×

SCB EIC มองเศรษฐกิจโลกเสี่ยงผันผวนหนัก แนะธุรกิจไทยตั้งรับด้วย New Business Model

13.05.2024
  • LOADING...
SCB EIC

SCB EIC มองเศรษฐกิจโลกเผชิญปัญหาการเติบโตที่ต่ำ หลังมีหลายปัจจัยฉุด ชี้ไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างการเติบโตเชิงคุณภาพ ฟากธุรกิจต้องมี New Business Model สร้างความพร้อม 4 ด้าน

 

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่ามีความเห็นว่าประเทศไทยควรหันมาให้ความสนใจการเติบโตของเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันโลกเศรษฐกิจมีความท้าทายที่กระทบต่อเศรษฐกิจในหลายประเด็น ส่งผลให้การเติบโตที่เน้นคอนเซปต์ในเชิงคุณภาพต้องนำเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น

 

โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP ของโลกในปี 2024 จะเติบโตประมาณ 3.2% ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลงจากในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่หากดูภาพในระยะปานกลางและระยะยาวช่วง 5 ปีข้างหน้า การเติบโตโดยเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลกจะต่ำลง ลดลงจากระดับ 4% เหลือประมาณ 3% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแล้วที่จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยลดลงค่อนข้างมาก

 

นอกจากนี้ยังมีหลายปัจจัยที่กดดันให้เศรษฐกิจโลกเติบโตค่อนข้างต่ำ

 

  1. หลายประเทศกำลังประสบปัญหากำลังแรงงานชะลอลง ตามโครงสร้างที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบให้มีจำนวนแรงงานลดน้อยลง

 

  1. ผลิตภาพทั่วโลกมีแนวโน้มที่ลดลงด้วย ซึ่งในช่วงก่อนโควิด ประสิทธิภาพการผลิตของโลกมีการปรับตัวลดลงมาสัดส่วน 1 ใน 3 ของทั้งหมดแล้ว อีกทั้งหลังสถานการณ์โควิดยังมีผลกระทบเกิดขึ้นเพิ่มเติม ส่งผลให้ยังไม่สามารถกลับมาสู่ระดับปกติได้

 

  1. การสะสมทุนถาวรขั้นต้นทั่วโลก ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดราว 10%

 

  1. การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศโลก หากไม่สามารถดำเนินการสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ ก็จะเป็นปัจจัยกดดันภาพระยะยาว ซึ่งจะเห็นผลกระทบทยอยเพิ่มขึ้นออกมาต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของโลกที่จะทำให้มีการเติบโตที่ช้าลงจากเดิม

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในหลายประเด็น สะท้อนจากดัชนีความไม่แน่นอนของโลก (World Uncertainty Indices) ที่พุ่งขึ้นสูงในช่วงโควิดแพร่ระบาด แม้เริ่มทยอยลดลงบ้างหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย แต่เมื่อเจอภาวะสงครามที่เกิดขึ้น ทั้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและสงครามอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาในระยะหลัง ส่งผลให้ดัชนีมีทิศทางปรับเพิ่มสูงขึ้นมากอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลก ความไม่แน่นอนของภาครัฐที่มีการกู้ยืมก่อหนี้มากขึ้น และความไม่แน่นอนทางการค้า จะเป็นปัจจัยให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้น

 

นอกจากนี้จากผลการสำรวจของประชาชนส่วนใหญ่พบว่าจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนมีความไม่มั่นใจต่อนโยบายภาครัฐว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จึงส่งผลให้ความร่วมมือของประชาชนและประเทศต่างๆ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลงตามไปด้วย

 

ขณะที่จากงานการประชุม World Economic Forum 2024 ที่ผ่านมาได้มีการหารือถึงประเด็นการเติบโตของ GDP อาจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ควรมีพัฒนาการขยายตัวของ GDP นำไปสู่เป้าประสงค์ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆ มีการเติบโตในเชิงคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งจะส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงมองกรอบของการเติบโตเพื่ออนาคตหรือ Future Roadmap Framework

 

โดยกำหนดว่าการเติบโตเศรษฐกิจโลกที่มีศักยภาพในระยะยาวจะต้องมี 4 เสาหลักดังนี้

 

เสาหลักที่ 1 เศรษฐกิจต้องมีการเติบโตไปพร้อมกับนวัตกรรม (Innovativeness) แม้จะไม่สามารถผลิตได้แต่สามารถนำเข้านวัตกรรมมาใช้พัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้งานได้

 

เสาหลักที่ 2 การเติบโตของเศรษฐกิจต้องมีความทั่วถึงทุกคน (Inclusiveness) น่าจะมีส่วนร่วมในประโยชน์และโอกาสที่จะพัฒนาเกิดขึ้น

 

เสาหลักที่ 3 การเติบโตของเศรษฐกิจต้องไปพร้อมกับความยั่งยืน (Sustainability) ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในประเทศนั้น 

 

เสาหลักที่ 4 การเติบโตของเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้นไปพร้อมกัน เศรษฐกิจต้องมีความสามารถที่มีการล้มยาก รุกเร็ว (Resilience) สามารถรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจได้

 

อย่างไรก็ดี ผลประเมินคุณภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศไทยเทียบกับโลกที่จัดทำโดย World Economic Forum พบว่าประเทศไทยยังมีคะแนนใน 4 เสาหลักค่อนข้างต่ำจากระดับคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยด้าน Innovativeness ได้ 47.9 คะแนน, ด้าน Inclusiveness ได้ 55.7 คะแนน, ด้าน Sustainability ได้ 40.8 คะแนน และด้าน Resilience ได้ 51.5 คะแนน

 

ดังนั้นการเติบโตคุณภาพของประเทศไทยจึงต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมาก

 

อีกทั้งประเทศไทยปัจจุบันถือว่ามีการจดสิทธิบัตรสีเขียวค่อนข้างน้อย หรือมีการสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้เกิดการลงทุนเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวค่อนข้างน้อย อีกทั้งผู้บริโภคยังหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนจำนวนไม่มาก เป็นส่วนที่สะท้อนถึงปัญหาของความยั่งยืนที่ยังต้องมีการปรับปรุง

 

อีกประเด็นคือระบบนิเวศทางเทคโนโลยี ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบให้ความยั่งยืนของประเทศไทยเกิดขึ้นยาก เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีการคิดค้นสิทธิบัตรสีเขียว (Green Patents) เทรนด์​ใหม่ๆ ออกมา หรือยื่นขอสิทธิบัตรใหม่ๆ ที่เป็นของตัวเองออกมา ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สามารถปรับปรุงได้

 

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการปิดจุดอ่อนของประเทศไทยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพในอนาคตมีคำแนะนำดังนี้

 

  • ควรจัดลำดับความสำคัญในการเลือกแนวทางการดำเนินการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างใหญ่ ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงิน เช่น การหาเครื่องมือและบริการทางการเงินที่สามารถเข้าถึงคนที่ยังไม่เข้าถึงบริการหรือแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ อีกทั้งหากสามารถให้การสนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ทั้งในภาคธุรกิจและภาคประชาชน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยต้องมีการทำควบคู่ไปกับระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีและต้องมีการพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อให้เกิด Green Transition เพิ่มมากขึ้น

 

  • ปรับ Talent Ecosystem ในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพของคน เพื่อยกระดับศักยภาพของแรงงาน ซึ่งปัจจุบันยังสามารถปรับตัวได้ช้า รวมถึงยกระดับภาคการผลิตของไทยให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก

 

  • สร้าง Technology Ecosystem ส่งเสริมนวัตกรรม Green Transition รัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจสามารถพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ เช่น ลดกฎระเบียบที่มีความซับซ้อนและเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้มีการจดสิทธิบัตรใหม่ๆ ออกมา ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าส่งออกใหม่ๆ ออกมาได้

 

เปิด New Business Model ของธุรกิจไทย: การสร้างความพร้อม 4 ด้าน ดังนี้

 

  1. ความพร้อมของแหล่งเงินทุน เพราะธุรกิจจะมีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแตกต่างกันไปตามขนาด รวมถึงประเภทธุรกิจ ซึ่งต้องมีการปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยอาจจำเป็นต้องมีการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อสร้างแผนความยั่งยืนในระยะสั้นและระยะยาวให้กับธุรกิจ ส่งผลให้ต้องจัดสรรกำไรจากธุรกิจบางส่วนมาใช้ลงทุนในระยะสั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของกำไรในระยะยาว

 

  1. โมเดลปฏิบัติการภายในที่รองรับกับแผนการลงทุนในอนาคต หรือระบบการควบคุมภายในการกำกับดูแลองค์กรที่เป็นการปรับเปลี่ยนใหม่

 

  1. เทคโนโลยีและข้อมูล เพราะการจะปรับองค์กรให้อยู่รอดภายใต้บริบทสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและการจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจ

 

  1. เตรียมความพร้อมของวัฒนธรรมองค์กรกับพนักงาน รวมถึงต้องมีการสื่อสารกับพนักงานถึงทิศทางขององค์กร เพื่อให้เข้าใจตรงกันและสามารถปรับตัวได้ รวมถึงเทรนนิ่งเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสามารถเกิดขึ้นได้จริง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X