×

SCB EIC มองบวก ปรับเพิ่ม GDP ปี 64 โต 2.6% ผลเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว คาดดอกเบี้ยต่ำถึงกลางปี 67

11.03.2021
  • LOADING...
SCB EIC มองบวก ปรับเพิ่ม GDP ปี 64 โต 2.6% ผลเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว คาดดอกเบี้ยต่ำถึงกลางปี 67

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า EIC ได้ปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2564 เพิ่มเป็น 2.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.2% โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวมากกว่าที่คาดไว้ (เพิ่มขึ้นเป็น 6.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 4%) สะท้อนภาพเศรษฐกิจโลกปี 2564 ที่น่าจะเติบโต 5.6% เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าที่อยู่ 5.0% 

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากประสิทธิผลการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ ซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2564 ประเทศพัฒนาแล้วจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้เศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. ความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนจนได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ (Race to Herd Immunity) ซึ่งประเทศที่มีภูมิคุ้มกันก่อนจะสามารถเปิดเมืองและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงขึ้น 

 

  1. ความต่อเนื่องและความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ เช่น ฝั่งสหรัฐฯ มีแพ็กเกจเงินอัดฉีดกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

  1. โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคส่วนเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน

 

ในส่วนของไทยมองว่า หลังจากนี้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง จากที่ออกมาแล้วก่อนหน้า เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ที่ช่วยพยุงกำลังซื้อในประเทศ ภายใต้วงเงินว่า 2.5 แสนล้านบาท แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงกดดันจากรายได้และชั่วโมงการทำงานที่ลดลงและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการบริโภคในระยะข้างหน้า

 

ดังนั้นมองว่า รัฐยังต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีงบประมาณอีกราว 3.9 แสนล้านบาท มาจาก 2.5 แสนล้านบาทที่เหลือภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และจากงบกลางอีกราว 1.4 แสนล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าจะเบิกจ่ายออกมาได้มากขึ้นเพื่อชดเชยภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว

 

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทยยังฟื้นตัวช้า เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 จะอยู่ที่ 3.7 ล้านคน ซึ่งต้องติดตามภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในหลายประเทศ โดยกลุ่มที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย ทำให้คาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 และต้นปี 2565 จากกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย 

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมี 6 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19, การฉีดวัคซีนของไทยที่ล่าช้า, ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในไทย, ความไม่สงบทางการเมืองที่อาจะกระทบความเชื่อมั่นในด้านการลงทุน, ภาพหนี้เสียที่อาจสูงกว่าคาดอาจจะกระทบเสถียรภาพการเงิน และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกระหว่างจีนและสหรัฐฯ และจีน-อินเดีย-ออสเตรเลีย 

 

ส่วนปี 2564 คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดทั้งปี และออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งด้านนโยบายการเงินและจัดสรรสภาพคล่อง รวมถึงสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการจัดการกับหนี้เสีย 

 

ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ในระยะต่อไป EIC คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อจำเป็น เพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับต่ำ และเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่ง EIC คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 อยู่ที่ 1.3%

 

ขณะที่ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 คาดว่า จะอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผลของเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวที่ปรับเพิ่มขึ้นเร็ว 

 

อย่างไรก็ตาม ในด้านเงินเฟ้อ ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีแนวโน้มลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเป็นประเทศแรกในช่วงต้นปี 2565 แต่ EIC เชื่อว่า การปรับลดการซื้อสินทรัพย์จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมองว่า Fed จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงปี 2566 หรือครึ่งแรกของปี 2567

 

“กรณีอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นและอาจเป็นความเสี่ยงให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหยุดชะงักลง ยังมีจำกัดและอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตของประเทศส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลาง”

 

แต่ในระยะกลางยังต้องติดตาม อัตราเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้นได้กว่าคาด จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก เช่น ห่วงโซ่การผลิตของโลกที่สั้นลง ฯลฯ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising