SCB EIC ประเมินส่งออกไทยทั้งปี 2566 ยังติดลบที่ 1.5% เหตุถูกกดดันจากช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ที่ส่งออกหดตัวลงอย่างหนัก แต่คาดส่งออกไทยปี 2567 พลิกบวก 3.5% ได้แรงหนุนเศรษฐกิจโลกฟื้น
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่าตัวเลขส่งออกของไทยเดือนสิงหาคมปีนี้ที่พลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ขยายได้ 2.6% ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นและออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่การฟื้นตัวจะชัดเจนหรือไม่ยังต้องติดตามในรายละเอียดต่อไป หลังจากส่งออกของไทยมีตัวเลขติดลบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สำหรับตัวเลขส่งออกของไทยเดือนสิงหาคมปีนี้ที่พลิกกลับมาเป็นบวกนั้นมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ สินค้าหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่จะพลิกกลับมาเป็นบวก อีกทั้งการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวบวกถึงระดับ 22% ซึ่งมาจากการส่งออกรายการรถยนต์พิเศษ ซึ่งก็คือรถยนต์สำหรับใช้ซ้อมรบที่มีการส่งคืนไปสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคมยอดส่งออกดังกล่าวถูกนับรวมเป็นปัจจัยชั่วคราว
ทั้งนี้ หากหักรายการดังกล่าวไป ตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมปีนี้จะพลิกกลับไปติดลบ 0.3% สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รายงานออกมาว่าตัวส่งออกสินค้าของไทยในเดือนสิงหาคมปีนี้ติดลบ 1.8%
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยช่วงไตรมาส 4/66 มีโอกาสพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ จากปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจโลกไตรมาส 3/66 และ 4/66 มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น รวมถึงฐานตัวเลขส่งออกของไทยไตรมาส 4/65 ที่ต่ำด้วย แต่ยังคาดว่าตัวเลขส่งออกของไทยทั้งปี 2566 จะยังติดลบที่ประมาณ 1.5% เนื่องจากยังถูกกดดันจากช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 ที่ยังมีตัวเลขส่งออกที่หดตัวลงอย่างหนัก
ส่วนแนวโน้มการส่งออกปี 2567 ประเมินว่ามีโอกาสขยายตัวดีขึ้นกลับมาเป็นบวกได้ในระดับประมาณ 3.5% ตามทิศทางการค้าโลกที่คาดว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2566 อีกทั้งเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอัตราใกล้เคียงกับปี 2566 รวมถึงปัญหา Supply Disruption ของโลกที่เริ่มคลี่คลาย โดยมี 3-4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะผลไม้ที่มีโอกาสเติบโตได้ดี รวมถึงสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กับรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยที่มีโอกาสขยายตัวดีขึ้น รวมถึงภาคธุรกิจการบริการที่ดีขึ้น และกลุ่มส่งออกที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกพลังงานที่จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
“แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตา ซึ่งอาจกดดันการส่งออกในระยะต่อไป ในประเด็นปัญหาเศรษฐกิจจีนที่เริ่มมีตัวเลขข้อมูลที่แผ่วลง โดยเฉพาะในปีหน้าที่จีนมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ต่ำลง โดยเฉพาะหลายสินค้าที่พึ่งตลาดจีนหรือสินค้า Supply Chain ที่เกี่ยวข้องกับจีน เช่น ยางพารา มีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุดจากประเด็นนี้ รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่อาจกระทบผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับอ้อยให้ตกต่ำลง”
กรณีสถานการณ์สงครามอิสราเอลกับปาเลสไตน์ SCB EIC ประเมินกรณีพื้นฐานว่าการสู้รบจำกัดอยู่ในพื้นที่เกิดสถานการณ์ ไม่ได้ขยายพื้นที่ลุกลามออกไป ดังนั้นจึงประเมินว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่จำกัด โดยประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคือภาคการท่องเที่ยวกับความผันผวนของราคาพลังงาน แต่ยังมีผลกระทบที่จำกัดและมีผลกระทบที่เกิดในระยะสั้น
ขณะที่ตัวเลขการส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับอิสราเอลในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าประมาณ 545 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเลแปรรูป แต่การส่งออกไปยังอิสราเอลยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ดังนั้นสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นจึงมีผลกระทบที่จำกัด เพราะไทยส่งออกสินค้าไปยังอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ค่อนข้างต่ำ แต่หากสถานการณ์สงครามลุกลามออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย หรือประเทศรอบข้าง ก็อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มีเพิ่มมากขึ้นได้
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนและอ่อนค่าลงอย่างหนักค่อนข้างมาก แต่ยังประเมินว่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปีนี้