SCB EIC ประเมินธุรกิจน้ำมันอากาศยานที่ยั่งยืน หรือ SAF มีแนวโน้มเติบโตสูง หลังสายการบินทั่วโลกประกาศนโยบาย Net Zero จำเป็นต้องใช้ SAF ผนวกกับรัฐบาลทั่วโลกประกาศนโยบายสนับสนุน
ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ภาคอุตสาหกรรมการบินโดยปกติจะมีวิธีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการลงทุนในเครื่องบิน ตัวอย่างเช่น เครื่องบินรุ่น Airbus A380 จะมีมูลค่าที่สูงประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท รวมถึงเครื่องบินต่อลำจะมีรอบการใช้งานยาวนานประมาณ 20-30 ปี ซึ่งการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่หรือโมเดลใหม่ค่อนข้างทำได้ยาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Krungthai COMPASS – SCB EIC เตือนส่งออกไทยอาจยังเผชิญความเสี่ยงในครึ่งปีหลัง แม้มีแรงหนุนจากฐานต่ำ จับตาจีนฟื้นตัว
- ตั้งแต่ต้นปี Fund Flow ไหลออกไทยสุทธิ 1.54 แสนล้านบาทแล้ว! SCB EIC มองแง่ดี เงินทุนจ่อไหลกลับใน Q3 หากความไม่แน่นอนทางการเมืองจบ
- SCB EIC คาดดอกเบี้ยนโยบายไทยจะปรับขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2.5% ภายในไตรมาส 3
ดังนั้นหนึ่งในวิธีคือการหาเชื้อเพลิงอื่นเพื่อนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงจากพลังงานฟอสซิล โดยวีธีการหลักคือ การน้ำมันอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAF) มาใช้ทดแทน ซึ่งผลิตจากพืชหรือสัตว์ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น สามารถนำน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้วจากการทำอาหารในครัวเรือนหรือขยะมูลฝอยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบพัฒนาผลิตเป็น SAF สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ค่อนข้างสูง และยังมีคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่น สามารถนำมาใช้ผสมกับการใช้งานน้ำมันอากาศยานแบบดั้งเดิมได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนหัวจ่ายน้ำมัน
สำหรับดีมานด์การใช้ SAF เริ่มมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายการขับเคลื่อนจากภาครัฐ โดยสหภาพยุโรปกำหนดให้น้ำมันอากาศยานต้องผสม SAF เริ่มตั้งแต่ปี 2025 ขั้นต่ำในสัดส่วน 2% จากนั้นกำหนดให้ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นขั้นต่ำในสัดส่วน 6% ในปี 2030, เพิ่มขึ้นเป็นขั้นต่ำในสัดส่วน 20% ในปี 2035 และเพิ่มขึ้นเป็นขั้นต่ำในสัดส่วน 70% ในปี 2050
นอกจากนี้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ยังกำหนดแผนระยะที่ 1 ให้สายการบินต่างๆ สมัครใจเข้าร่วมโครงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงปี 2024-2026 จากนั้นในระยะที่ 2 ช่วงปี 2027-2035 มาตรการนี้จะถูกบังคับใช้กับสายการบินระหว่างประเทศเกือบทุกไฟลต์ทั่วโลก ซึ่งสามารถนำ SAF มาใช้งานได้เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการนี้
ปัจจุบันมี 30 สายการบินขนาดใหญ่ทั่วโลกซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดราว 61% ของอุตสาหกรรมการบินได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero โดยมีแผนยุทธ์ที่สำคัญเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าวนี้คือ การนำ SAF มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำการบิน
คาดดีมานด์ SAF โต 10 เท่าภายในปี 2025
โดยจากการประเมิน Bloomberg ระบุว่า ความต้องการใช้ SAF มีโอกาสจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในปี 2022 มีปริมาณการใช้ SAF รวมอยู่ที่ 375 ล้านลิตรต่อปี มีโอกาสในปี 2025 จะมีปริมาณการใช้เพิ่มเป็น 3.9 พันล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า ภายในระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ซัพพลายจะเติบโตขึ้นไม่ทันกับดีมานด์การใช้ SAF ที่เติบโตในอัตราที่แรงกว่าฝั่งซัพพลายจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ดังนั้นในปี 2028-2030 มีโอกาสที่ SAF จะเกิดภาวะ Supply Shortage ได้
อย่างไรก็ดี SAF ยังมีความท้าทายในด้านของมาตรฐานคุณภาพซัพพลายเชนในการผลิตที่ถูกกำหนดว่าในการขั้นตอนของการผลิตจะต้องปล่อยคาร์บอนไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ด้วย รวมถึงมีความท้าทายในการจัดหาวัตถุดิบจากหลากหลายแหล่งให้มีปริมาณเพียงพอ และมีต้นทุนการขนส่งที่เหมาะสมในการผลิต
อีกทั้งยังมีความท้ายที่สำคัญอีกเรื่องคือ ปัจจุบันราคา SAF ยังสูงกว่าราคาน้ำมันอากาศยานปกติถึงประมาณ 3 เท่า แต่หากการผลิตในอนาคตมีการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และมีการสนับสนุนจากภาครัฐ มีโอกาสที่ระดับราคาในอนาคตจะปรับลดลงมาแข่งขันได้
ปัจจุบันภาพรวมปัจจุบันของน้ำมันอากาศยานของไทยถูกจำหน่ายให้แก่ไฟลต์บินระหว่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นไฟลต์บินเส้นทางยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการประกาศแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการบินแล้ว
ไทยใส่ SAF ในร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน
สำหรับโอกาสของประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจกับ SAF มากขึ้น โดยภาครัฐได้เริ่มร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP2022) โดยเริ่มบรรจุ SAF เข้าไปในแผนการนำ SAF สัดส่วน 2% มาผสมกับการใช้น้ำมันอากาศยานในปี 2027 โดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในปี 2032 และทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2037 ทั้งนี้ยังขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้าบริหารประเทศว่าจะสานต่อนโยบายในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป
ขณะที่ภาคเอกชนของไทยได้เริ่มทยอยลงทุนตั้งโรงกลั่นผลิต SAF แล้ว โดยคาดว่าในปี 2024 กลุ่ม บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP ในปี 2025 บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA และในปี 2026 กลุ่ม บมจ.ปตท. หรือ PTT จะเริ่มทำการผลิต SAF ได้
ณัฐนันท์กล่าวต่อว่า ในภาคธุรกิจครัวเรือน รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และภาคธุรกิจโรงแรมมีโอกาสที่เข้าไปมีส่วนร่วมในดีมานด์ของ SAF จากน้ำมันเก่าที่ใช้แล้วในกระบวนการผลิตอาหารสามารถรวบรวมนำไปขายต่อ ซึ่งปัจจุบันมีสถานีน้ำมันบางจากบางสาขาในกรุงเทพฯ ที่รับซื้อน้ำมันเก่าที่ใช้แล้วในครัวเรือน ในปี 2022 รับซื้อที่ราคา 20-25 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นสถานการณ์ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดดีดขึ้นแรง