วันนี้ (22 เมษายน) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกไทย หักทองคำและการส่งกลับอาวุธซ้อมรบไปยังสหรัฐอเมริกาในเดือนมีนาคม 2563 หดตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 1/2563 ยังติดลบ 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้หากดูมูลค่าการส่งออกไทย ซึ่งรวมทองคำและอาวุธ แต่เป็นสินค้าที่ไม่สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง จะทำให้เดือนมีนาคมที่ผ่านมา การส่งออกไทยเติบโต 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุเพราะการส่งออกทองคำขยายตัว 215% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สาเหตุเพราะราคาทองอยู่ในระดับสูง ทำให้ไตรมาส 1 ปี 2563 การส่งออกทองคำขยายตัว 221%
ขณะที่สินค้ายานพาหนะอื่นๆ (รวมถึงอาวุธ) ขยายตัว 1,263.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการส่งกลับอาวุธซ้อมรบไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 559.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นมูลค่าราว 17,353.8 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าสำคัญของไทยยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในหลายกลุ่ม เช่น
- รถยนต์และส่วนประกอบ หดตัว 28.7% (หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6)
- เม็ดพลาสติก หดตัว 15.3%
- เคมีภัณฑ์ หดตัว 14.9%
- ข้าว หดตัว 13.3%
- ยางพารา หดตัว 24.7%
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 13.1%
ขณะที่การส่งออกจากไทยไปตลาดหลักยังหดตัว ได้แก่
- การส่งออกไปจีน หดตัว 4.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 2
- การส่งออกไปญี่ปุ่น หดตัว 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเดือนก่อนหน้าติดลบถึง 11.1%
- การส่งออกไปสหภาพยุโรป หดตัว 14.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนตลาดการส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่
- ตลาดสหรัฐฯ เติบโต 19.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากรวมการส่งอาวุธคืนจะเติบโตถึง 42.9%
- ตลาดอาเซียน 5 ขยายตัว 6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ตลาด CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ขยายตัว 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้การนำเข้าขยายตัวที่ 7.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน พลิกกลับจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว โดยมีสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง 9% โดยการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปขยายตัวสูงกว่า 10% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยายตัวสูง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกันในระยะต่อไปคาดว่าการส่งออกไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply Chain Disruption เมื่อหลายประเทศเพิ่มมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด ดังนี้
- ไทยส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางลดลง เพราะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของหลายประเทศ เมื่อเกิดการหยุดชะงักของภาคการผลิตในประเทศต้นทาง จะส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากไทยที่ลดลง
- ไทยมีอุปสรรคในการผลิตสินค้าส่งออก เพราะต้องพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มหยุดการผลิตบางส่วนจากมาตรการควบคุมโรค จึงทำให้บริษัทไทยที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางจากประเทศดังกล่าวไม่สามารถผลิตสินค้าได้เนื่องจากขาดวัตถุดิบ
ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมากยังกดดันการลดลงของมูลค่าส่งออกในปีนี้ โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก (ช่วงที่ผ่านมาราคาต่ำสุดอยู่ที่ 14.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์)) ถือว่าต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2542 มีสาเหตุหลักจากการลดลงของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกตามภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม และความกังวลด้านการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันดิบในช่วงก่อนหน้า
ล่าสุดมีข้อตกลงว่าจะมีการลดกำลังการผลิตบางส่วน อย่างไรก็ดี การลดกำลังการผลิตก็ไม่สามารถชดเชยผลจากการที่อุปสงค์หายไปได้ จึงทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยหลายประเภท อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทแล้ว ยังส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มส่งออกน้ำมัน (oil-exporter) ที่จะมีรายได้จากน้ำมันลดลง ขณะที่กลุ่มประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน (oil-importer) ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากนัก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้ประเมินว่าความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะกดดันการส่งออกไทยมีโอกาสหดตัว จึงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า