กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เผยว่าเงินบาทเดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าเร็ว โดยเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซีย-อิหร่าน แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลง และเงินภูมิภาคที่อ่อนค่า ทำให้ SCB FM ปรับประมาณการค่าเงินบาทในระยะต่อไปให้อ่อนขึ้น โดยมองเงินบาทเฉลี่ยในกรอบ 36.80-37.30 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ ด้านอัตราดอกเบี้ย ขณะนี้ตลาดมอง กนง. มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ย THOR OIS ปรับสูงขึ้นมา อย่างไรก็ดี SCB FM มองว่ายังมีโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยในปีนี้อยู่ ลูกค้าจึงอาจพิจารณาปิดกลยุทธ์ Pay Fixed ผ่าน THOR OIS 2y ที่แนะนำไปเดือนก่อนเพื่อทำกำไร ส่วนเหตุการณ์ที่ต้องจับตาในช่วงนี้ คือการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งอาจทำให้ Yield สหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นอีก กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่าได้
แพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดการเงินในเดือนที่ผ่านมาผันผวนค่อนข้างสูง ทั้งในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดพันธบัตรรัฐบาล โดยมีเหตุการณ์สำคัญคือ สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง ทำให้ตลาดปรับมุมมองการดำเนินนโยบายของ Fed และล่าสุดคือการแทรกแซงค่าเงินเยนของธนาคารกลางญี่ปุ่น
ปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินบาทเดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าเร็ว โดยหลังเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน เงินบาทอ่อนค่าราว 1.6% อย่างไรก็ดี การอ่อนค่านี้ยังใกล้เคียงกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค สำหรับทั้งปี 2024 ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าถึง 7.6% ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค เป็นรองแค่เงินเยนที่อ่อนค่าถึง 9.2% นอกจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitical Risk) แล้ว แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ก็ส่งผลต่อเงินบาทเช่นกัน โดยคณะกรรมการ Fed ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดประเมิน ทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าเพิ่มเติม และสุดท้าย การอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นในภูมิภาคทั้งเงินหยวนและเงินเยน ก็เป็นปัจจัยกดดันให้บาทอ่อนค่าตามเช่นกัน
สำหรับมุมมองในระยะต่อไป มองเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าที่เคยประเมินไว้ โดยมองเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ในกรอบ 36.80-37.30 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ เนื่องจาก 1. เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ลดลงช้าและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้นโยบายการเงินของ Fed และธนาคารกลางหลักอื่นอาจแตกต่างกันมากขึ้น โดย Fed อาจลดดอกเบี้ยช่วง Q3 ขณะที่ ECB อาจลดดอกเบี้ยตั้งแต่กลางปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าต่อ กดดันสกุลเงินอื่นในภูมิภาคและเงินบาท 2. ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยลดลงกว่าที่เคยประเมินไว้ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า โดย SCB FM พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและค่าเงินบาทสูงขึ้นนับตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤตโควิด เนื่องจากสัดส่วนสินค้ากลุ่มพลังงานต่อดุลการค้าไทยเพิ่มขึ้น และ 3. แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทต่างชาติมักส่งเงินกลับ ทำให้อาจกดดันเงินบาทอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย
ประเด็นที่ต้องจับตาในช่วงนี้คือผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งมีโอกาสที่ Fed จะส่งสัญญาณ Hawkish ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Yield) อายุ 10 ปี อาจเพิ่มขึ้นต่อได้เล็กน้อยไปที่ราว 4.75-4.95% โดยในการประชุมรอบก่อน Fed กล่าวว่า “หากเศรษฐกิจปรับตัวลงตามที่คาด ก็น่าจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้” อย่างไรก็ดี แพททริกมองว่ามีโอกาสที่คำกล่าวนี้อาจถูกปรับไปหรือตัดออก ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณที่ Hawkish ขึ้น นอกจากนี้ คาดว่า Fed จะปรับลดขนาดงบดุลช้าลง จาก 6 หมื่นเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน แต่การปรับมาตรการนี้น่าจะไม่ส่งผลต่อการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (US Treasury) ซึ่งจะไม่ทำให้อุปทานพันธบัตรลดลงมากจนเป็นแรงกดดันด้านต่ำต่อ Yield และสุดท้าย แพททริกมองว่าปัจจุบันภาวะการเงินในสหรัฐฯ ยังค่อนข้างผ่อนคลาย เพราะราคาสินทรัพย์เสี่ยงและดัชนีตลาดหุ้นยังอยู่ในระดับสูง แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ยังดีและเงินเฟ้อที่ลดลงช้า ทำให้อาจเห็น Yield ปรับสูงขึ้นอีก เพื่อให้ภาวะการเงินเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไป
สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย ล่าสุดตลาดมอง กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ โดยให้โอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยภายในปีนี้เพียง 50% เท่านั้น โดยในการประชุม Analyst Meeting สัปดาห์ที่แล้ว ธปท. ยังไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย แต่กล่าวว่าระดับอัตราดอกเบี้ยเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว และเศรษฐกิจจะยังขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน ซึ่งหากดูการขยายตัวแบบเทียบต่อไตรมาส ธปท. ก็ยังมองว่าอยู่ในเกณฑ์ดี จึงทำให้ความจำเป็นที่ต้องลดดอกเบี้ยยังน้อย นอกจากนี้ ธปท. มองว่าการลดดอกเบี้ยจะไม่ช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลง โดยถึงแม้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ในระยะสั้น แต่ดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้มากขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ดี SCB FM มองว่า โอกาสที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ยังมีอยู่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ (Neutral Rate) ลดลงตามโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
สำหรับกลยุทธ์ค่าเงินบาทนั้น วชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดือนที่ผ่านมา SCB FM แนะให้ตั้งเป้าขายที่ระดับราว 36.10-36.40 บาท ซึ่งจะได้กำไรจากวันที่แนะราว 50 สตางค์ อย่างไรก็ดี บาทอ่อนค่าต่อเนื่อง และไม่กลับมาแข็งค่าดังที่ประเมิน จึงทำให้ยังไม่มี Level ที่สามารถเข้าซื้อ USDTHB ได้ สำหรับกลยุทธ์ในเดือนหน้านี้ มองว่าเงินบาทที่ราว 37.20-37.60 บาท เป็นระดับที่ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขายได้ โดยมองว่าหลังการประชุม FOMC มีโอกาสที่ Fed อาจสื่อสารในโทน Hawkish จนกดดันให้บาทอ่อนค่าไปที่ระดับนั้น อย่างไรก็ดี แรงกดดันด้านอ่อนค่าน่าจะทยอยลดลงในระยะปานกลางถึงยาว เนื่องจาก Fed น่าจะไม่กลับมาขึ้นดอกเบี้ยดังที่ตลาดกลัว และ ธปท. อาจเข้าดูแลค่าเงินในเวลาที่เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง จึงมองว่าผู้นำเข้าอาจตั้งเป้ารอซื้อเงินบาทที่ราว 36.50-36.80 บาท
ด้านกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ย ลูกค้าที่ได้ Pay Fixed ผ่าน THOR OIS 2y ที่ราว 2.00% ตามที่แนะนำไปเมื่อเดือนที่แล้ว อาจพิจารณาปิด Trade ได้ โดยจะได้กำไรราว 40 bps สำหรับกลยุทธ์ที่แนะให้ Receive Fixed Rate ผ่าน THOR OIS อายุ 5 ปี ที่ราว 2.30% เมื่อเดือนก่อน แนะให้อาจพิจารณาปิด Trade นี้ และรอจังหวะเข้าทำใน Level ที่สูงกว่านี้ เนื่องจากยังมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับสูงขึ้นตาม US Treasury Yield หลังการประชุม FOMC