้ของธนาคารไม่ได้ปรับสูงขึ้นตาม เช่น กรณีของตู้ ATM ที่แม้สังคมไทยจะขยับจากการเป็นสังคมเงินสดไปเป็นการทำธุรกรรมดิจิทัลมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังใช้เงินสดอยู่ ทำให้ธนาคารยังต้องเก็บโครงสร้างของโลกยุคเดิมเอาไว้เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย

 

กฤษณ์ระบุว่า ตู้ ATM ถือเป็นบริการที่มีต้นทุนสูง เพราะธนาคารต้องอัปเกรดซอฟต์แวร์ระบบของตู้ตลอด ซึ่งค่าบริการตรงนี้ค่อนข้างสูง ทำให้ต้นทุนบางอย่างเกิด Mismatch ซึ่งในสมาคมธนาคารไทยก็มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ โดยแนวทางแก้ไขเบื้องต้นที่มองไว้ 2 ทางคือ 1. ผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดในวงกว้างและเร็วขึ้น กับ 2. การร่วมกับพันธมิตรเพื่อแชร์ต้นทุนและความเสี่ยงเพื่อลดต้นทุน

 

“ตอนนี้เรายังมุ่งมั่นไปในแนวทางแรก คือช่วยกันส่งเสริมให้คนใช้ธุรกรรมดิจิทัลมากขึ้น ส่วนค่าธรรมเนียมจะมีการปรับขึ้นหรือไม่คงต้องดูตามความเหมาะสม ถ้าไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมเราจะไม่ปรับ การปรับขึ้นจะต้องอธิบายได้ว่าทำไมต้องปรับ ต้นทุนส่วนไหนเพิ่มขึ้น” กฤษณ์กล่าว

 

ตั้งเป้าขึ้นแท่นเบอร์ 1 ธุรกิจเวลท์ใน 3 ปี

กฤษณ์กล่าวอีกว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าจะรุกธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มากขึ้น เนื่องจากมองว่าธุรกิจนี้จะมีส่วนเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมได้ โดยปัจจุบัน SCB WEALTH มีฐานลูกค้าเวลท์ที่มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป กว่า 400,000 ราย ซึ่งรวมถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individuals) คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดกว่า 40% 

 

โดยธนาคารมีแผนงานขยายฐานลูกค้าเติบโตให้อย่างต่อเนื่องมากกว่า 12% ต่อปี โดยเฉพาะในกลุ่ม Young Affluent ที่มีความสนใจในการวางแผนการลงทุนที่เติบโตต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุนที่หลากหลาย และเป็น Open Architecture รวมถึงการขยายฐานลูกค้านักลงทุน digital investors ผ่านการพัฒนา Wealth Platform ตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนครบวงจร ตั้งเป้าภายใน 3 ปี มีฐานลูกค้า Digital Investors กว่า 1.3 ล้านราย โดยมีไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูง (UHNWIs/ HNWIs)

 

“ข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันกลุ่ม Affluent ในทวีปเอเชียมีสินทรัพย์รวมกันถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ และในอีก 3-5 ปีข้างหน้ามีโอกาสที่สินทรัพย์ดังกล่าวจะเติบโตขึ้นเป็น 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง ที่มี AUM ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวมกันถึง 10 ล้านล้านบาท และในอีก 3-5 ปีข้างหน้าก็มีแนวโน้มที่สินทรัพย์ของคนกลุ่มนี้จะเติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี ทำให้ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งมีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก” กฤษณ์กล่าว

 

กฤษณ์กล่าวว่า การมีบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ (SCB Julius Baer) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และ จูเลียส แบร์ ถือเป็นจุดแข็งของธนาคารในการรุกธุรกิจบริหารความมั่งคั่งแบบครบวงจรของธนาคาร เนื่องจากการผสานความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสากลของจูเลียส แบร์ เข้ากับจุดแข็งของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศที่มีความเข้าใจกลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในประเทศไทยอย่างลึกซึ้งและเครือข่ายที่กว้างขวาง ช่วยให้ธนาคารสามารถให้คำแนะนำที่ตรงเป้าหมายได้อย่างล้ำสมัย และมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับตลาดเมืองไทย

 

เจาะกลุ่มทายาทคนรุ่นใหม่

ด้าน ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ กล่าวว่า ปี 2566 นี้ถือเป็นปีที่การปรับนโยบายการเงินเริ่มกลับมาเป็นปกติหลังจากที่มีการใช้นโยบายที่ตึงตัวอย่างมากในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระบวนการ Disinflationary ในสหรัฐอเมริกายังคงดำเนินต่อไป แต่ยังคงมีความผันผวนในระดับสูงจากความเปราะบางเชิงโครงสร้างในด้านอุปทาน ในภาวะดังกล่าวบริษัทจึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนให้เข้าลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่คุณภาพดี ลดการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield Bond) 

 

ขณะที่การลงทุนในหุ้นยังแนะนำให้ใช้กลยุทธ์แบบ Barbell คือลงทุนทั้งในกลุ่มที่เป็น Secular Growth ที่ยังคงมีการเติบโตที่ดีผสมกับหุ้นคุณภาพที่เป็นกลุ่มปลอดภัย (Defensive) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เราให้น้ำหนักการลงทุนเชิงบวกคือกลุ่มเทคโนโลยี (Technology) กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และกลุ่มสื่อสาร (Communication)

 

ทั้งนี้ เพื่อเดินหน้าสู่คลื่นลูกใหม่ของธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูง ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ได้นำเอากลยุทธ์ ‘The New Wave of Wealth’ มาใช้เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อเจาะกลุ่มทายาทคนรุ่นใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 3 แกนสำคัญ ได้แก่        

 

  1. Onshore & Offshore Investment: ลูกค้าไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ สามารถลงทุนทั้งในประเทศ (Onshore) และต่างประเทศ (Offshore) ซึ่งถือเป็น House แรกและที่เดียวในประเทศไทยที่สามารถดูแลและให้บริการแบบครบวงจร 

 

  1. Human Touch: บริการที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าคนไทยอย่างแท้จริง ด้วยผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือ Relationship Manager (RM) คนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจตลาดเมืองไทย เข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และแนวคิดของคนไทยด้วยกัน พร้อมที่จะให้บริการได้ทันทีด้วยการให้บริการแบบ Human Touch โดยมีเทคโนโลยีมาสนับสนุน (Human Touch with Digital Support)

 

  1. Seamless Access: การให้บริการผ่าน Open Product Platform ด้วยผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย และการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่ง (Wealth Planning) รวมทั้งบริการที่ดีที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนได้อย่างอิสระ ทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล (Tailored Made) และเข้าถึงการลงทุนทั่วโลกได้อย่างแท้จริง

 

“นอกจากนี้ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ยังเตรียมเปิดหลักสูตร ‘The 45 Academia’ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มทายาทนักธุรกิจและกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (Next Generation) พัฒนาศักยภาพของตนเอง และเตรียมความพร้อมการสืบทอดธุรกิจให้อย่างยั่งยืน โดยเราตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะสามารถขึ้นแท่นผู้นำ International Private Banking ที่มีความเป็นเลิศด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่งแบบครบวงจร ให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (UHNWIs และ HNWIs) ของเมืองไทย” ลลิตภัทรกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X