สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่าทางธนาคารได้รับใบอนุญาตการจัดตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ เมียนมา จากธนาคารกลางเมียนมา และพร้อมให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 มกราคม 2564 ถือเป็นส่วนสำคัญตามยุทธศาสตร์การขยายเครือข่ายต่างประเทศในกลุ่มประเทศ CLMV+2 (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน และสิงคโปร์) โดยมี ราเจช อาฮูจา ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น แต่ทิศทางการลงทุนในเมียนมาจะไม่เปลี่ยนจากเดิม และมองว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง คาดว่า GDP เมียนมาจะกลับมาโต 6% ในปี 2564 (ปี 2563 คาดว่าจะโต 1.5%)
ทั้งนี้ ทางธนาคารไทยพาณิชย์ เมียนมา เป็นธนาคารไทยเพียงแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบ ‘ธนาคารลูก’ (Subsidiary License) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา โดยตั้งเป้าหมายให้บริการทั้งในกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ซึ่งอัตราประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมีถึง 74% รวมทั้งสินเชื่อในภาคธุรกิจที่มีเพียง 20% ของ GDP
นอกจากนี้จะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินและระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถตอบโจทย์โลกธุรกิจและการเงินดิจิทัลให้กับเมียนมาผ่านการศึกษาเพื่อพัฒนาบริการในเมียนมา โดยจะเริ่มต้นพัฒนาด้านระบบการชําระเงินดิจิทัล ทั้ง Corporate Portal สำหรับลูกค้าธุรกิจ และ Mobile Banking สำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในปี 2565 เพื่อตอบโจทย์การชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการใช้และบริหารเงินสดในประเทศ
อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจธนาคารในเมียนมมาจะมีสัดส่วนสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ 87% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ลูกค้ารายย่อยมีราว 10% ซึ่งมองว่าสินเชื่อดิจิทัลจะมีบทบาทสูงมาก เพราะอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มจาก 80% เป็น 90% ของประชากรในปี 2561-2562 และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นกว่า 1 ล้านผู้ใช้งาน ระหว่างปี 2562-2563 จึงเป็นกลุ่มศักยภาพสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเงินดิจิทัล
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์