โบรกเกอร์ประเมินดีล SCB-Bitkub อาจเลื่อนไปหลังไตรมาส 2 ปีนี้ รอความชัดเจนจากกฎเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อผลกระทบไม่มากเหตุหลังขึ้นเป็น SCBX มีลักษณะเป็น Holding Company ทำให้เกณฑ์ควบคุมไม่เข้มงวด แต่คาดมูลค่าดีลอาจลดต่ำกว่า 1.78 หมื่นล้านบาท เหตุวอลุ่มเทรดในปัจจุบันวูบกว่า 60% จากช่วงประกาศดีลในเดือนพฤศจิกายน 2564
วานนี้ (24 มีนาคม) ธปท. ได้ปรับแนวทางดูแลกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบริการผ่านเทคโนโลยี มีสาระสำคัญดังนี้
- ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน
- ให้บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital Asset (DA) ภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หากธนาคารพาณิชย์สามารถยกระดับมาตรฐานของกิจการ DA ให้เป็นไปตามที่กำหนดได้ เช่น เรื่องธรรมาภิบาล การดูแลความเสี่ยงระบบงาน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ จะอนุญาตให้ไม่นับเงินลงทุนของกิจการนั้นในเพดานการลงทุน
โดย ธปท. จะออกร่างหลักเกณฑ์เพื่อรับฟังความเห็นก่อนที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในครึ่งปีแรก ปี 2565
ตฤณ สิทธิสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังบริษัท พบว่าดีลดังกล่าวยังสามารถทำได้ เพราะโครงสร้างหลังปรับเป็น SCBX จะมีลักษณะเป็น Holding Company ทำให้เกณฑ์ควบคุมไม่เข้มงวดเท่ากับการดำเนินงานภายใต้รูปแบบของธนาคาร โดยสามารถนำส่วนเกินดังกล่าวไปหักออกจากเงินกองทุนแทนได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในช่วงหลังการทำประชาพิจารณ์ของหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดย ธปท. มีแผนออกร่างหลักเกณฑ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นภายในครึ่งปีแรก ปี 2565
“เชื่อว่าดีลของ SCB และ Bitkub ยังเดินหน้าต่อได้ แต่อาจจะเลื่อนปิดดีลเป็นหลังไตรมาส 2 ปีนี้ จากแผนเดิมที่จะปิดดีลภายในไตรมาสแรกปีนี้ โดยเชื่อว่า SCB จะปรับโครงสร้างเป็น Holding Company ก่อน เพื่อเข้ากับเกณฑ์ของ Holding ซึ่งจะทำให้สามารถนำเงินลงทุนส่วนที่เกินเพดานกำหนดไปหักออกจากเงินกองทุนของ Holding แทน” ตฤณกล่าว
สำหรับธนาคารอื่นๆ ฝ่ายวิจัยมองว่า การลงทุนในธุรกิจ Digital Asset ยังเป็นเพียงช่วงสำรวจโอกาสทางธุรกิจ และมีการเริ่มลงทุนค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่มีมูลค่าเงินลงทุนไม่ถึงเกณฑ์เพดาน 3% ของเงินกองทุน
ขณะเดียวกัน ประเมินทั้ง 2 มาตรการของ ธปท. เป็นบวกต่อภาพรวมของกลุ่มธนาคาร โดยจะช่วยเร่งให้เกิดการลงทุนใน FinTech เพื่อสร้างเทคโนโลยีในการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ มองกสิกรไทยเป็นธนาคารที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่ม เพราะมีหน่วยงานที่ลงทุนด้าน FinTech ที่แข็งแรง และมีแผนขยายการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง JVAMC เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียในระยะยาว ส่วน SCB คาดจะมีประเด็นกดดัน จากความเข้มงวดของการกำกับดูแลธุรกิจ Digital Asset มากขึ้น ซึ่งมองว่ามีความเสี่ยงที่ ธปท. จะใช้เกณฑ์ควบคุมที่เข้มงวดเช่นเดียวกับกรณีของธนาคารเพื่อให้เกิด Level Playing Field เดียวกันกับธนาคารอื่น ซึ่งอาจกระทบกับการตั้งสำรอง เงินกองทุน และแผนลงทุนในธุรกิจ Digital Asset ต่างๆ ในอนาคต
โดยแนะนำให้ติดตามร่างหลักเกณฑ์ของแนวทางควบคุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับการกำกับดูแลการลงทุนด้านธุรกิจ Digital ของบริษัทที่เป็น Holding Company
ธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สำนักวิจัย บล.ทิสโก้ กล่าวว่า กรณี ธปท. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital Asset (DA) ภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุนนั้น ประเมินว่า SCB ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงธนาคารเดียวที่ลงทุนในธุรกิจ DA อย่างมีนัยสำคัญ จะสามารถปิดดีลการลงทุนใน Bitkub Online ได้ตามมูลค่าเดิมที่เคยประกาศไว้ที่ 1.78 หมื่นล้านบาท แต่อาจจะปิดดีลในไตรมาส 2/65 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมที่ประกาศว่าเข้าลงทุนแล้วเสร็จในไตรมาส 1/65
“มองว่ามาตรการที่ ธปท. ประกาศเมื่อวานนี้เป็นการสร้างความชัดเจนเรื่องการลงทุนในธุรกิจ DA และเป็นสัญญาณบอกถึงอนาคตของธุรกิจแบงก์ไทยว่าจะไปในทิศทางของ DA และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ซึ่งแบงก์ที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือผู้ที่เป็น First Mover อย่างไทยพาณิชย์และกสิกรไทย” ธนวัฒน์กล่าว
ขณะที่ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่าธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB จะยังสามารถเดินหน้าซื้อ Bitkub ต่อไปได้ เพราะเชื่อว่า SCB สามารถดำเนินการตามแนวทางกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ ธปท. กำหนดได้
อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าดีลซื้อ Bitkub มีโอกาสต่ำกว่าที่ SCB เคยแจ้งไว้ก่อนหน้าที่ 1.78 หมื่นล้านบาท เพราะเมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดือน (อ้างอิงจาก ก.ล.ต.) พบว่ามูลค่าการซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ลดลง 60% เทียบกับมูลค่าการซื้อขายในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่ SCB ประกาศดีล
นอกจากนี้ จำนวนบัญชีที่มีการ Active ของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 4.95 แสนบัญชี ลดลง 29% เทียบกับจำนวนบัญชีที่มีการ Active ในเดือนพฤศจิกายน 2564 จึงอาจเป็นเหตุผลที่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองด้านราคาให้ SCB
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ระบุว่า กรณียกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน เป็นบวกต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ส่วนกรณีให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ DA ภายใต้เพดานที่ 3% จะกดดัน SCB
โดยปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital Asset ขนาดใหญ่มากนัก ยกเว้น SCB ที่อยู่ระหว่างการเข้าซื้อหุ้น 51% ใน Bitkub Online กับ SCBS (SCB ถือ 100%) มูลค่าธุรกรรมเกือบ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับเงินกองทุน ณ สิ้นปี 2564 ของ SCB ที่ราว 4.2 แสนล้านบาท จึงสามารถลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital Asset ได้ไม่เกิน 1.3 หมื่นล้านบาท
ทำให้ต้องติดตามต่อว่า SCB จะเดินไปในทิศทางใด โดยมองทางเลือกไว้ 3 ทางคือ
- กรณีที่เดินหน้าต่อต้องดูว่าจะสามารถขอผ่อนผันเกณฑ์ Limit ได้หรือไม่
- อาจต้องต่อรองราคาซื้อขายให้ต่ำลง
- อาจลดสัดส่วนการเข้าซื้อหุ้นใน Bitkub Online ให้สอดรับกับ Limit ข้างต้น
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์เท่าตลาด เลือก KBANK และ TISCO เป็นหุ้นเด่น เพราะ ROE ทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม ส่วน SCB นั้นราคาหุ้นปรับฐานจนมาซื้อขายต่ำกว่าราคาช่วงสองวันก่อนประกาศดีลที่บริเวณ 125-130 บาท ซึ่งตอบรับประเด็นลบแล้ว จึงแนะนำซื้อ
ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที คาดว่า SCB จะปรับตัวและเดินหน้าทำดีล Bitkub ได้ แต่อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ลดราคาในการเข้าซื้อลง หรือ เปลี่ยนแปลง Accounting บางรายการ
อย่างไรก็ตาม ธปท. เปิดทางเรื่องธรรมาภิบาล การดูแลความเสี่ยงระบบงาน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ซึ่งหากมีเรื่องเหล่านี้จะอนุญาตให้ไม่นับเงินลงทุนของ DA ในเพดานการลงทุนได้ ทำให้เชื่อว่า SCB จะทำตามเรื่องดังกล่าวได้ และจะสามารถเดินหน้าทำดีล Bitkub ตามเดิมต่อไปได้ โดยคาดว่าดีลจะเกิดหลังจากเปลี่ยนเป็น SCBX ได้สำเร็จภายในไตรมาส 2/65
จึงคงน้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นมากกว่าตลาด และเลือก KBANK และ SCB เป็น Top Pick เพราะ Valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.72 เท่า ของ PBV ด้าน NPL แม้ว่าจะยังอยู่ในขาขึ้น แต่เป็นการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีมาตรการช่วยเหลือต่อถึงสิ้นปี 2566
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP