×

SCB EIC ชี้ ธุรกิจไทยเร่งปรับตัว ทำแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมแนะ 3 แนวทางรับมือโลกเดือด

27.05.2024
  • LOADING...
SCB EIC

SCB EIC มอง ภัยปัญหาโลกเดือดมีผลกระทบต่อธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับโอกาสการเติบโต โดยมี 3 แนวทางที่ต้องรับมือวิกฤตโลกร้อนหรือโลกเดือดจากผลการประชุม COP28 และ World Economic Forum 

 

ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ปัจจุบันแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนมีความสำคัญมาก เพราะถือว่ามีผลกระทบต่อรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการไทยที่ต้องทำคือ การปรับตัวในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ทั้งนี้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ถือว่ามีผลกระทบที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อาทิ อากาศที่ร้อนขึ้นจากผลกระทบของภัยพิบัติที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้นมากกว่าอดีต

 

สำหรับสถิติข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติในสหรัฐฯ ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีความเสียหายที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา และสร้างความเสียหายสูงสุดในปี 2023 รวมทั้งเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีเหตุการณ์ของเครื่องบินของ Singapore Airlines ตกหลุมอากาศ ก็มีส่วนมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

หากมาดูแนวทางแก้ปัญหากับปัญหาที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า ภาวะโลกปัจจุบันยังมีความห่างไกลที่จะบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการลดอุณหภูมิของโลกที่จำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีสในปี 2015 ค่อนข้างมาก

 

โดยหลังจากที่ทั่วโลกไม่สามารถทำตามข้อตกลงดังกล่าวได้ จึงพยายามมองหาแนวทางในการแก้ปัญหาใหม่ของภาวะโลกร้อน ซึ่งจะมีผลกระทบตามมาต่อธุรกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แนะธุรกิจ ทำ 3 แนวทางรับมือโลกร้อน

 

โดยมี 3 แนวทางแก้วิกฤตโลกร้อนหรือโลกเดือดจากผลการประชุม COP28 และ World Economic Forum ดังนี้

 

  1. Move Faster ต้องเร่งขับเคลื่อนให้เร็วและแรงขึ้น โดยจากผลประชุม COP28 ในหลายส่วนมีการตัดสินใจของประชาคมโลกร่วมกันในเรื่องสำคัญของการเร่งกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม 3 เท่าในปี 2030 เปรียบเทียบจากปี 2022 อีกทั้งมีการบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านออกจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด

 

  1. More Inclusive ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยสาเหตุหนึ่งที่ปัญหาโลกร้อนยังไม่คืบหน้า เพราะหลายภาคส่วนยังไม่สามารถให้ความร่วมมือได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เช่น ในกลุ่มแรงงานที่จะถูกกระทบจากการเปลี่ยนผ่านออกจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด หรือธุรกิจบางกลุ่มธุรกิจที่อาจไม่เข้าถึงทรัพยากรซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนผ่าน

 

  1. Beyond Net Zero ต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย หลังจากประชาคมโลกได้ร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อนมาสักระยะแล้ว ต้องทำไปควบคู่กับการแก้ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ

 

สำหรับผลกระทบที่จะมีต่ออุตสาหกรรมของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 

 

  1. อุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น มีดังนี้ 

 

– กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีโอกาสเติบโตจากความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงได้รับประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ

 

– กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานคือ โทรคมนาคมกับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีความต้องการใช้มากขึ้น เพราะกลุ่มธุรกิจต่างๆ จะหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างแพร่หลาย

 

– กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน EV ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการเปลี่ยนหันมาใช้รถยนต์ EV เพิ่มขึ้นในอนาคต

 

– กลุ่มธุรกิจจัดการของเสีย (Waste Management) เช่น ธุรกิจรีไซเคิล หรือการบริหารจัดการน้ำเสีย เพราะจะได้ประโยชน์จากนโยบายการฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก

 

– กลุ่มธุรกิจวัสดุฐานชีวภาพ (Bio-Based Materials) ซึ่งจะนำมาใช้ทดแทนวัสดุที่มาจากฟอสซิล

 

  1. อุตสาหกรรมธุรกิจที่จะต้องเร่งปรับตัวและมีโอกาสเติบโตหากสามารถปรับตัวได้ในอนาคต มีดังนี้ 

 

– กลุ่มธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือกลุ่มขนส่งที่ใช้รถยนต์สันดาป ซึ่งในระยะต่อไปมีความเสี่ยงเผชิญแรงกดดันจากนโยบายภาครัฐจากประเด็นภาษีคาร์บอน

 

– กลุ่มธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น กลุ่มธุรกิจเกษตรอาหาร, เหมืองแร่ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะถูกกดดันจากทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคให้ต้องปรับกระบวนการผลิตที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ

 

– กลุ่มธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งที่ผ่านมาหลายบริษัทเริ่มดำเนินการในการลดก๊าซคาร์บอนมาสักระยะแล้ว แต่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ ดังนั้นในอนาคตต่อไปกลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะเริ่มเข้ามาดูในกระบวนการผลิตของซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างไร หากคู่ค้าไม่สามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ก็จะถูกคัดออกจากการเป็นซัพพลายเออร์

 

สำหรับอุตสาหกรรมธุรกิจที่จะต้องเร่งปรับตัว มีคำแนะนำให้มีกระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งในระยะสั้นสามารถนำเทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วมาใช้ได้เลย เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง การเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการใช้เทคโนโลยีมาบำบัดน้ำเสีย 

 

ส่วนในระยะยาวสามารถรอเทคโนโลยีที่ปัจจุบันยังมีต้นทุนที่สูงอยู่มาใช้งาน เพราะในอนาคตราคามีโอกาสถูกลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น การใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen), การนำรถบรรทุก EV มาใช้ และเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X