SCB ธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้าเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อ ‘ทั้งหมด’ 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อ ‘สีเขียว’ หรือ Net Zero 2050 ตามมาตรฐาน SBTi พร้อมเผยว่าบรรลุเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 1.5 แสนล้านบาท ภายในปี 2025 ได้ราว 74% (1 แสนล้านบาท) แล้ว แม้ปรับเป้าเพิ่มไปก่อนหน้านี้
วันนี้ (3 กันยายน) กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้วางเป้าหมายสู่ความยั่งยืนใน 3 ระยะ ได้แก่
- ภายใน 2025 จะสนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจำนวน 1.5 แสนล้านบาท
- ภายในปี 2030 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารให้เป็น Net Zero
- เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science Based Targets initiative (SBTi) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว
เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายข้างต้น ธนาคารวางกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสำหรับการส่งต่อความยั่งยืนให้กับผู้เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 3 แกน ประกอบด้วย
- Sustainable Banking สนับสนุนการเงินยั่งยืนแก่ลูกค้า
- Corporate Practice Excellence นำไทยพาณิชย์สู่องค์กรแห่งความยั่งยืน
- Better Society พัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้น
ขณะที่ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “มาตรฐาน SBTi (Science Based Targets initiative) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด จากกรอบการดำเนินงานที่อยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ โปร่งใส และตรวจสอบได้ สะท้อนจากกว่า 8,800 องค์กรธุรกิจชั้นนำของโลกที่ได้ให้คำมั่นหรือประกาศเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ตามกรอบ SBTi โดยธนาคารไทยพาณิชย์ภายใต้ทิศทางนโยบายของ SCBX จึงนับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของไทยที่ประกาศเจตจำนงสู่เป้าหมาย Net Zero ตามกรอบ SBTi ซึ่งตอกย้ำวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของธนาคารไทยพาณิชย์ในการเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและสร้างความพร้อมให้กับเศรษฐกิจไทยต่อความท้าทายและโอกาสของสังคมคาร์บอนต่ำ”
SCB เผย บรรลุเป้าปล่อยสินเชื่อยั่งยืนราว 74% แล้ว แม้ปรับเป้าเพิ่มไปก่อนหน้านี้
ดร.ยรรยง ยังได้เผยถึงความคืบหน้าของเป้าปล่อยสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน 1.5 แสนล้านบาทภายใน 2025 (ระหว่างปี 2023-2025) โดยระบุว่า ปัจจุบันได้อนุมัติวงเงินดังกล่าวไปแล้วกว่า 1.11 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 74% ของเป้าหมายดังกล่าว
ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ SCB ได้ขยับเป้าขึ้นเป็น 1.5 แสนล้านบาท จากเป้าก่อนหน้านี้ที่ 1 แสนล้านบาท โดย ดร.ยรรยง ย้ำว่า เป้าหมายที่ 1.5 แสนล้านบาทนี้นับว่าท้าทายและสูงที่สุดในระบบธนาคารไทย
ตั้งเป้าลดอุณหภูมิพอร์ตโฟลิโอลูกค้าขนาดใหญ่ลงเหลือ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040
ด้วยกลยุทธ์ของธนาคารได้ทำให้ระดับอุณหภูมิพอร์ตโฟลิโอของลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยปรับลงแล้วกว่า 0.19 องศาเซลเซียส จาก 2.84 องศาเซลเซียสจากปีฐาน 2021 มาอยู่ที่ 2.65 องศาเซลเซียสในปี 2023
โดยธนาคารมีเป้าหมายจะทำให้ระดับอุณหภูมิของพอร์ตสินเชื่อลดลงสู่ระดับ 2.35 องศาเซลเซียสภายในปี 2028 และ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040 ซึ่งจะช่วยให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุ Net Zero ได้ในปี 2050
กฤษณ์กล่าวเสริมว่า “ความยั่งยืนของไทยพาณิชย์เราเริ่มมาแล้วร้อยกว่าปี และสิ่งที่เราทำในวันนี้คือการส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานได้อยู่ต่อไปอีกร้อยปี เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้า ผู้คนจะต้องดำเนินชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม ธุรกิจจะต้องเติบโตต่อไปได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยพาณิชย์มุ่งมั่นเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับพันธมิตรส่งต่อความยั่งยืนให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชันทางการเงิน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมได้อยู่อย่างยั่งยืน”