×

แบงก์ไทยพาณิชย์ คาด สรรพากรประกาศแนวปฏิบัติภายในเดือน ต.ค. นี้ พร้อมไขข้อข้องใจ ‘เก็บภาษีลงทุนนอก’ เงื่อนไขแบบไหนเข้าข่ายเสียภาษี

20.09.2023
  • LOADING...
แบงก์ไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ มองสรรพากรออกประกาศจะเก็บภาษีเงินได้จากเงินได้ต่างประเทศ เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2567 คาดนักลงทุนไทยที่ลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่จดทะเบียนต่างประเทศแล้วนำเงินกลับไทย โดนภาษีหมด ส่วนกองทุนไทยลงทุนนอก – DR รอด

 

ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office and Wealth Platform ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า กรณีที่กรมสรรพากรออกประกาศจะจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศกับบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งจากการทำงาน การลงทุนทางตรงในตราสาร หรือสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แล้วนำเงินได้กลับเข้ามาประเทศไทย จะถูกเก็บภาษีแบบไม่มีข้อยกเว้น เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่หากมีเงินได้จากต่างประเทศแล้วในปีนี้นั้น แต่นำเงินกลับเข้ามาในปีถัดๆ ไป ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี โดยแนวปฏิบัติใหม่นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป 

 

โดยภาษีกรมสรรพากรที่จะจัดเก็บจากเงินได้จากสินทรัพย์หรือตราสารลงทุนในต่างประเทศ จะมีการพิจารณาเงื่อนไขการเก็บจากแหล่งที่มาของการจดทะเบียนของตราสารลงทุนด้วย ตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนไทยมีการลงทุนทางตรงในหุ้นกู้ที่ออกโดยผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย หรือซื้อหน่วยลงทุนที่ออกโดยกองทุนของต่างประเทศโดยตรง ก็จะถูกจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศตามประกาศใหม่ของกรมสรรพากร 

 

แต่ในกรณีที่นักลงทุนมีการซื้อหน่วยลงทุนที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทย แล้ว บลจ. นำเงินไปลงทุนต่อในต่างประเทศ ในกรณีนี้ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ถูกเก็บภาษี เพราะถือว่าเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย

 

ส่วนตราสารการลงทุน คือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt: DR) ที่นักลงทุนสงสัยว่าจัดเป็นสินทรัพย์ลงทุนประเภทใด ซึ่งกรณีของ DR สามารถตีความได้ว่าเป็นหลักทรัพย์ไทย เพราะมีการจดทะเบียนในประเทศไทย ก็จะไม่เข้าข่ายถูกจัดเก็บภาษีตามประกาศใหม่ของกรมสรรพากร

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่นักลงทุนไทยมีการลงทุนซื้อ-ขายหุ้นต่างประเทศ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือโบรกเกอร์ไทย ซึ่งหุ้นที่จดทะเบียนในต่างประเทศและมีการโอนนำเงินออกซื้อ-ขายหุ้นไปฝากกับผู้ดูแลทรัพย์สิน (Custodian) ในต่างประเทศ ในกรณีนี้ หากได้ผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมาจะถือว่าเป็นแหล่งเงินได้ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งหากมีการถอนเงินผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนแล้วโอนกลับเข้ามาที่บัญชีเงินฝากธนาคารในไทย หรือบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit) ที่เปิดในไทย ก็เข้าเงื่อนไขที่จะถูกจัดเก็บภาษีดังกล่าว

 

สำหรับกรณีที่มีเงินไทยจากประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หมายถึงว่าจะมีการจัดเก็บภาษีเงินได้ดังกล่าวเหมือนกันกับไทย ดังนั้นจะมีการทำข้อตกลงกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่สัญญา โดยประเทศต้นทางมีกฎหมายในการเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนของนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุน ซึ่งรัฐบาลไทยมีหน้าที่ในการลดหย่อนภาษีเงินได้จากต่างประเทศที่ได้จากการลงทุน แต่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการเงินได้จากต่างประเทศในส่วนนี้ก่อน จากนั้นจึงจะนำภาษีที่จ่ายไปแล้วในต่างประเทศ นำมาใช้ลดหย่อนภาระภาษีในประเทศไทยได้

 

ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า กรมสรรพากรควรจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในหลายประเด็น เช่น อนุสัญญาภาษีซ้อน เพราะมีหลายประเทศที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งควรมีแนวปฏิบัติออกมาให้ชัดเจน รวมถึงหลักเกณฑ์อัตราในการจัดเก็บภาษีแยกในแต่ละประเภทของเงินได้ให้เหมาะสม เช่น เงินได้จากดอกเบี้ย กำไรจากการลงทุน (Capital Gain) และเงินปันผล เพราะหากจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าทั้งหมด จะเป็นภาระภาษีที่สูงมาก 

 

อีกทั้งในกรณีที่นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ อาจมีทั้งกำไรหรือผลขาดทุนในบางปี จะมีวิธีหรือหลักเกณฑ์คิดคำนวณหักลบอย่างไร และสำหรับกรณีที่มีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการทำงานในต่างประเทศ จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่มีเงินได้จากการทำงานในต่างประเทศใช้แสดงข้อมูลในการจ่ายภาษี ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรทั้งหมดจะออกมาในเดือนตุลาคม 2566

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising