SCB EIC มองว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นยังคงเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินไว้ สะท้อนจากตัวเลขการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 2 ที่ออกมาใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาองค์ประกอบการขยายตัว จะเริ่มเห็นสัญญาณของแรงส่งอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง (ภาพที่ 1) ซึ่งสะท้อนว่าในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงที่อุปสงค์ในประเทศจะไม่สามารถประคับประคองเศรษฐกิจได้เหมือนที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และหากขจัดปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยชั่วคราวจากราคาพลังงานและอาหารสดออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง สะท้อนแรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศที่ต่ำ สัญญาณของอุปสงค์ที่ชะลอลงในประเทศนี้ทำให้ SCB EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้
ภาวะการเงินไทยโดยรวมอยู่ในระดับตึงตัว สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (ภาพที่ 2) ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าในอดีตค่อนข้างเร็ว นอกจากนี้ภาคครัวเรือนอาจเผชิญภาวะการเงินตึงตัวที่รุนแรงกว่าภาคส่วนอื่น เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ที่ปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง (ภาพที่ 3) ทำให้ภาคครัวเรือนสามารถก่อหนี้ได้น้อยลงกว่าในอดีตมาก การเริ่มลดดอกเบี้ยในภาวะเช่นนี้จึงไม่กระตุ้นการก่อหนี้มากจนน่ากังวล และไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลดหนี้ในระบบเศรษฐกิจ (Debt Deleveraging)
นอกจากนี้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากภาวะการเงินโลกมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้นตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในปีนี้ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจไทยที่สูงขึ้น
SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งช่วงปลายปีนี้ เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้ง เหลือ 2% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568