×

SCB EIC แนะทางรอดธุรกิจ SMEs ไทย รับมือการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก ต้องปรับตัวกำหนดเป้าธุรกิจด้าน ESG

21.10.2024
  • LOADING...
SCB EIC

ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ในอนาคตให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจมากขึ้น ทั้งในกลุ่มธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่

 

ทั้งนี้ หากประเมินความเสี่ยงจากประเด็น Climate Change จะมี 2 ด้านหลักดังนี้

 

  1. ความเสี่ยงด้านกายภาพจากปัญหาโลกร้อนและต่างๆ
  2. ความเสี่ยงของการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเทคโนโลยี รวมถึงนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีความเข้มงวดขึ้น เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (CBAM) รวมถึงมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ต้องมีความน่าเชื่อถือได้

 

ทั่วโลกเจอปัญหา Green Washing ทำ EU ออกกฎเข้ม

 

ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาการฟอกเขียวธุรกิจ (Green Washing) ซึ่งธุรกิจอาจมีการกล่าวอ้างเกินจริงว่าบริษัทมีการดำเนินธุรกิจที่มีการคำนึงในด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่กลับพบข้อมูลว่ายังมีหลายบริษัทที่มีข้อมูลการชี้วัดที่ไม่ชัดเจน และมีความเข้าใจในกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

ส่งผลให้หลายๆ ประเทศตื่นตัว มีการออกกฎระเบียบที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการออกกฎระเบียบในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ถือว่าเข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คือ Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) โดยจะถูกนำมาบังคับใช้กับบริษัทต่างๆ ทั้งที่อยู่ใน EU และนอกกลุ่ม EU ตลอดจนธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ที่กำหนดให้ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและผลกระทบในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของบริษัททั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วในปี 2024

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสหรัฐฯ และเอเชีย ที่ได้มีการออกกฎระเบียบด้าน ESG เพราะฉะนั้นกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้จะเป็นแรงกดดันให้ภาคธุรกิจเริ่มมีการตื่นตัวในการจัดทำรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนมากขึ้น

 

สำหรับการเปิดข้อมูลด้านความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจSMEs หลายฝ่ายอาจจะมองว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการปรับตัว แต่หากมองไปข้างหน้าจะเห็นว่าแรงกดดันของภาคธุรกิจSMEs จะมีไม่น้อยกว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

 

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างกฎระเบียบในกลุ่ม EU ที่มีคือ CSRD จะมีการกำหนดเกณฑ์รายได้ของบริษัทที่จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน โดยช่วงแรกจะกำหนดให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เป็นกลุ่มแรกที่ต้องรายงานข้อมูลดังกล่าว ขณะที่กลุ่มSMEs แม้ปัจจุบันรายได้จะยังไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน แต่ในอนาคตอีก 1-2 ปีข้างหน้า กรอบกติกาดังกล่าวจะถูกนำมาบังคับใช้กับกลุ่มธุรกิจSMEs ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ด้วย

 

นอกจากนี้กฎกติกาดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่ม EU เท่านั้น แต่กลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ ที่มีรายได้จากกลุ่ม EU เกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะต้องมีการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนด้วย

 

เปิดชื่อธุรกิจ SMEs เสี่ยงโดนผลกระทบเกณฑ์ CSRD

 

สำหรับสาเหตุที่กลุ่มธุรกิจ SMEsไทยต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้หากพิจารณากฎระเบียบการค้าจะพบว่า อุตสาหกรรมไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจากอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกหรือกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้มาจากกลุ่ม EU ค่อนข้างมาก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มเกษตรและอาหาร

 

โดยหากดูข้อมูลจะเห็นได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEsในห่วงโซ่ของการผลิตค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นหากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีรายได้จาก EU เข้าเกณฑ์ที่ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กลุ่มSMEs ไทยที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า เช่น กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือผู้ที่ป้อนวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็มีโอกาสที่จะเข้าข่ายในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนทางอ้อมด้วย เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วกฎระเบียบดังกล่าวนี้จะครอบคลุมไปยังกลุ่มธุรกิจที่เป็นห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด

 

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากอุตสาหกรรมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ควรให้ความสำคัญกับประเด็นการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เนื่องจากการทำรายงานด้านความยั่งยืนนอกจากจะช่วยให้สามารถปรับตัวตามกฎระเบียบของการค้าโลกได้แล้ว ยังช่วยให้กลุ่มธุรกิจ SMEsเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ด้วย

 

เนื่องจากจะเห็นได้ว่าปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จะให้ความสำคัญในการให้สินเชื่อกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เน้นด้านความยั่งยืน ดังนั้นในประเด็นความยั่งยืนจะถูกนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมากขึ้น

 

สำหรับคำแนะนำในการปรับตัวของกลุ่ม SMEsไทยเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำรายงานด้านความยั่งยืน ในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยถือว่ายังไม่มีความพร้อมมากนักในการทำรายงานด้านความยั่งยืน หลังจากมีการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการกลุ่มSMEs ไทยพบว่ามีมุมมองเชิงบวกต่อกระแสของ ESG

 

อย่างไรก็ดี หากมีการแยกตามขนาดของธุรกิจ กลุ่มธุรกิจSMEs พบว่ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางมีสัดส่วนประมาณ 50% มีการกำหนดเป้าหมายด้าน ESG แล้ว ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กยังไม่ได้มีการกำหนดแผนด้าน ESG เป็นจำนวนมาก โดยอุปสรรคสำคัญมาจากการที่ผู้ประกอบการยังขาดความรู้และความเข้าใจในแนวคิดด้าน ESG และยังมีความกังวลอยู่มากถึงแนวโน้มต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

 

แนะแนวทางธุรกิจ SMEs ไทยต้องปรับเพื่อเอาตัวรอด

 

สำหรับแนวทางการปรับตัวในเบื้องต้นแนะนำให้ธุรกิจ SMEsสร้างองค์ความรู้ ทำความเข้าใจกับประเด็น ESG ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ตัวเองดำเนินการอยู่ เมื่อมีความเข้าใจแล้วจึงทยอยกำหนดเป้าหมายโดยเริ่มจากประเด็นสิ่งแวดล้อมก่อน โดยหนึ่งในกระบวนการที่จะไปถึงเป้าหมายคือการจัดเก็บข้อมูล มีการระบุถึงกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจจะเริ่มเก็บข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเอง เช่น การใช้พลังงานและกิจกรรมการผลิต การให้บริการ รวมถึงการปล่อยของเสีย ข้อมูลกิจกรรมการขนส่งและการเดินทางของธุรกิจ

 

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะถูกรวบรวมเพื่อนำมาใช้คำนวณในการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ นำไปสู่ความสามารถในการรายงานและเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในระยะต่อไป ซึ่งมองว่าผู้ประกอบการSMEs ที่สามารถปรับตัวได้เร็ว จะรายงานข้อมูลได้อย่างโปร่งใสและเป็นประโยชน์อย่างมาก

 

นอกจากจะทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว ยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาวได้อีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising